น้อยมาก! "เขตดอนเมือง" มีเตียงรองรับผู้ป่วย ไม่ถึง 1 เตียงต่อ 1000 คน

น้อยมาก! "เขตดอนเมือง" มีเตียงรองรับผู้ป่วย ไม่ถึง 1 เตียงต่อ 1000 คน

ปัญหาบริการทางการแพทย์พื้นที่กทม. โซนเหนือหนักสุด มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง2.19 เตียงต่อ 1,000 ประชากร  3หน่วยงานMOUขยายบริการรองรับคนดอนเมือง-ใกล้เคียง  กทม.เตรียมสร้างรพ.ดอนเมือง ขนาด 120 เตียง 

KEY

POINTS

  • ฉายภาพปัญหาบริการทางการแพทย์กรุงเทพมหานคร  โซนเหนือ  ดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง มีเตียงรพ.รองรับผู้ป่วยน้อย 2.19 เตียงต่อ 1,000 ประชากร  ต่ำสุดในเขตดอนเมือง 
  • 3 หน่วยงาน กระทรวงสาธารณสุข กองทัพอากาศ และกรุงเทพมหานคร ลงนามความร่วมมือให้ประชาชน ข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว พื้นที่เขตดอนเมืองและใกล้เคียง เข้าถึง เข้าใกล้ และเข้าง่าย ช่วยได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
  • สภากทม.ไฟเขียวให้มีการสร้างรพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร เพิ่มอีก  3 แห่ง  ในพื้นที่เขตทุ่งครู เขตยานนาวา เขตดอนเมือง  เนื่องจากไม่มีรพ.รัฐหรือเอกชนในพื้นที่

ปัญหาบริการทางการแพทย์ คนกทม.

การศึกษาที่สำรวจข้อมูลสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรในพื้นที่กลุ่มเขต ของสำนักการแพทย์  กรุงเทพมหานคร พบว่า 

  • กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรน้อยที่สุด เท่ากับ 2.19 : 1,000 ประชากร โดยเขตดอนเมือง น้อยที่สุด 0.77 เตียง ต่อ1,000 ประชากร
  •  กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันตก มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 2.8 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 3.3 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพชั้นใน มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 5.54  เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 9.3 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพฝั่งธนบุรี  มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 10.23 เตียงต่อ 1,000 ประชากร
  • กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร 12.63  เตียงต่อ 1,000 ประชากร

ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานครมีประชากร 7.8 ล้านคน หากรวมประชากรแฝงด้วยประมาณ 10 ล้านคน 

3 หน่วยงาน ขยายบริการทางการแพทย์ โซนดอนเมือง

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกองทัพอากาศ  กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  เพื่อให้ประชาชน ข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว รวมถึงข้าราชการสังกัดอื่นๆ ในโซนกรุงเทพมหานครตอนเหนือ พื้นที่เขตดอนเมืองและใกล้เคียง เข้าถึง เข้าใกล้ และเข้าง่าย ช่วยได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า การลงนามฯ ครั้งนี้ เพื่อร่วมกันจัดบริการสุขภาพอย่างเต็มระบบให้กับประชาชน ข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว รวมถึงข้าราชการสังกัดอื่นๆ ในโซนกรุงเทพมหานครตอนเหนือ พื้นที่เขตดอนเมืองและใกล้เคียง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ โดยจะร่วมกันพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การส่งต่อผู้ป่วย บูรณาการระบบสุขภาพเพื่อพัฒนาหน่วยรักษาพยาบาลใกล้บ้าน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการทางการแพทย์ที่ เข้าถึง เข้าใกล้ และเข้าง่าย

นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามฯ ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ  เพิ่มมากขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อต่อยอด และขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและมั่นคงต่อไป

ด้าน พล.อ.อ. พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในเขตดอนเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชน ข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว รวมถึงข้าราชการสังกัดหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ยังช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์และลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ป่วยมากขึ้น ขณะที่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทั้งด้านการศึกษา การอบรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ก็จะนำไปสู่ความร่วมมือในการขยายระบบบริการทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวางต่อไป

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้แบ่งโซนสุขภาพออกเป็น 7 โซน เป็นการบูรณาการสุขภาพ ประกอบด้วย หน่วยบริการปฐมภูมิ ภาคีเครือข่าย และ ภาคประชาชน  มุ่งเน้นการพัฒนาระบบปฐมภูมิ หรือหน่วยการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนในโซนสุขภาพที่ 6 กรุงเทพเหนือ

น้อยมาก! \"เขตดอนเมือง\" มีเตียงรองรับผู้ป่วย ไม่ถึง 1 เตียงต่อ 1000 คน

และจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนอื่นๆ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป  โดยกรุงเทพมหานครจะมีการสร้างรพ.เขตดอนเมือง ขนาด 120 -200 เตียง
 

สธ.เพิ่มบริการรพ. 3 แห่งดูแลคนกทม.

 ขณะที่ก่อนหน้านี้ ภายใต้นโยบายโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการยกระดับ

  • โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน)  ให้เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมือง ปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยแล้ว 25,700 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปถึง 90% ส่วนอีก 10% เป็นข้าราชการกองทัพอากาศ
  • โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ ดูแลประชาชนโซน กทม. ตอนเหนือ
  • โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีคุ้มเกล้า รับส่งต่อดูแลประชาชนโซน กทม.ฝั่งตะวันออก คือ เขตมีนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง กว่า 88,000 คน    

สภากทม.ไฟเขียวสร้าง 3 รพ.ใหม่

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567  สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเตรียมส่งรายละเอียดให้ฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

1. เขตยานนาวา ควรมีการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ เนื่องจากเขตยานนาวาไม่มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จากการศึกษาพบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงพยาบาล คือพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนพระราม 3 (ถนนเชื้อเพลิง) มีขนาดเนื้อที่จำนวน 200 ไร่ ซึ่ง กทม. อาจขอเช่าใช้พื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาล

2. เขตดอนเมือง ควรเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยมีพื้นที่เหมาะสมที่คณะอนุกรรมการได้ศึกษาไว้จำนวน 2 แห่ง คือ พื้นที่ค่ายลูกเสือพิศลยบุตร ตั้งอยู่บริเวณถนนสรงประภา และพื้นที่ของวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งอยู่บริเวณถนนนาวงประชาพัฒนา

3. เขตทุ่งครุ ควรมีการก่อสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากในพื้นที่เขตทุ่งครุไม่มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่จะรองรับการให้บริการ โดยอาจจัดตั้งเป็นมูลนิธิหรือกองทุนให้การสนับสนุน ส่วนสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาล เสนอพื้นที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ)