เยี่ยมชม “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง” ราชบุรี ติดตามความคืบหน้าศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ

เยี่ยมชม “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง” ราชบุรี ติดตามความคืบหน้าศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ

องคมนตรีลงพื้นที่ เยี่ยมชม “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง” จ.ราชบุรี ติดตามความคืบหน้าศูนย์เรียนรู้ต้นแบบให้ชุมชนเข้ามาศึกษาปฏิบัติตามภายใต้แนวคิด “รวมกลุ่มการผลิต สร้างตลาด อย่างยั่งยืน”

นางสาวประเสริฐ จีนตุ้ม เกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 เกษตรกรตัวอย่าง ที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเกษตรที่ยั่งยืน

โดยเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบให้ชุมชนเข้ามาศึกษาปฏิบัติตามภายใต้แนวคิด “รวมกลุ่มการผลิต สร้างตลาด อย่างยั่งยืน” เปิดเผยว่า โครงการได้นำแนวทางการทำเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งได้ผ่านการศึกษาทดลองและประสบความสำเร็จแล้วขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของเกษตรกร ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายรวม 30 คน  ปลูกพืชผักแบบผสมผสานครบวงจร เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโพด อ้อยคั้นน้ำ พืชผักตามฤดูกาล

พร้อมแปรรูปผลผลิตเพื่อจำหน่าย เช่น น้ำอ้อยสด น้ำเชื่อมไซรัป น้ำตาลอ้อย ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว น้ำข้าวกล้องและข้าวฮาง ส่วนผักสวนครัวจะเก็บขายแบบสดทุกวัน  

“สมาชิกเครือข่ายจะมีรายได้ทั้งแบบรายปี รายเดือน และรายวัน โดยผลผลิตจะนำมาวางจำหน่ายที่ร้านขายผลผลิตซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ ทุกวัน ส่วนวันจันทร์และวันพฤหัสจะนำไปขายที่โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี ” นางสาวประเสริฐ จีนตุ้ม กล่าว

เยี่ยมชม “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง” ราชบุรี ติดตามความคืบหน้าศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ

ด้านนางปราณี มุมมาลา เกษตรกรตัวอย่าง ที่ได้รับรางวัลที่ 2 เกษตรตัวอย่าง ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเกษตรที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ความสุขของฉัน คือการให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี” เปิดเผยว่า ได้ทำการเกษตรในพื้นที่ทำกินของตนเองบนพื้นที่ 3 ไร่ ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี ผักชี ผักกวางตุ้ง ฟักทอง ผักกาดขาว และกระเจี๊ยบเขียว ด้วยระบบหมุนเวียนแบบผสมผสานเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องจึงมีรายได้ทุกวันๆ ละ 400 ถึง 500 บาท บางช่วงผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาท  สำหรับพืชผักทุกชนิด ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีโดยนำมูลวัว ไก่ ที่เลี้ยงมาใส่พืชผัก นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ขุดสระเพื่อนำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตร  


“ได้ขุดคลองเล็ก ๆ ในพื้นที่เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน โดยในคลองปล่อยหอยขมให้เจริญเติบโตหากินตามธรรมชาติ และปลูกผักบุ้ง บัวแดงให้เป็นอาหารปลา รู้สึกดีใจและปลาบปลื้มที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางในการทำกินในแบบที่พอเพียงและยั่งยืน ทำให้มีกินมีใช้อย่างมีความสุข ได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องออกไปหางานทำที่ห่างไกล” นางปราณี มุมมาลา กล่าว
 
และเมื่อวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566 ได้มีการงานน้อมรำลึกการก่อตั้งโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม และงานวันดินโลก ปี 2566 “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง”  ณ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โอกาสนี้นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานการจัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชดำริให้ศึกษาหาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ โดยดำเนินการลักษณะเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน

โดยสำนักงาน กปร. ร่วมกับโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และจังหวัดราชบุรี ร่วมจัดขึ้น  
นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิธิการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า  ภายในงานมีนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  และการ สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเปิดศูนย์ฯ ให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการ อาทิ แปลงสาธิตการเพาะปลูก การปรับปรุงดิน  กิจกรรม DIY  การผลิตกระถางรักษ์โลก การเพ้นท์สีน้องดินลูกรัง และการสานหมวกจากวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น

เยี่ยมชม “ผืนป่าและแผ่นดินที่พ่อสร้าง” ราชบุรี ติดตามความคืบหน้าศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ
“ชาวบ้านในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จะเข้ามาเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาดินลูกรัง ดินตื้นไม่สามารถทำการเกษตรได้ ให้กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ที่เป็นเกษตรกรตัวอย่างอยู่บริเวณรอบโครงการประมาณ 10 กว่าแปลง เกษตรกรเหล่านี้จะมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย ร่วมกันขยายผลองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ไปสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขยายผลสำเร็จของโครงการสามารถขยายสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน” นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย  กล่าว 


ทั้งนี้ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันได้ขยายผลองค์ความรู้การพัฒนาไปสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป จำนวน 6,155 ครัวเรือน ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ กลับคืนความสมบูรณ์ โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่าไม้ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ คือ การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกพบว่าสภาพป่าที่เป็นป่าเต็งรังกลายเป็นป่าเบญจพรรณอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานกว่า 100,000 คน และมีผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ถึง 290 คน ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถเข้าเที่ยวชม และศึกษาดูงาน แปลงสาธิต ตลอดถึงจับจ่ายผลผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเกษตรขยายผลของศูนย์ฯ ได้ทุกวัน ณ  โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี