รับมือ'เอลนีโญ' ดูแลสุขภาพ ด้วยสมุนไพร-แพทย์แผนไทย

รับมือ'เอลนีโญ' ดูแลสุขภาพ ด้วยสมุนไพร-แพทย์แผนไทย

สถานการณ์ 'เอลนีโญ' ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชนดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร ตำรับยาไทย เมนูอาหาร น้ำสมุนไพร รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ปรับสมดุลร่างกายให้เหมาะสม

Keypoint:

  • สภาพอากาศที่แปรปรวน ล้วนส่งผลต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตของทุกคน ยิ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบภาวะ 'เอลนีโญ' อากาศจะร้อนมากยิ่งขึ้น การเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพร่างกาย ใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
  • กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ได้แนะนำวิธีการรับมือกับเอลนีโญ ด้วยศาสตร์สมุนไพร แพทย์แผนไทย อย่างการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ ที่จะช่วยปรับความสมดุลของร่างกาย 
  • ออกกำลังกายด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น ฤาษีดัดตน มณีเวช โยคะ ชี่กง ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทุกท่านก็จะห่างไกลโรค

ปรากฎการณ์ เอลนีโญ กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนต้องตระหนัก และ ตื่นตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นทั่วโลกอันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ แต่เรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดคือสุขอนามัยของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาสำคัญที่มีการคาดการณ์จากสถานการณ์ดังกล่าว คือปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจต้องเผชิญปัญหาภาวะน้ำท่วม และภาวะภัยแล้ง อากาศร้อน

ปัญหาที่ตามมาคือปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน อาจเป็นสาเหตุหลักให้ร่างกายเสียสมดุลเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย จึงต้องมีการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

โรคใหม่ที่ควรรู้! มากับยุง 'ไข้เลือดออก-เชื้อไวรัสซิกา'

วิตามินเสริมสำหรับ 'คนวัยทำงาน' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

อยู่คอนโด-บ้าน อย่างไร? ไม่ให้ปลวกมาร่วมอาศัย เช็กจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง

รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

 

อาหาร-น้ำสมุนไพร ที่ควรรับประทาน เตรียมพร้อมรับมือเอลนีโญ

นพ.ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อยากแนะนำให้ประชาชน เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ห่างไกลโรค โดยเฉพาะช่วงที่อากาศแปรปรวน มีฝนตกหนัก น้ำท่วม ควรให้ความสำคัญกับโรคที่มักจะเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไอ จาม ท้องอืด ท้องเฟ้อ การแก้ไข้ปัญหาเหล่านี้จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม   

โดยการปรับความสมดุลของร่างกาย เน้นการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ได้แก่ สมุนไพรรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า กระเทียม หอมแกง ตะไคร้ โหระพา แมงลัก พริกไทย ฯลฯ เมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ ต้มยำ ต้มโคล้ง แกงป่า แกงไตปลา และผัดเผ็ดต่าง ๆ ส่วนเครื่องดื่มหรือชาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำมะตูม น้ำกระชาย  เป็นต้น จะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงได้ 

รับมือ\'เอลนีโญ\' ดูแลสุขภาพ ด้วยสมุนไพร-แพทย์แผนไทย

นพ.ขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่อากาศร้อนอุณหภูมิสูง ปัญหาหลักที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่           โรคลมแดด ผิวหนังไหม้ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด แนะนำให้พกยาหอมหรือยาดมสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการเป็นลม อ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ช่วยบำรุงหัวใจ และรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีรสเย็น ขม จืด เพื่อลดความร้อนในร่างกาย เช่น มะระ บวบ ตำลึง ฟักเขียว

สำหรับเมนูที่แนะนำ ได้แก่ แกงจืดมะระยัดไส้ ต้มจืดฟักเขียว ผัดสายบัว/ผักบุ้ง/ผักกระเฉด แกงขี้เหล็ก ยำบัวบก และ อาหารประเภทแกงจืด ดื่มน้ำสมุนไพรคลายร้อน เช่น น้ำใบเตย น้ำบัวบก น้ำแตงโม  น้ำเก๊กฮวย และน้ำตรีผลา เป็นต้น


ดูแลสุขภาพอย่างไร? เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ส่วนผู้ที่มีผิวหนังไหม้ สามารถใช้ว่านหางจระเข้ โดยนำเฉพาะวุ้นใสจากว่านหางจระเข้   ล้างให้สะอาดไม่มียางเหลืองติดมาทาหรือแปะบริเวณผิวหนังจะช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และลดอาการผิวไหม้จากแสงแดดได้

ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยจะสังเกตจาก

1) อาการระคายคอมีเสมหะ ควรรับประทานยาแก้ไอ ขับเสมหะ เช่น ตรีผลา ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาประสะมะแว้ง ประสะกานพลู อัมฤควาที                  

2) อาการหายใจตื้น หายใจขัด แสบคอ แสบอก ไอ จาม คัน/คัดจมูก มีน้ำมูกมาก หวัดแพ้อากาศ ควรรับประทานยาปราบชมพูทวีป บรรเทาอาการหวัดระยะแรก และอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อากาศ การสุมยา เป็นการใช้ความร้อนชื้นจากไอน้ำเป็นตัวพาน้ำมันหอมระเหยจากยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการช่วยขยายทางเดินหายใจ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด  โดยสามารถสุมได้ครั้งละ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และ การอบไอน้ำสมุนไพร กระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด ช่วยให้หลอดลมขยายทำหายใจสะดวกมากขึ้น สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เช่นกัน

นพ.ขวัญชัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่มีอากาศแปรปรวนร่างกายจะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อยากแนะนำให้ประชาชนออกกำลังกายด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น ฤาษีดัดตน มณีเวช โยคะ ชี่กง ฯลฯ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน และควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ท่านก็จะห่างไกลโรค

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือ การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ          line @DTAM หรือติดต่อสถานพยาบาลของรัฐที่ให้บริการการแพทย์แผนไทย ใกล้บ้านท่าน