วิตามินเสริมสำหรับ 'คนวัยทำงาน' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

วิตามินเสริมสำหรับ 'คนวัยทำงาน' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

'คนวัยทำงาน' หรือเมื่อเข้าอายุ 30+ ถือเป็นช่วงที่ร่างกายเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง บางอย่างเริ่มเสื่อมถอย รวมถึงคนช่วงวัยนี้เป็นวัยทำงานหนักสร้างเนื้อสร้างตัว การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Keypoint:

  • 'วัยทำงาน' เป็นวัยที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพมากที่สุด เพราะด้วยปริมาณงาน เวลาทำงานที่มากจนทำให้เกิดภาวะความเครียดแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิต อดนอน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่  ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลทำร้ายสุขภาพทั้งสิ้น
  • 'วิตามิน อาหารเสริม' อีกหนึ่งตัวช่วยในการดูแลสุขภาพของคนวัยทำงานยุคนี้ เนื่องจากสะดวก ง่าย แถมมีให้เลือกซื้อมากมาย 
  • ควรเช็กให้ดีก่อนจะรับประทานวิตามิน อาหารเสริม หากกินวิตามินบางชนิดมากเกินไปอาจจะส่งผลร้ายต่อร่างกาย การดูแลสุขภาพง่ายๆ ด้วยตนเองสามารถเริ่มได้จากการกิน ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหากิจกรรมลดความเครียด

ในแต่ละช่วงของชีวิตต้องการการดูแล การรับประทานอาหาร การเสริมวิตามินที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง 'วัยทำงาน' ถือเป็นช่วงเวลาของการใช้ร่างกายและสมองที่หนักหน่วง ยิ่งบางคนต้องทำงานเกิน 10-15 ชั่วโมงต่อวัน วัยทำงานจึงเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงกับการมีปัญหาสุขภาพไม่แพ้วัยสูงอายุ

แถมบางโรคก็พบได้ในวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการรับประทานที่ไม่มีประโยชน์ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน นอนดึก ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และปาร์ตี้ สังสรรค์ดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญ ความเครียดจากการทำงาน ภัยร้ายที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรม 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าขาดวิตามินตัวไหน หรือต้องเสริมเรื่องอะไร หากให้ชัดเจนเหมาะสมแต่ละบุคคล อาจต้องตรวจเจาะเลือดดูฮอร์โมนไทรอยด์ วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ โดยแพทย์เฉพาะทาง เพราะปกติแล้วร่างกายอาจไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นชัดว่าขาดวิตามินตัวใด หรือลักษณะอาการเหมือนว่าจะขาดวิตามินชนิดนั้น ๆ ตามที่อ่านข้อมูล แต่ความจริงแล้วอาจเป็นอาการของภาวะหรือโรคอื่นก็เป็นได้

วิตามินเสริมสำหรับ \'คนวัยทำงาน\' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รับมือ "ความเครียด" ด้วยวิธีง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

เช็ก ภาวะ "เครียดสะสม" เริ่มส่งผลต่อสุขภาพจิตหรือยัง ?

 

ทำไม? ต้องทานวิตามินเสริม ดูแลสุขภาพ

ปัจจุบัน การซื้อวิตามินหรืออาหารเสริมมากินเองนั้นทำได้ง่ายเหมือนการซื้อขนม และมีให้เลือกเยอะมาก ทั้งที่การได้รับสารอาหาร หรือวิตามินบางชนิดมากเกินไปก็อาจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้นำข้อมูลดีๆ มาฝากว่า วิตามินเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ซึ่งเราจะต้องได้รับจากการกินอาหารประเภทต่างๆ เพราะร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง (ยกเว้นวิตามินดี ที่จะมีการสังเคราะห์ที่ผิวเมื่อได้รับแสงแดด) โดยวิตามินแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • กลุ่มที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินบี และวิตามินซี
  • กลุ่มที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ, ดี, อี และวิตามินเค

วิตามินเสริมสำหรับ \'คนวัยทำงาน\' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

โดยวิตามินแต่ละชนิด มีหน้าที่และประโยชน์ต่อร่างกายต่างกัน ดังนี้

  • วิตามินเอ เกี่ยวกับสายตาและการเจริญเติบโต
  • วิตามินบี เกี่ยวกับระบบประสาท การสร้างพลังงานและเม็ดเลือด
  • วิตามินซี เกี่ยวกับการสร้างคอลลาเจน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
  • วิตามินดี เกี่ยวกับกระดูก
  • วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
  • วิตามินเค เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดและกระดูก

พญ.อรกมล  กล่าวต่อว่า เพราะวิตามินจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างพลังงาน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การซ่อมแซมร่างกาย รวมถึงการต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวิตามินกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ คือ วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี

ทั้งนี้ ในบ้านเรามีคำแนะนำถึงขนาดของวิตามินที่ควรได้รับในแต่ละวัน เรียกว่า Thai recommended daily intakes หรือ Thai RDI เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ และไม่เกิดโรคขาดวิตามินที่รุนแรง

 

 

ปัญหาสุขภาพยอดฮิตในวัยทำงาน

การมีสุขภาพดีสำหรับคนวัยทำงาน ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะหากป่วยบ่อยจะส่งผลต่อการทำงานที่ไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ ปัญหาสุขภาพในวัยทำงานที่พบเป็นประจำอย่างเช่น

  • อ่อนเพลีย                               
  • สมองเบลอ
  • ภูมิคุ้มกันลดลง ป่วยบ่อย     
  • ไม่สดชื่น ไม่กระฉับกระเฉง
  • นอนหลับไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ
  • มีความเครียดสะสมจนกลายเป็นโรคเครียดเรื้อรัง

กลุ่มไหนบ้าง... เสี่ยงขาดวิตามินได้ง่าย

การรับประทานอาหารที่หลากหลายตามหลักโภชนาการจะช่วยให้เราได้รับวิตามินอย่างครบถ้วนและเพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยพบการขาดวิตามินในคนไทยเหมือนในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังถึงปัจจัยเหล่านี้เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีวิตามินไม่เพียงพอ

  • การที่อายุมากขึ้น 
  • การงดรับประทานเนื้อสัตว์
  • การผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้
  • การกินยาบางอย่างที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบางชนิดลดลง
  • การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ
  • การมีพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายสูญเสียวิตามินอย่างรวดเร็ว เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากๆ

อาการแบบไหนที่คนวัยทำงาน เริ่มขาดวิตามิน

การขาดวิตามินแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • ขาดแบบชัดเจน จนเกิดโรคหรืออาการแสดง เช่น การขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต ทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือการขาดวิตามินซี ทำให้เหงือกบวม เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น
  • ขาดแบบไม่พอเพียง (suboptimal vitamin intake) เช่น ขาดวิตามินบี 12 จากการกินมังสวิรัติ ทำให้มีอาการไม่สบายทางกายอย่างการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น การเผาผลาญพลังงานไม่ดี นอนไม่หลับ ผิวพรรณไม่สดใส เป็นต้น ซึ่งแพทย์มักจะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร อันเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ของการขาดวิตามิน

วิตามินเสริมสำหรับ \'คนวัยทำงาน\' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

'วิตามิน' ทางเลือกแก้ปัญหาสุขภาพของคนทำงาน

ด้วยรูปแบบชีวิตของคนวัยทำงานในปัจจุบันต้องมีชีวิตที่เร่งรีบ เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการทำงานและการเดินทาง การดำเนินชีวิตประจำวันต้องแข่งขันกับเวลา จึงทำให้คนวัยทำงานต่างละเลยการดูแลสุขภาพโดยรวมของตนไป ทั้งพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนักเพื่อให้งานเสร็จ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่พิถีพิถันในการเลือกทานอาหาร ที่สำคัญมีความเครียดสูง พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำลายตัวเองในด้านสุขภาพและทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพต่างๆตามมามากมาย

หากคนวัยทำงานยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาตระหนักถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายให้มากขึ้นส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นระหว่างวัน ระบบภูมิคุ้มกันลดลง จึงทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  อาจนำไปสู่การติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียเช่น เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ เริม เป็นต้น

 อย่าปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรม เพราะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อคงสภาพและชะลอความเสื่อมของร่างกายให้มากที่สุด เพื่อกลับไปทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ     

คนวัยทำงานเป็นวัยที่ต้องใช้ทั้งสติปัญญาสมองและร่างกายอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงสภาพการทำงานที่ต้องเคร่งเครียดเร่งรีบ ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็น ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ไม่รับบระทานผักผลไม้ รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ พักผ่อนน้อย นอนดึก อ่อนเพลีย และเจ็บป่วยบ่อย 

ขอแนะนำวิตามินที่จะช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพด้วย 'วิตามินรวม' สูตร C D Zinc และเกลือแร่ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว ต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม และป้องกันการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

วิตามินบีรวม : เมื่อเผชิญกับความเครียดจากการทำงาน มีโอกาสที่จะมีอาการมึนงง สมองตื้อ อ่อนเพลีย การเสริมวิตามินบีรวม จึงช่วยป้องกันอาการเหล่านี้ได้ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้ฉับไวมากขึ้นและปลอดโปร่ง สดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย อีกทั้งช่วยลดเครียดได้ด้วย

เกลือแร่จำเป็น :คนวัยทำงานต้องใช้พลังงานและความคิดเยอะ และรับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอ  จึงเสี่ยงสูงต่อการขาดเกลือแร่ อาจมีอาการเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย เพราะเกลือแร่ มีบทบาทที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติทุกๆวัน   การเสริมด้วยสารอาหารอย่างครบถ้วนนี้จะช่วยป้องกันการขาดวิตามินและเกลือแร่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย พร้อมลุยงานอย่างเต็มที่

