ใหญ่เกินไปเกินกว่า ที่จะ (ปล่อย) ให้ล่มสลาย?

ใหญ่เกินไปเกินกว่า ที่จะ (ปล่อย) ให้ล่มสลาย?

นโยบายอีอีซีบรรลุเป้าหมายแล้ว และประสบความสำเร็จ รัฐบาลก็ควรจะมีแผนและมาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม หากเกิดวิกฤติไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน หรือโรคระบาดอย่างโควิด-19 ถ้าไม่มีมาตรการอาจต้องนำทรัพยากรส่วนรวมมาพยุงธุรกิจ หรือเป็นการช่วยเหลือตั้งแต่เกิดจนตาย

ทฤษฎีที่ว่าใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้มนั้น (Too Big To Fail) กล่าวถึงธุรกิจที่มีกิจการขนาดใหญ่มาก และมีการเชื่อมโยงกันหลายส่วนของระบบเศรษฐกิจ จนทำให้รัฐบาลไม่สามารถที่จะปล่อยธุรกิจนั้นล้ม โดยไม่มีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือ ในกรณีที่บริษัทนั้นประสบกับภาวะวิกฤติ จนมีความเป็นไปได้ที่จะล้ม เพราะถ้าไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐก็จะทำให้มีผลกระทบในทางลบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ที่จะนึกถึง คือ ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ในทุกๆ ทฤษฎีก็มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับความจำเป็นกับบทบาทและหน้าของรัฐที่จะนำภาษีมาช่วยเหลือกับธุรกิจนั้น

ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยก็สนับสนุนเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐจะต้องช่วยเหลือ เพราะถ้าไม่ทำก็จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง และไปกระทบกับระบบของประเทศ กล่าวอีกในหนึ่งก็คือ บางครั้งรัฐมีความจำเป็นต้องใช้เงินส่วนรวมเพื่อป้องกันระบบโครงสร้างเศรษฐกิจหลักของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดในสิ่งที่เรียกว่า systemic failure

ส่วนอีกฝ่ายก็เห็นว่าไม่สมควรที่จะมีการช่วยเหลือเพราะธุรกิจนั้น อาจจะไม่พยายามเท่าที่ควร และทำอะไรแบบเสี่ยงๆ ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะถึงอย่างไรต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้ธุรกิจบางอย่างเติบโตและเชื่อมโยงกันมากเกินไป

ส่วนกรณีที่สามนั้น ถือเป็นกรณีทางเลือกคือ อยู่บนพื้นฐานที่ว่า การใช้เงินภาษีส่วนหนึ่งก่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีบางส่วน หรือมอบสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ภาษีที่ใช้ไปนั้นก็ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมมากกว่า

ที่สำคัญกว่านั้น ถ้านโยบายอีอีซีบรรลุเป้าหมายแล้ว และประสบความสำเร็จ รัฐบาลก็ควรจะมีแผนและมาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม หากเกิดวิกฤติไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน หรือโรคระบาดอย่างโควิด-19 ถ้าไม่มีมาตรการหรือกลไกลรองรับระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดในเขตอีอีซี อาจจะต้องนำทรัพยากรส่วนรวมจำนวนมหาศาลมาพยุงธุรกิจในอีอีซี คือไม่รู้ว่าจะหยุดการช่วยเหลือตอนไหน อาจจะเป็นกรณีที่เรียกว่า “cradle-to-the grave” คือ การช่วยเหลือตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะหลายธุรกิจหลายอย่างก็หวังจะพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐ

วิกฤติบางอย่างก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่การเตรียมความพร้อมในการรับมือทางเศรษฐกิจก็ไม่ควรที่จะหลีกเลี่ยงเช่นกัน การเตรียมการเพื่อลดภาระของรัฐที่จะต้องเข้าใช้ทรัพยากรส่วนรวมมาพยุงภาคเอกชน คำถามคือ รัฐจำเป็นที่ต้องมาแบกรับภาระขาดทุนหรือไม่ ถ้ารัฐจะต้องแบกรับ สัดส่วนเท่าไรที่รัฐสมควรรับมาเป็นภาระของส่วนรวม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ และเตรียมมาตราการในการรับมือและฝึกการมีวินัยทางการเงินทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากภาคเอกชน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์แผนรองรับก่อนและหลังวิกฤติหากเกิดในเขตอีอีซี

สิ่งที่คาดหวังอยากให้อีอีซีเป็นคือ กรณีตัวอย่างที่มีการพัฒนาจนบรรลุเป้าหมายและกลไกสำคัญที่ยกระดับเศรษฐกิจของทั้งประชาชน ธุรกิจเอกชน และของประเทศ และเศรษฐกิจพิเศษที่พิเศษ ที่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้เมื่อพบวิกฤติ โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐในการช่วยเหลือ หรือพึ่งก็พึ่งน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และมีมาตราการและแนวทางในการนำทรัพกรส่วนรวมนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวม เพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษจะไม่เป็นกรณี “Too Big To Fail” หรือ “Cradle to the Grave” แต่จะเป็น “Smart EEC.”