“คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้” แหล่งรายได้ใหม่ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด

“คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้”  แหล่งรายได้ใหม่ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด

ในปัจจุบันคาร์บอนเครดิตเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายจากที่ต่างๆ เพื่อข้อมูลการชดเชยการปล่อยคาร์บอน แต่มีอีกหนึ่งส่วนที่เป็นแหล่งลดคาร์บอนได้ไม่แพ้กันคือ การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้

พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต กล่าวงานฟอรั่มไม้มีค่า ภายใต้ Theme “สร้างเสน่ห์ ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community“ ช่วง เสวนา ”ชวนคุยชวนคิด ปลูก ไม้มีค่าจากต้นกล้า สู่ Carbon Neutrality

คาร์บอนเครดิต " จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า แนวทางภาพรวมการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยนั้น ต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68% ในปี พ.ศ.2583 และ 74% ในปี พ.ศ.2593 รวมถึงการ ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี พ.ศ.2593 และใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCUS) และการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนเป็นกระบวนการสกัดพลังงานชีวภาพ (BECCS) รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดทั้งในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ.2588

ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานแต่เพียงอย่างเดียว การปลูกต้นไม้ ตามแผนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2580 - 2608

นอกจากนี้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ได้มีสนับสนุนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits)ในภาคป่าไม้ โดยดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลด-กักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการ T-VER หรือการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Project :T-VER) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ อบก. และถูกบันทึกในระบบทะเบียนของ อบก. ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ Standard และ Premium โดยมีเงื่อนไขการดำเนินโครงการดังนี้ 1.เป็นไม้ยืนต้น (ชนิดใดก็ได้) ที่มีเนื้อไม้ และอายุยืนยาว 2.มีหลักฐานเอกสารแสดงสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้นๆ ยินยอมให้ดำเนินการ

โดยสถิติโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 51 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 361,966 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี โครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต 8 โครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิต 123,708 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎาภรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก. ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2570

“คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้”  แหล่งรายได้ใหม่ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด

ผลึก อาจหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งธนาคารต้นไม้ โดยเริ่มจากครอบครัวละ 9 ต้น ทำให้ชุมชนเกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ สร้างรายได้ไปกว่าปีละ 100 ล้านบาท และได้มีการร่วมกับ อบก. ในการให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และได้มีการตั้งงบสนับสนุนชุมชน 100 บาท/ ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้อีกด้วยโดยปัจจุบันมีต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดที่รับเป็นหลักประกันซึ่งมีราคากลางในการประเมินต้นไม้ได้ โดยปัจจุบันนั้นมีผู้รับสินเชื่อเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว

ประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการกรรมการผู้จัดการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า บทบาทของป่าไม้สามารถเพิ่มเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ ต้องปลูกแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ อย่าง ยางพารา ไม้สัก ยูคาลิปตัส ในส่วนคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นรายได้เสริมโดยมีค่าเฉลี่ยคือ 259 บาท และมีการประมาณรายได้ 120 ล้านบาท ในพื้นที่ 2 แสนไร่ ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งได้ต้นทุนการตรวจที่ลดลงอีกด้วย

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า ธุรกิจปลูกป่าทำรายได้ 18% ต่อปี ถือเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ซึ่งมีการให้คาร์บอนเคดิตที่สูง โดย 70% ของคาร์บอนเครดิตมาจาก ยางพารามากถึง 120 ล้านตันคาร์บอนซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อความยั่งยืนในการดูดซับคาร์บอนและสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย

เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นสองสิ่งนี้อาจสวนทางกันแต่ปัจจุบัน “คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้” อาจเป็นคำตอบของสองสิ่งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีด้วย 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์