วิตามินซี:ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และทำให้แผลหายเร็วขึ้น อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง พริกหวาน ผักโขม มะละกอ มะม่วง สตรอเบอร์รี่ ฝรั่ง ส้ม

วิตามินดี :ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูก โดยปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดด สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับแสงแดด ร่างกายอาจสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอ ควรรับประทานอาหารประเภทธัญพืช เห็ด และดื่มนมที่เสริมวิตามินดีเป็นประจำ

วิตามินเอ :ช่วยรักษาสายตาของผู้สูงวัยไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว ช่วยการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แหล่งของวิตามินเอในอาหาร ได้แก่ ผักโขม แครอท มันเทศ ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก

แคลเซียม :แคลเซียมช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และสร้างมวลกระดูกให้มีความหนาแน่น ผู้สูงอายุต้องการแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม อาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม ได้แก่ นมถั่วเหลืองเพิ่มแคลเซียม นมสด ผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยวไม่หวานจัด) ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เช่น ฟองเต้าหู้) ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาข้าวสาร) ผักใบเขียวเข้ม ผักสีส้ม (เช่น คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ใบยอ ฟักทอง แครอท)

วิตามินอี :เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย วิตามินอีพบมากในอะโวคาโด ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน เนยถั่ว งา และน้ำมันสำหรับปรุงอาหารทุกชนิด

เช็กได้ไม่ยาก เราขาดวิตามินอะไร?

พญ.อรกมล บอกว่า ปัจจุบันเราสามารถตรวจวิตามินหลักๆ และสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างครบถ้วน เช่น วิตามินเอ (เบต้าและแอลฟ่าแคโรทีน ไลโคปีน) วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี (อัลฟ่าและแกมม่าโทรโคเฟรอล) โคเอนไซม์คิวเท็น รวมทั้งสามารถตรวจแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายต้องใช้ร่วมกันในการทำงานของวิตามินต่างๆ ด้วย

 โดยแพทย์จะพูดคุย เพื่อซักประวัติและวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละคน ว่าการใช้ชีวิตประจำวันมีผลต่อสุขภาพอย่างไร แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อดูระดับของวิตามินที่สงสัยว่าไม่เพียงพอ เมื่อได้ผลเลือดแล้วจะแนะนำการปรับวิตามินให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป แนะนำอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามิน และขนาดของวิตามินที่ควรรับประทานเสริม ซึ่งสามารถจัดทำวิตามินเฉพาะบุคคลเพื่อแก้ปัญหาเป็นรายกรณีได้

วิตามินเสริมสำหรับ \'คนวัยทำงาน\' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

ซื้อวิตามินกินเองอย่างไร?ไม่ให้เสี่ยง

พญ.อรกมล กล่าวด้วยว่า การซื้อวิตามินกินเองในช่วงที่ร่างกายมีความเครียดหรือรับประทานอาหารไม่ครบถ้วน หากเป็นวิตามินจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน กินในปริมาณไม่เกินที่ RDI ระบุไว้ จะถือว่าค่อนข้างปลอดภัย แต่เราต้องรู้ว่าร่างกายเราขาดวิตามินตัวนั้นๆ จริง หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายต้องใช้วิตามินตัวนั้นสูงกว่าปกติแค่ไหน เพราะวิตามินบางตัวกินมากเกินไป ก็ไม่ดี จะให้โทษกับร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินกลุ่มที่ละลายในไขมัน ดังนี้

  • วิตามินเอ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไม่ควรรับวิตามินเอมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครภ์
  • เบต้าแคโรทีน คนที่สูบบุหรี่หรือต้องสัมผัสแร่ใยหิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากขึ้น
  • วิตามินดี ควรมีการเจาะเลือดเพื่อดูไม่ให้ระดับวิตามินดีในเลือดสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ระดับแคลเซียมในเลือดผิดปกติ

ร่างกายต้องการวิตามิน อาหารเสริมจริงหรือไม่?

