รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

ด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้น อย่างประเทศไทย แถมช่วงนี้ฝนตกน้ำท่วม ส่งผลให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของปริมาณลูกน้ำยุงลาย และของเชื้อไวรัสเดงกี สาเหตุ 'โรคไข้เลือดออก' ยิ่งในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมากคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น

Keypoint:

  • ไข้เลือดออก โรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี​ ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ปัจจุบันพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 5,000 ราย 
  • มีไข้สูงตลอดเวลา มีผื่นแดง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ กระดูก เบื่ออาหาร ล้วนเป็นสัญญาณเตือนโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น
  • วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด อย่าให้ยุงกัด และอย่าให้ยุงเกิด เมื่อสงสัยว่าป่วยไข้เลือดออกต้องรีบพบแพทย์

กรมควบคุมโรค ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล พบจำนวนผู้ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้จำนวนเกือบ 40,000 ราย  และมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 40 ราย 

ทั้งนี้ หากจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อทำการควบคุมโรคให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 66  กรมควบคุมโรค ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับทีมสาธารณสุขในพื้นที่ 30 อำเภอ ของ 18 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อเน้นย้ำให้ทีมงานในพื้นที่เร่งรัดการควบคุมป้องกันโรคในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้ (21 ก.ค. - 18 ส.ค. 2566)

สำหรับจังหวัดที่พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนมากในพื้นที่ 30 อำเภอ  18 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จ่อขยับ 'ไข้เลือดออก' เป็นโรคติดต่ออันตราย หลังยอดป่วยพุ่ง 18 จังหวัด

หน้าฝน ระวัง 'ไข้เลือดออก' ปี 66 ป่วยสะสมแล้วกว่า 31,042 ราย

 

สัญญาณเตือนเสี่ยง ‘โรคไข้เลือดออก’ 

ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า "โรคไข้เลือดออก"นั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อไวรัสเดงกี​ (dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยทั่วไปโรคไข้เลือดออกมักพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูนี้ ซึ่งอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นมีตั้งแต่อาการเป็นไข้สูง บางรายหากเข้ารับการรักษาช้าก็อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

อาการของโรคไข้เลือดออก สามารถเช็กได้ดังนี้ 

โรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย เป็นพาหะที่สำคัญ โดยหลังจากที่ถูกกัดประมาณ 3-8 วัน ก็จะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออกเกิดขึ้น ดังนี้

  • มีไข้สูงเกือบตลอดเวลา
  • มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดกระดูก
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา
  • หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดเลือดออกผิดปกติ และอาการช็อกได้

รู้ทันสัญญาณเตือน \'ไข้เลือดออก\' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

ส่วนมากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติหรือมีอาการช็อก ส่วนใหญ่มัก จะเกิดจากการติดเชื้อซ้ำ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจะมีอาการรุนแรงมากกว่า

 

รู้ได้อย่างไร? ว่าเป็นไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เกิดจาก 'ไวรัสเดงกี' เป็นสาเหตุโดยมี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 ประเทศไทยมีการระบาดของ 4 สายพันธุ์วนเวียนกันไปแล้วแต่พื้นที่ ไวรัสเดงกีมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงตัวเมีย ซึ่งกัดเวลากลางวัน และดูดเลือดคนเป็นอาหารเข้าสู่กระเพาะ สะสมในเซลล์ผนังกระเพาะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ต่อมน้ำลาย และเข้าในร่างกายคนที่ถูกกัดเป็นรายต่อไป

เชื้อไวรัสเดงกีมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคน และผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุด 3 วัน ยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

ปัจจุบันเชื้อไข้เลือดออกทั้งหมดมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน หากพบว่ามีการติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และเป็นการติดเชื้อมาจากไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ก็อาจจะมีอาการรุนแรงมากกว่ากรณีอื่น ๆ 

ทั้งนี้ ในแต่ละปีพบว่ามีการกระจายของเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกัน และมีเชื้อที่เด่นแตกต่างกันไปในแต่ละปี ทำให้มีการระบาดของโรคมาโดยตลอด เนื่องจากประชาชนไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ

รู้ทันสัญญาณเตือน \'ไข้เลือดออก\' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

อาการของไข้เลือดออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะแรก

เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน โดยอาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

2. ระยะวิกฤต

ระยะนี้เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้ 

3. ระยะฟื้นตัว

ในระยะนี้เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน

รู้ทันสัญญาณเตือน \'ไข้เลือดออก\' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง 'ไข้เลือดออก'

โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อการดำเนินโรคที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • เด็กทารกและผู้สูงอายุ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร 
  • ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ผู้ที่มีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด  โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง 
  • ผู้ที่รับประทานยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)

รู้ทันสัญญาณเตือน \'ไข้เลือดออก\' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

ข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

เบื้องต้นในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกขณะที่อยู่ที่บ้านสามารถทำได้ ดังนี้

  • เช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วเริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นจึงค่อยประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ โดยในรายที่อาเจียนแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียและให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
  • ให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen
  • ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก มีเลือดออกรุนแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ซึมลงและไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ทันที
  • ตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก 

เนื่องจากอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรกๆ คล้ายกับโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ และไข้จากสาเหตุอื่น ดังนั้น นอกเหนือจากการสังเกตอาการและซักประวัติความเป็นอยู่ของผู้ป่วยแล้ว แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกด้วยการตรวจเพิ่มเติม และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด
  • ตรวจภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก (IgM) ,  ตรวจ NS1 Ag ต่อเชื้อโดยตรง ตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี
  • หากพบว่าผู้ป่วยมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว และจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลง เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี แต่ถ้าเกล็ดเลือดลดต่ำมาก เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องดูแลผู้ป่วยหนักทันที

วิธีรักษาอาการของโรคไข้เลือดออก

สำหรับปัจจุบันวิธีรักษาอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อไข้เลือดออกหรือเชื้อไวรัสเดงกีได้โดยตรง ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

โดยหลัก ๆ เป็นการให้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล ซึ่งการให้ยาลดไข้มีความสำคัญ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงยาลดไข้ตัวอื่นที่อาจจะมีความสัมพันธ์ กับอาการ เลือดออก ผิดปกติได้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน (aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (ibuprofen)

นอกจากนี้ยังควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้อง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อม ๆ กับไข้ลดลง หรือมีอาการหน้ามืด ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกได้

รู้ทันสัญญาณเตือน \'ไข้เลือดออก\' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

ป้องกันอย่างไร? ให้ไกลจากโรคไข้เลือดออก

การป้องกันการเกิดไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ก็คือ การระวังไม่ให้ถูกยุงลายกัด 

การป้องกันยุงลายนั้นสามารถทำได้ ดังนี้

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
  • หลีกเลี่ยงภาชนะที่มีน้ำขังต่าง ๆ 
  • ตุ่ม โอ่งต้องมีฝาปิดมิดชิด
  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำ เช่น แจกัน ทุก ๆ 7 วัน
  • ใส่ทรายอะเบตลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน
  • ป้องกันการถูกยุงกัดที่เหมาะสม เช่น ทายาป้องกันยุง หรือใช้ยากันยุง เป็นต้น 
  • สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อลดโอกาสการถูกยุงกัด
  • ในรายที่อายุมากกว่า 9 ปี และน้อยกว่า 45 ปี ร่วมกับมีประวัติ เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากสายพันธุ์อื่น

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่พูดถึงกันมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นก็คือ การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วัคซีนจะสามารถใช้ได้ผลดีและลดความรุนแรงได้โดยเฉพาะในคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน 

"ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเกิน 3 วัน ตามตัวอาจมีจุดหรือผื่นแดง อ่อนเพลีย ซึม หากรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องบริเวณชายโครงขวาร่วมด้วยซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออกนั้นสามารถทำได้โดย “อย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด” ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่าง ๆ นั่นเอง"

สธ.เตรียมออกกฎหมายคุมเข้ม ‘โรคไข้เลือดออก’

กรมควบคุมโรคจะทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของ 18 จังหวัดดังกล่าวได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้นในช่วง 4 สัปดาห์จากนี้

รวมทั้งให้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เรียกว่า CDCU plus VCU ที่ประกอบด้วยนักระบาดวิทยา นักกีฏวิทยา และนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรควบคุมป้องกันโรคที่กรมฯ ได้จัดขึ้น และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนทรัพยากรในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และหากประชาชนสงสัยว่าจะป่วยจากโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

รู้ทันสัญญาณเตือน \'ไข้เลือดออก\' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้อธิบายว่า พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ถ้ามีจำนวนผู้ป่วยสูงและต่อเนื่อง และต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจตามที่ระบุในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. ในการประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการดำเนินการตามมาตรา 34 แบบเดียวกับการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตราย เหมือนกับ โรคโควิด 19 ในระยะ 2 ปีแรก

ส่วน มาตรา 34 (8) จะทำให้ทีมงานสาธารณสุขในพื้นที่สามารถเข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคได้ เช่น การเข้าไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และพ่นสารเคมีเพื่อฆ่ายุงตัวแก่ ในบ้าน วัด โรงเรียน โรงแรม หรือสถานที่อื่นๆ ที่อาจจะเข้าไปไม่ได้ในสถานการณ์ปกติ

ขณะที่ มาตรา 34 (4) (5) (6) ยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย และแก้ไขสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานฯ อีกด้วย

อ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข  และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์