“eTree” แพลตฟอร์มป่าปลูก ล้อมรักษ์ป่าไม้เพื่อเป้าหมายความยั่งยืน

“eTree” แพลตฟอร์มป่าปลูก  ล้อมรักษ์ป่าไม้เพื่อเป้าหมายความยั่งยืน

“ป่าไม้” กับ“การค้า”เป็นเรื่องที่น่าจะไปด้วยกันได้ยาก ท่ามกลางการเรียกร้องอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ แต่หากทำสองสิ่งนี้ให้อยู่ร่วมกันได้ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันการอนุรักษ์ป่าไม้

 ที่เป็นป่าจริงๆอาจทำได้เต็มศักยภาพมากขึ้นเพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องนำป่าไม้ไปป้อนดีมานด์ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป  

สุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายมิติ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 15% ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2580 ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ที่ 31.68% เท่านั้น การเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 9% หรือ 27 ล้านไร่ จึงเป็นความท้าทาย

อย่างยิ่ง 

 "ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการรักษาพื้นที่ป่าจากการบุกรุกทำลาย ทั้งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

และการนำพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรม และแม้จะมีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

 ดังนั้นกรมป่าไม้จึงได้นำระบบ eTree แพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ เพื่อช่วยในการลงทะเบียนต้นไม้และบริหารจัดการไม้ ส่งเสริมให้เกิดป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน พร้อมยังช่วยปลดล็อกให้เกิดการปลูกและการตัดจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตรับรองถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึงเป้าหมาย

กรมป่าไม้และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม eTree ขึ้น เพื่อรองรับการลงทะเบียนการปลูกไม้เศรษฐกิจสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าตามพระราชบัญญัติสวนป่าได้ ระบบ eTree จะอำนวยความสะดวกเกษตรกร ทั้งในด้านบริหารจัดการไม้ในที่ดินและจัดทำหนังสือสำแดงความถูกต้องด้วยตนเอง การตัดไม้ที่ขึ้นในที่ดิน และนำขนย้ายไปจำหน่าย โดยมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับซื้อขายเป็นรายต้น/ท่อน และแบบน้ำหนัก/ปริมาตร จากข้อมูลต้นไม้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ 

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าว ยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า หากจัดทำข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะสามารถลดความเสี่ยงของไม้และสินค้าไม้ผิดกฎหมายที่จะเข้ามาหมุนเวียนในตลาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งกำเนิดได้ เมื่อไม้และสินค้าไม้ในตลาดนั้นมาจากกระบวนการปลูกและทำไม้ที่ถูกกฎหมาย ตลาดสินค้าไม้จะขยายตัวและเกิดการค้าไม้ที่ยั่งยืนขึ้นในประเทศไทย

บุญสุธีย์ จีระวงค์พานิช ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า เกษตรกรสามารถขึ้นทะเบียนไม้ที่ปลูกได้ 2 ระบบ คือ ขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าผ่านระบบสวนป่าออนไลน์ และ ขึ้นทะเบียนระบบ eTree เพื่อสำแดงการเพาะปลูกไม้อย่างถูกต้องบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งแพลตฟอร์ม eTreeจะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการข้อมูล การทำเอกสารสำแดงตนเองผ่านระบบออนไลน์สำหรับเกษตรกรและชุมชน เพื่อใช้ในการยืนยันเอกสารสิทธิ์ทางการค้าในเอกสารที่ดิน แหล่งกำเนิดของไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้ช่วยในการเตรียมเอกสารเบื้องต้นสำหรับใช้ในการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เช่น หลักฐานการถือครองที่ดิน ข้อมูลผลิตภัณฑ์ไม้ สัดส่วนการใช้ประโยชน์และสภาพพื้นที่ป่า รวมถึงช่วยจัดทำฐานข้อมูลต้นไม้เพื่อเป็นหลักฐานในการเคลื่อนย้าย การค้าขายผลิตภัณฑ์ไม้ และการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ในแปลงปลูก ตลอดจนการพัฒนาการจัดทำรายงานและ QR Code เพื่อแสดงผลแหล่งที่มา นอกจากนี้แพลตฟอร์ม eTree ยังมีประโยชน์ในการช่วยเก็บข้อมูลความต้องการใช้งานจริงจากภาคประชาชนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการเชื่อมข้อมูลจากภาคประชาชน ไปสู่ระบบ RFD-Single window ช่วยให้กรมป่าไม้สามารถเข้าถึงและนำหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืนไปสู่ชุมชน ภาคประชาชนง่ายยิ่งขึ้น และช่วยให้กรมป่าไม้เข้าถึงระบบสารสนเทศของชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน พบว่ามีการลงทะเบียนต้นไม้ในระบบ eTree มากกว่า 580,000 ต้น และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 30,000 ไร่ โดยมีผู้ลงทะเบียนในระบบแล้วมากกว่า 5,000 คน ดังนั้น การนำระบบ eTree มาใช้ จึงเป็นทางออกของประเทศในการสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้กับตลาดการค้าไม้ นำไม้ที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย ลดการลักลอบตัดไม้ ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการค้าไม้อย่างถูกต้องเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างธุรกิจต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และสนับสนุนให้เกิดการค้าไม้อย่างยั่งยืนในประเทศไทย