'พริกไทย'อาจให้สารสำคัญต่างกัน ต้องแยกสายพันธุ์ให้ชัด ใช้DNA barcode

'พริกไทย'อาจให้สารสำคัญต่างกัน ต้องแยกสายพันธุ์ให้ชัด ใช้DNA barcode

กรมวิทย์ – คณะวิทยาศาสตร์ MOU ร่วมพัฒนาพืชสมุนไพรและพืชเสพติดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษาพันธุกรรมนำสู่การจำแนกสายพันธุ์ให้ชัดเจน คุ้มครองภูมิปัญญา ส่งเสริมเกษตรกรถูกจุด เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ นำร่อง'พริกไทย'- 'กระวาน'

         เมื่อเร็วๆนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่อง “การพัฒนาพืชสมุนไพร และพืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์”
        นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า MOU ครั้งนี้ เล็งเห็นความสำคัญของพืชสมุนไพรและพืชเสพติด ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตได้ ซึ่งพืชที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยมหิดลจะร่วมพัฒนาในการศึกษาวิจัย คือ พริกไทย และกระวาน พืชสมุนไพรมีแนวแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น 

รวมถึงเป็นองค์ประกอบในการทำยารักษาโรคของยาตำรับแผนไทยหลายขนาด นอกจากนี้จะร่วมในการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาทั้งโรคที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน และนำไปสู่การศึกษา พัฒนาพืชสมุนไพร ให้ได้มาซึ่งสารสำคัญเพื่อนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรค เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

    “หลังจากMOUแล้วก็จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับ เพื่อให้เห็นว่าในอีก 6 เดือน ,1ปี จะดำเนินการเรื่องไหนอย่างไรที่ได้พัฒนาและผลักดันให้เห็นผล ซึ่งโลกในปัจจุบันมีการแข่งขันและใช้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น มีการจดสิทธิบัตรต่างๆที่คนจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร แต่เรื่องสมุนไพรจะมีข้อยกเว้น หากเป็นพืชพื้นถิ่นของเราอยู่แล้ว ใครจะเอาไปจดสิทธิบัตรจะมาเก็บเงินไม่ได้ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยไม่ได้มีการทำเรื่องพันธุกรรมของพืชสมุนไพรไทยไว้ แล้วในอนาคตมีคนนำไปจดสิทธิบัตรก็จะไปโวยวายเป็นพื้นพื้นถิ่นของไทยมาก่อน ก็จะไม่มีหลักฐานไปแสดง”นพ.ศุภกิจกล่าว

ศึกษาพันธุกรรม-ความเป็นพิษ

     "รศ.ดร.พลังพล คงเสรี"คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือในลักษณะพหุภาคีจำเป็นอย่างมากจะได้ไม่ทำทุกอย่างซ้อนทับกันในเรื่องการลงทุนต่างๆทั้งอุปกรณ์และกำลังคน ซึ่งการMOUร่วมกันในครั้งนี้ ความสำเร็จเบื้องต้นจะเป็นเรื่องของการผลิตและการใช้สมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบในการทดสอบความเป็นพิษต่างๆทั้งสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึง การจัดทำอนุกรมวิธาน ซึ่งจะทำให้สังคมได้คุณค่าทางธุรกิจ ที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีการทดสอบความเป็นพิษ ความปลอดภัยและการรับรองมาตรฐาน จะทำให้เห็นถึงการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงการใช้ประโยชน์ของสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ

3 ส่วนใช้แยกแยะพืชสมุนไพร

       ด้าน“นพ.พิเชฐ บัญญัติ”รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า พืชสมุนไพรจะมีความต่างจากพืชเศรษฐกิจอื่นๆ คือ ถ้าเป็นสายพันธุ์ย่อย อาจจะให้สารสำคัญในพืชจะเปลี่ยนไป อย่างเช่น ว่านน้ำ สายพันธุ์ย่อยหนึ่งกินแล้วเสียชีวิต แต่อีกสายพันธุ์ย่อยใช้ทำเป็นยา หรือตะไคร้หอมไทย ศรีลังกา ชวา ก็ไม่เหมือนกัน และกัญชาหากจะปลูกกัญชาพันธุ์ไทยโดยต้องการสารTHCสูงจะต้องใช้พันธุ์หนึ่ง เป็นต้น

ในการแยกสายพันธุ์ จะต้องอาศัย 3 ส่วน คือ 1.อนุกรมวิธานในการแยกเป็นเบื้องต้น 2.อาศัยลักษณะทางเคมี สารสำคัญ หรือองค์ประกอบทางเคมี และ3.ลักษณะทางพันธุกรรม หรือจีโนม โดยเทคนิคที่นำมาใช้และแยกได้ง่ายที่สุดในตอนนี้ คือ DNA barcode ทั้ง 3 ส่วนมีความจำเป็นสำหรับพืชที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม

      “ถ้าไม่มีการแยกอนุกรรมวิธานตั้งแต่แรก แล้วไปส่งเสริมเกษตรการให้ปลูกในสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญน้อย ผลผลิตก็ไม่ได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น การจะทำเรื่องพืชสมุนไพรเพื่อจะแยกแยกให้ได้ประโยชน์ทางยาจริงๆ จะต้องดูใน 3 ส่วนนี้ ซึ่งทั่วโลกก็ใช้เรื่องเหล่านี้เพราะอาศับเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”นพ.พิเชฐกล่าว

      ก่อนหน้านั้น สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาสมุนไพรสำคัญของภาคตะวันออกของประเทศไทย นำร่องศึกษา พริกไทย (พันธุ์ปรางถี่ และคุชชิ่ง) และกระวาน ประกอบด้วย การศึกษาเพื่อแยกสายพันธุ์ของพริกไทย และการศึกษาความหลากหลายของกระวานในพื้นที่ต่างๆ ของภาคตะวันออก โดยใช้เทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุลในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพร เช่น การทำ genome sequencing และ DNA barcode เพื่อบ่งบอกลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์พืชแต่ละชนิด รวมถึงการจัดทำเป็นข้อมูลของพืชประจำถิ่น

     การศึกษานี้จะทำให้ทราบความจำเพาะของพืชสมุนไพรในแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของข้อมูลทั้งทางด้านพฤกษศาสตร์ ด้านเคมี และข้อมูลพันธุกรรมของพืช ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืช เพิ่มปริมาณในการผลิต รวมถึงเป็นการสร้างแหล่งพืช GI ที่มีคุณภาพ มีข้อมูลยืนยันของแหล่งพืช และยังเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของพืชสมุนไพรมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่สำคัญและหายากของแต่ละพื้นที่อีกด้วย ซึ่งหลังจากศึกษาพันธุ์พืชสองชนิดแล้ว ในอนาคตจะมีการศึกษาพืชสมุนไพรอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ชะมวงเปราะหอม เร่ว เป็นต้น

\'พริกไทย\'อาจให้สารสำคัญต่างกัน ต้องแยกสายพันธุ์ให้ชัด ใช้DNA barcode

พัฒนาอุปกรณ์ตรวจลมหายใจบอกสุขภาพ

วันเดียวกัน ที่กรมการแพทย์ มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ ระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด โดย “นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่กรมการแพทย์ ได้มีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ในการวิจัย พัฒนา นวัตกรรมชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่สามารถตรวจวัดสภาวะทางสุขภาพด้วยลมหายใจ 

โดยเริ่มจากการตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างสูง และในช่วงที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด 19 ทางทีมวิจัย ได้นำองค์ความรู้นี้มาปรับใช้กับการตรวจหาเชื้อโควิด ประสบผลสำเร็จเช่นกัน ทำให้ได้รับรางวัลจากหลายเวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติในต่างประเทศ

ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่สามารถผลิตเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับวงการเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ Health Tech ของประเทศไทย ที่จะก้าวหน้าไปในอนาคตกับการตรวจสุขภาพแบบ Non-invasive หรือการรับบริการทางสุขภาพแบบไม่ต้องเจ็บตัว เป็นเรื่องที่การแพทย์ทั่วโลก กำลังให้ความสนใจอย่างมากในยุคต่อจากนี้ไป

      และแน่นอนว่าจากพื้นฐานองค์ความรู้นี้จะนำไปสู่การตรวจหาปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ได้อีกอย่างแน่นอน หรือกระทั่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปในแง่มุมอื่นที่ไม่ใช่แต่เพียงในแง่มุมของสุขภาพเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาคมโลก ในการสร้างเสริมสุขภาวะ และการมีชีวิตที่เป็นปกติสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน

     “รนนท์  พงศาจารุ” ประธานบริษัท บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด เป็นบริษัทที่เน้นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ หลังจากวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 14 ปีบริษัทฯ ได้ค้นพบนวัตกรรมสำหรับใช้ประเมินระดับน้ำตาลจากลมหายใจ อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลจากลมหายใจและให้ผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องมีการใช้เข็มเจาะ ซึ่งสำเร็จ ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว 13 ประเทศ กับ 1 ทวีป

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทางบริษัท ได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากลมหายใจ ซึ่งให้ผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำในอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การประเมินและวิเคราะห์ค่าทางชีวภาพของร่างกายจากลมหายใจในโรคอื่น ๆ ต่อไป ในช่วงระยะเวลา 14 ปีของการวิจัยและพัฒนา ต้องใช้สรรพกำลังมหาศาล ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต้องใช้ความอดทน ต้องสะสมองค์ความรู้ และอื่น ๆ ความร่วมมือจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดัน ให้งานวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สังคมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

งานวิจัยชิ้นนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อได้ถูกพัฒนา เผยแพร่และนำไปใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนได้จริง ให้คุ้มค่ากับทรัพยากรทุกมิติที่ถูกทุ่มเทลงไปเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้ที่เราค้นพบ จะพาประเทศไทยให้เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกในงาน ด้านนวัตกรรมสุขภาพ ไม่แพ้กับงานสาธารณสุขที่ประเทศไทยทำได้ดีมาตลอด และขอขอบคุณกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดโอกาสและเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอีกมากมาย