'ง่าย-งาม' ทรงพลัง ส่งต่อแรงบันดาลใจ 'รักษ์ป่า'

'ง่าย-งาม' ทรงพลัง ส่งต่อแรงบันดาลใจ 'รักษ์ป่า'

รู้จัก 'วิน-กตัญญู วุฒิชัยธนากร' เจ้าของ ภาพ ‘The Beauty of Baleen’ เจ้าของรางวัล Young Wildlife Photographer of the Year 2022 ผู้ที่ถ่ายทอดชีวิตสัตว์ป่าเมืองไทยในธรรมชาติที่งดงาม ผ่านมุมมองที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง  

Key Point : 

  • 'มนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้ แต่ธรรมชาติไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้' คำบอกเล่าของ วิน-กตัญญู ผู้ที่ถ่ายทอดชีวิตสัตว์ป่าเมืองไทย ผ่านภาพถ่าย ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง   
  • ภาพ ‘The Beauty of Baleen’ ปากวาฬบรูด้าอ้ากว้าง เป็นหนึ่งในภาพที่ได้รางวัล Young Wildlife Photographer of the Year 2022
  • ผลงานของ 'วิน' ถูกนำมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการภาพถ่าย 'ง่าย-งาม:Simply the Best' ณ ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้ - 18 ก.พ.67 

 

ภาพ ‘The Beauty of Baleen’ ปากวาฬบรูด้าอ้ากว้าง จนมองเห็นปลากะตักที่ติดกับ 'บาลีน' (Baleen) ที่ดูเหมือนซี่กรอง และเหงือกสีชมพู ตัดกับความเข้มของผิววาฬ มองเผินๆเหมือนขนแปรงหนาๆ ภาพแปลกๆแลดูงงๆ หลายคนมองไม่ออกว่านี้คือ ปากวาฬ ฝีมือ 'วิน-กตัญญู วุฒิชัยธนากร' ที่ได้รางวัล Young Wildlife Photographer of the Year 2022  จัดโดย Natural History Museum, London นำมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการภาพถ่าย 'ง่าย-งาม:Simply the Best' ถ่ายทอดชีวิตสัตว์ป่าเมืองไทยในธรรมชาติที่งดงาม ผ่านมุมมองที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง 

 

ร่วมกับ จอมทัพ เจริญลาภนําชัย เจ้าของรางวัล Highly Commended จาก Wildlife Photographer of The Year เวทีเดียวกับกตัญญู และ ธรรมบุญ อุยยานนวาระ เจ้าของรางวัล Young Category Winner จาก Wild Art Photographer of the Year เพื่อปลูกจิตสำนึกดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่บริเวณผนังโค้งชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงวันที่ 18 ก.พ.นี้  เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสคุณค่าของสัตว์ป่าเมืองไทยผ่านเลนส์ เพื่อปลูกจิตสำนึกดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

'วิน' บอกว่าในความคิดของเขา มนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้ แต่ธรรมชาติไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้ ภาพถ่ายของเขาจึงสื่อความหมายถึงมนุษย์ จะมีส่วนในการรักษาป่าได้อย่างไร ทุกวันนี้ 'วิน' ทำหน้าที่เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของเขา และเป็นวิทยากร ให้กับน้องๆ ตามโรงเรียนต่างๆ บางครั้งก็มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราวกับกลุ่มผู้ใหญ่

 

“การเล่าเรื่อง ป่าและสิ่งแวดล้อม ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ต้องมีวิธีทำให้พวกเขาสนใจก่อน จากนั้นค่อยดึงเข้าสู่เนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่ามีวาฬบรูด้าในอ่าวไทย อ้าปากได้กว้างถึง 90 องศา หรือปู มีฤดูกาลผสมพันธ์ุอย่างไร การเล่าเรื่องที่พวกเขาสนใจในตอนแรก เมื่อเขาจดจ่อกับเราแล้วค่อยพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในช่วงต่อไป” 

 

แต่การรณรงค์ให้ผู้คนในเมืองใหญ่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนพฤติกรรมทันทีและเป็นรูปธรรมไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย วิน หวังเพียงว่าหลังจากได้ชมนิทรรศการ และฟังเรื่องราวของเขา เยาวชนคนรุุ่นใหม่และผู้คนในเมืองใหญ่จะเปลี่ยนพฤติกรรมที่สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปปลูกป่า ด้วยการไม่ทิ้งขยะพลาสติก กินอาหารไม่เหลือทิ้ง เพียงเท่านี้ คนที่อยู่ไกลจากป่า ก็ได้ทำหน้าที่ 'รักษ์ป่า' อย่างง่ายดายแล้ว 

 

 

จริงๆ แล้วทุกคนสามารถช่วยกันรักษาป่าโดยไม่ยากเลย เพียงแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองไป ไม่ใช้อะไรที่เกินตัวเหลือทิ้งเป็นขยะ และเวลาไปเที่ยวป่า ก็ไม่ทิ้งของเหลือใช้ไว้ในป่า ทุกครั้งที่กลับออกมาต้องนำขยะออกมาด้วย เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนช่วยกันทำได้ 

 

'วิน' ชอบสัตว์มาตั้งแต่เด็กและ ศึกษาเรื่องสัตว์อย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 10 ปี เริ่มจากปลา ตามด้วยแมลง และนก เข้าร่วม Bird Walk ครั้งแรกกับสมาคมอนุรักษ์นก (Bird Conservation Society of Thailand-BCST) และอีกไม่เดือนเขาจะเป็นนิสิตคณะ‘สัตววิทยา’ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 

เขาบอกว่าการเป็นช่างภาพสัตว์ป่า เราต้องศึกษาและเรียนรู้นิสัยของสัตว์ที่เราจะถ่ายภาพ ต้องมีระยะห่าง และต้องทำให้สัตว์รู้สึกคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัยเพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพได้ ภาพวาฬบรูด้าในอ่าวไทยอาจกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในแง่หนึ่ง แต่นอกเหนือจากนั้นคืออยากกระตุ้นให้คนศึกษาหาข้อมูล และเรียนรู้วิธีวางตัวระหว่างคนกับธรรมชาติให้เหมาะสม

 

“อยากให้เริ่มจากการที่คนเห็นรูปแล้วสนใจ ศึกษา และนำไปสู่การอนุรักษ์ มากกว่าแค่การบันทึก” วินกล่าวทิ้งท้าย 

 

คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ 

'มานนีย์ พาทยาชีวะ' เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า การถ่ายทอดชีวิตสัตว์ป่าผ่านเลนส์อันทรงพลังของช่างภาพ เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศของป่าและสัตว์ป่า ซึ่งจะนำไปสู่การปลูกจิตสำนึกในการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในสังคมวงกว้าง ส่งต่อแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติและแนวทางการใช้ชีวิตที่สร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติ สัตว์ป่า และมนุษย์ บนหลักการที่ว่า 'คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้'

 

รายได้ส่วนหนึ่งจากภาพถ่าย 'ง่าย-งาม:Simply the Best' และภาพถ่าย 'นกกินปลีหางยาวเขียวและกวางผา' สัตว์ป่า ที่โดดเด่นในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ EGCO Group และ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี จะมอบให้แก่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าเมืองไทย เช่น มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ดูได้ที่ Facebook: ง่าย-งาม : Simply the Best Wildlife Photography Exhibition