ดูแลรักษา 'โรคภูมิแพ้' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

ดูแลรักษา 'โรคภูมิแพ้' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

‘โรคภูมิแพ้’ อีกหนึ่งโรคฮิตที่คนไทยมักป่วย  โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จำนวนมาก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และอาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

Keypoint:

  • โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 ส่วนผู้ใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้ ร้อยละ 20 
  • เมื่อมีอาการ ไอ ตาม คันในจมูก มีน้ำมูก มีผื่นขึ้นตามตัว หอบหืด คันตา อาการที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคภูมิแพ้
  • ขณะนี้มีการรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยสมุนไพร แพทย์ทางเลือก พร้อมแนะวิธีดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ดูแลความสะอาดภายในบ้าน ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ 

 ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น 3 – 4 เท่า หากเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 38 และผู้ใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 20

โดยสาเหตุส่วนใหญ่เนื่องมาจาก กรรมพันธุ์ มลภาวะ ฝุ่นPM2.5 สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัย เช่น เลี้ยงสัตว์ ปูพรม เครื่องปรับอากาศ เป็นแหล่งสะสมฝุ่นละอองและไรฝุ่นชั้นดี เป็นต้น

'โรคภูมิแพ้' (hypersensitivity)โรคที่เกิดจาการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารเกิดภูมิแพ้ หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ขจัดสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ร่างกาย ทำปฏิกริยากับสารก่อภูมิแพ้จากสภาพแวดล้อมปกติที่ไม่เป็นอันตราย เช่น ฝุ่น ควัน ละอองเกสร สภาวะอากาศเปลี่ยน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กอาการ ต้องสงสัยว่าเป็น "โรคภูมิแพ้"หรือไม่?

"ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ" เอาชนะ..รักษาหายขาดได้อย่างไร?

ภูมิแพ้กรุงเทพฯ

รู้ทัน 'โรคภูมิแพ้เรื้อรัง'

 

โรคภูมิแพ้ในมุมมองแพทย์แผนไทย

ผู้ที่มีสภาวะเป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อได้รับสารกระตุ้นเหล่านี้จะหลั่งสาร ฮีสตามีน (Histamin) ขึ้นบริเวณต่างๆเช่น ผิวหนัง จมูก ปอด ทำให้เกิดอาการอักเสบและผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ปรากฏเป็นอาการเช่น ไอ จาม มีน้ำมูก มีผื่นขึ้นตามตัว หอบหืด คันตา

หากเป็นเรื้อรังอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนตามมาเช่น ไซนัสอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคในระบบทางเดินหายใจอื่น เช่นอาหาร ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ซึ่งจะทำให้เกิดการตอบสนองอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาการที่พบได้เช่นภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก จาม ไอ หอบหืด หรือผื่นคันตามตัว คันตา คันจมูก

โรคภูมิแพ้ในทางแพทย์แผนไทย ถือว่าโรคภูมิแพ้ มีสาเหตุจากความไม่สมดุลกันของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการเรื้อรัง อาการเป็นๆหายๆ รักษาให้หายขาดได้ยาก เรียกว่า อสาทิยะอชินชวร คือโรคที่ทำให้มีอาการอยู่เป็นระยะๆ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายขาด และอาการมักจะกำเริบด้วยการทานอาหารไม่ถูกกับธาตุ (อชินธาตุ) และทานยาที่ไม่ตรงกับอาการที่เป็นหรือไม่ถูกกับร่างกาย (อชินโรค)

ดูแลรักษา \'โรคภูมิแพ้\' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

โรคภูมิแพ้ ไซนัส และโรคระบบทางเดินหายใจในทางแผนไทยพิจารณาสาเหตุได้จาก



1. ธาตุพิการ เกิดจากระบบการทำงานของร่างกายทำงานได้ไม่ดี เช่น ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง ซึ่งอาจมีความผิดปกติมาตั้งแต่เด็กสะสมมาไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากเชื้อโรคแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ทำให้เกิดควาผมิดปกติขึ้นก็ได้