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าอาหารเสริม ชื่อก็บ่งบอกตัวมันเองอยู่แล้วว่าเป็นการเสริม เพราะฉะนั้นเราจะใช้ในกรณีที่บางคนได้รับสารอาหารไม่พอเพียงหรือว่าขาดไป ในความเป็นจริงหากเราได้รับมาจากอาหารประจำวันอย่างเพียงพอ เราก็ไม่จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเสริมอีก

วิตามินและเกลือแร่ ส่วนใหญ่เราจะได้จากผักและผลไม้ ถ้าสมมุติวันหนึ่งเราได้รับผักหรือผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน 5 ส่วนในที่นี้คืออะไร ให้เรานึกถึงกำปั้นของเรา ผักและผลไม้รวมกัน 1 กำปั้น คือ 1 ส่วน ฉะนั้นหากวันหนึ่งเราได้รับผักและผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน แสดงว่าเราได้รับวิตามินและเกลือแร่ไม่เพียงพอ และเราก็ต้องมาดูต่อว่าคนคนนั้นมีโรคประจำตัวหรือไม่

ถ้าเกิดมีโรคประจำตัว เช่น ลำไส้ดูดซึมบกพร่อง มีการผ่าตัดลำไส้ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็ตามที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินหรือเกลือแร่ไม่เพียงพอ จึงจะควรจะทานอาหารเสริมเพิ่มเติมเข้าไป

การตรวจหาวิตามินและเกลือแร่ในร่างกายนั้น ทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับวิตามินในร่างกาย หากเราไม่สามารถตรวจเลือดได้ และเราไม่แน่ใจ เราอยากจะซื้ออาหารเสริม วิตามินมากินเอง

วิตามินเสริมสำหรับ \'คนวัยทำงาน\' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

แพทย์แนะนำว่า

  1. การกินวิตามินหรืออาหารเสริมเยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย มีอันตรายกับร่างกายเหมือนกัน เพราะมันสามารถไปตกค้างสะสมในร่างกายได้
  2. หากเราต้องการจะกินวิตามิน แนะนำว่าให้ตรวจหาระดับวิตามินในร่างกายเสียก่อน
  3. เลือกวิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำจะปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า เพราะไม่มีการสะสมตกค้างในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี และวิตามินซี
  4. หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะวิตามินบางอย่างแพทย์ไม่แนะนำให้กิน เช่น คนไข้มีปัญหาโรคไต เราไม่แนะนำให้ซื้อวิตามินเสริมที่เป็นวิตามินเอ เพราะจะทำให้เกิดภาวะวิตามินคั่งในตับและเกิดผลเสียต่อร่างกายได้

เพื่อสุขภาพที่ดี เราไม่จำเป็นต้องการกินวิตามินเสริมในปริมาณที่สูง แต่เน้นรับประทานอาหารให้ครบชนิด ในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ก่อนตัดสินใจบริโภคควรจะเลือกดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการรับรองเรียบร้อยแล้วหรือยัง และอย่าลืมรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดการสะสมในร่างกายด้วย

ทานวิตามิน และอาหารเสริมอย่างไรให้ปลอดภัย ?

  • ตรวจสอบข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์ก่อนการซื้อ และบริโภค เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานจากองค์การอาหาร และยา รวมถึงผลิตจากบริษัทที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้
  • ตรวจสอบส่วนผสม และปริมาณสารอาหารที่บรรจุ ไม่ควรเลือกซื้อ หรือ รับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณสารอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เพราะจะทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้นในการขับสารอาหารส่วนเกินนั้นออกมา
  • ไม่ควรรับประทานวิตามิน อาหารเสริมเพื่อรักษาอาการป่วย หรือ ใช้แทนยารักษาโรค โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการทานอาหารเสริมอย่างเหมาะสม และเข้ากับสภาวะร่างกายในขณะนั้น
  • ศึกษารายละเอียด และวิธีการรับประทานวิตามิน อาหารเสริมแต่ละชนิดให้เหมาะสม ว่าวิตามินชนิดไหน ควรรับประทานเวลาใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากรับประทานไม่ถูกวิธี

 เนื่องจากวิถีชีวิต สภาพร่างกาย รวมถึงสุขภาพของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เพื่อการรับประทานวิตามินที่ได้ผลลัพท์สูงที่สุด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น หรือ รับคำแนะนำเรื่องการทานวิตามิน อาหารเสริมที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

วิตามินเสริมสำหรับ \'คนวัยทำงาน\' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม

เคล็ดลับดูแลสุขภาพวัยทำงานที่ใครๆ ก็ทำได้

1.  ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายมีระบบเผาผลาญที่ดีขึ้น ช่วยให้สุขภาพจิตดี อารมณ์ดี รวมถึงกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีขึ้นไป

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ : แน่นอนว่าร่างกายต้องการสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหาร ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุ วิตามิน รวมทั้งน้ำและใยอาหาร จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบ  5 หมู่และกินแต่ละหมู่ให้หลากหลายจึงจะได้สารอาหารที่ครบและเพียงพอ 

3. พักผ่อนให้เพียงพอ : สิ่งสำคัญที่สุดคือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การไม่อดนอนและนอนหลับสนิทเพียงพอ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพ และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

4. ผ่อนคลายความเครียด : หากิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย เช่น ร้องเพลง วาดรูป ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท , โรงพยาบาลสินแพทย์ ,รามา แชนแนล ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์