2. มีพิษสะสมอยู่ในร่างกายอยู่มาก แล้วร่างกายไม่สามารถขับออกได้หมด เช่น การทานอาหารแสลงกับธาตุตัวเองมากเกินไป นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะความเครียดกังวล การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นควันสารพิษบ่อยๆ

   

 

รักษาด้วยสมุนไพร ด้วยแพทย์แผนไทย

แนวทางการรักษาของแพทย์แผนโบราณจึงแตกต่างกับแผนปัจจุบัน ซึ่งยาสมุนไพรที่นำมาใช้รักษากลุ่มโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สมุนไพรปรับธาตุทั้ง 4 ให้สมบูรณ์ (บำรุงธาตุ),   สมุนไพรฟอกโลหิต บำรุงเลือด, สมุนไพรช่วยขับสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย และ สมุนไพรที่ช่วยลดอาการผื่นคันบนผิวหนัง

สำหรับทางการแพทย์แผนไทย โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มอาการทางธาตุน้ำ อันมาจากการควบคุมของศอเสมหะ หมายถึง เสมหะหรือเสลดบริเวณลำคอ ถ้าศอเสมหะกำเริบโดยมากจะเกิดช่วงเช้า ก่อให้เกิดอาการ คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล

การรักษาโดยใช้ ยาปราบชมพูทวีป เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัดระยะแรก และอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อากาศ เมื่อวิเคราะห์คุณสมบัติแต่ละตัวยาของตำรับยาปราบชมพูทวีปทั้ง 23 ชนิด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรรสร้อน ช่วยลดการกำเริบของธาตุน้ำ  ช่วยลดการอักเสบ รวมถึงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (Limpaphayom and Laohakunjit, 2014)

ดูแลรักษา \'โรคภูมิแพ้\' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

จากรายงานการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้ยาปราบชมพูทวีปขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานทุกวันวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 2 แคปซูล กับยาลอราทาดีนขนาด 10 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 7 วัน ในผู้ป่วยภูมิแพ้ 62 คน (เพศชาย 17 คน เพศหญิง 45 คน)

พบว่ายาปราบชมพูทวีปให้ประสิทธิผลการรักษาไม่แตกต่างจากยาลอราทาดีน (P>0.01) (Onthong et al., 2019) จึงมีความเป็นไปได้ว่า สามารถใช้ทดแทนกันได้ตามความต้องการของผู้ป่วย

สำหรับการอบไอน้ำสมุนไพร นับเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาที่ได้รับความนิยม มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการอบสมุนไพร ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศจำนวน 64 ราย โดยให้กลุ่มตัวอย่างรับการอบสมุนไพรวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ และประเมินระดับความรุนแรงของอาการภูมิแพ้ด้วย visual analog scale พบว่า ผู้ป่วยมีอาการของโรคภูมิแพ้อากาศลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น (Tungsukruthai et al., 2017)

อย่างไรก็ตามถ้ามีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุ เพื่อการดูแลตัวเองให้เหมาะสม

4 ข้อควรทำ และการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

ขณะที่ในมุมของแพทย์แผนจีนโรคภูมิแพ้เกิดได้จากสาเหตุ ลมเย็น หรือความชื้นทำให้อวัยวะภายในเสียสมดุลได้แก่ ปอด ม้าม ไต การรักษาของทางแพทย์แผนจีน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1.การฝังเข็มซึ่งจุดที่เลือกใช้ได้แก่ จุดYin Xiang (LI 20) ซึ่งเป็นจุดบริเวณปีกจมูก ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับภูมิแพ้ จุดLie que (LU 7)ซึ่งเป็นจุดบริเวณข้อมือ ที่อยู่บนเส้นลมปราณปอดช่วยทำให้ปอดทำงานได้ดีมากขึ้นขับเสมหะได้ดีขึ้น

2.การใช้ยา ก็ต้องใช้ยาที่ช่วยขับลมหรือเสมหะออกมา หรือบำรุงปอด ม้าม เพื่อให้อวัยวะภายในทำงานได้ดีมากขึ้น เช่น fang fen เป็นสมุนไพรที่ช่วยขับลมหรือ chen pi หรือเปลือกส้มแมนดาริน สรรพคุณ ทำให้ลมปราณหมุนเวียนได้ดีขึ้น ไล่ความชื้น หรือเสมหะออก

ข้อควรทำ4 ข้อ คือ หลีกเลี่ยง กำจัด รักษา ป้องกัน

1.หลีกเลี่ยงสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น หลีกเลี่ยง อาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ ควันบุหรี่ หรือช่วงเวลาที่มีการฟุ้งกระจายของละอองเกสรดอกไม้

2.กำจัดสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น ผ้าปูที่นอนก็ควรนำไปซักน้ำอุ่นทุกอาทิตย์

3.การรักษา ในทางของการแพทย์แผนปัจจุบัน จะพิจารณาให้ยาแก้แพ้ (antihistamine) หรือยากลุ่ม สเตียรอยด์ได้ ในรูปแบบของการกิน ทาผิว หรือพ่นจมูกได้

4.การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ควันรถยนต์ ควันบุหรี่ ควันธูป กลิ่นน้ำหอมแรง ๆ สารเคมีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้อาการภูมิแพ้กำเริบ

  •  ดูแลความสะอาดภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดการกักเก็บฝุ่น

  •  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง จะให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และทำให้อาการโรคภูมิแพ้ค่อยๆ ดีขึ้นด้วย
• ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์  โปรตีน ผัก และผลไม้ ก็จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ ถือเป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการซ่อมแซม ฟื้นฟู และปรับสมดุล ในช่วงเวลานอนพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นไม่ควรเข้านอนดึกจนเกินไป

ดูแลรักษา \'โรคภูมิแพ้\' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

4Es หลักในการดูแลโรคภูมิแพ้

ศ. พญ. อรพรรณ โพชนุกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ กล่าวว่าในการป้องกันดูแลโรคภูมิแพ้ สามารถใช้ 4 Es หลักสำคัญในการดูแลโรคภูมิแพ้ นั่นคือ Exercise, Eating, Environment และ Emotion 

Exercise คือ ออกกำลังกาย มีการศึกษาเยอะมากว่าการออกกำลังกายช่วยให้ภูมิแพ้ดีขึ้น และจากการที่ได้ดูแลคนไข้ภูมิแพ้ รู้ว่าคนไข้ต้องใช้ยาค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนไข้ก็ไม่ได้อยากกินยา เราเองก็ไม่ได้อยากให้คนไข้ใช้ยาเยอะ โชคดีที่ตัวเองเป็นภูมิแพ้ ก็เลยเอามาทดลองกับตัวเอง ปรากฎว่าเห็นผล หลังจากออกกำลังกายแล้วภูมิแพ้ดีขึ้นมาก จึงพยายามแนะนำคนไข้ให้ออกกำลังกาย

คนไข้บางส่วนที่ทำตามก็สามารถลดยาหรือหยุดยาได้ แต่ไม่ใช่ว่าออกกำลังกายแล้วจะช่วยให้หายทุกรายเสมอไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ลดการใช้ยาได้ 

Eating คือ อาหารการกิน เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไข้ภูมิแพ้ รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่น ๆ 

Environment คือ สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิแพ้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมลพิษต่าง ๆ ฝุ่น ควัน บุหรี่ 

Emotion คือ อารมณ์ ความเครียด ซึมเศร้า มีผลทำให้ภูมิแพ้กำเริบ จึงต้องรู้วิธีที่จะบริหารจัดการกับอารมณ์ของตัวเองด้วย”

หลัก 4 Es นี้ นอกจากจะใช้ได้ผลในคนไข้ภูมิแพ้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ช่วยให้ห่างไกลจากโรคอื่น ๆ

ดูแลรักษา \'โรคภูมิแพ้\' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

6 กลุ่มอาหารต้านโรคภูมิแพ้

การรับประทานอาหาร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนที่ใส่ใจกับการดูแลรักษาร่างกายด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ซึ่ง 6 อาหารต้านภูมิแพ้ มีดังนี้ 

1.กลุ่มวิตามินซี: วิตามินซี มีส่วนช่วยในการป้องกันการหลั่งฮีสตามีน ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ร่างกายสร้างขึ้นและทำให้เกิดอาการภูมิแพ้
อาหารเพิ่มวิตามินซี 

วิตามินซีพบมากในผักใบเขียว เช่น ตำลึง ผักโขม บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น สับปะรด ส้ม สตรอเบอรี่ มะนาว โดยวัตถุดิบเหล่านี้สามารถดัดแปลงเมนูได้ตามที่คุณต้องการ

2.กลุ่มวิตามินเอ: ช่วยในเรื่องการสร้างเนื้อเยื่อ และช่วยเสริมสร้างเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินหายใจและทางเดินอาหารให้สมดุล
อาหารเพิ่มวิตามิน 

วิตามินชนิดนี้พบมากในกลุ่มผักผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม สีส้ม หรือสีเหลือง เช่น ฟักทอง   แครอท มะละกอสุก มะม่วงสุก แคนตาลูป มะเขือเทศ เป็นต้น

3.กลุ่มโปรตีน : โปรตีนกลุ่มนี้สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายได้ เพราะหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีนคือกรดอะมิโน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการนำไปสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ
อาหารเพิ่มโปรตีน 

อย่างที่ทราบกันดี โปรตีนเป็นหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่ ซึ่งจะมีมากในเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อล้วน อย่างเนื้ออกไก่ เนื้อหมู และไข่ไก่ นอกจากนี้ก็ยังพบได้ในถั่วต่างๆ

ดูแลรักษา \'โรคภูมิแพ้\' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

4.กลุ่มโอเมก้า 3 : โอเมก้า 3 จะช่วยลดอาการอักเสบ ปรับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการตอบสนองต่อเชื้อโรค และสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี
อาหารเพิ่มโอเมก้า 3 

โดยคุณสามารถเลือกทานได้จาก ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลากะพง ซึ่งอาหารกลุ่มนี้อาจมีส่วนไปกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้ ดังนั้นควรตรวจสอบให้แน่นอนก่อนว่าคุณแพ้อาหารทะเลหรือไม่ ส่วนกรดไขมันโอเมก้า 3 ก็มีประโยชน์เช่นกัน พบมากในเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง และผักใบสีเขียวเข้ม

5.กลุ่มซีลิเนียม : สารอาหารกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม หรือสารกระตุ้นภูมิแพ้ได้
อาหารเพิ่มซีลิเนียม 

พบมากในพืชตระกูลหอม เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง เป็นต้น

6.กลุ่มฟลาโวนอยด์เควอเซทิน : สารชนิดนี้เป็นสารต้านอาการแพ้และลดการอักเสบ ช่วยยับยั้งการปล่อยสารฮิสตามินซึ่งทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้
อาหารเพิ่มฟลาโวนอยด์เควอเซทิน 

พบมากในกระเทียม และพืชตระกูลหอม อย่างหอมหัวใหญ่ หอมหัวแดง และในแครอทผักกาดหอม แอปเปิ้ล เป็นต้น

ทั้งนี้ คำแนะนำนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่ได้แพ้อาหารเหล่านี้ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ นอกจากการทานอาหารต้านโรคภูมิแพ้เหล่านี้แล้ว อย่าลืมออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ ร่วมด้วย เพื่อให้คุณมีร่างกายที่แข็งแรงและไกลโรคอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การรักษาภูมิแพ้ให้หายขาดนั้น คงไม่ได้มาจากการทานยาเพื่อรักษาทางเดียว แต่ต้องมีการปรับพฤติกรรมเพื่อทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงด้วย เช่น การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ การทานอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย (กินอาหารถูกกับธาตุ) และพยายามจัดการกับความเครียด

ที่มา: คลินิกแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยมหิดล ,รพ.สมิติเวช ,ภูมิแพ้ก็แพ้เรา