เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

ศึกร้านสะดวกซื้อระอุ! เหล่าเจ้าสัวเดินหน้าสยายปีก-ปรับพอร์ตรีเทลคึกคัก ด้าน “เซ็นทรัล” ถอนคันเร่ง “FamilyMart” แต่งตัวใหม่เป็น “Tops Daily” ฟาก “มังกรคีรี” ขอลุยค้าปลีก ดัน “Turtle” คอนวีเนียนสโตร์บนรถไฟฟ้าประเดิม 15 สาขาทั่วกรุง

Key Points:

  • สนาม “ร้านสะดวกซื้อ” ระอุ เหล่าเจ้าสัวขอกินแบ่งไม่กินรวบ! ฟากเจ้าสนามเดิม “เซ็นทรัล-กลุ่มไทยเบฟฯ” เร่งปรับพอร์ต ยังตามหลัง “ซีพี” หลายเท่าตัว
  • “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” มาแรง แม้เพิ่งกระโดดเข้าตลาดได้ไม่นาน แต่มีรายได้แตะ “หมื่นล้านบาท” ตั้งเป้าโตทะลุ 2,000 สาขา กวาดรายได้ 40,0000 ล้านบาท เตรียม IPO เร็วๆ นี้
  • หน้าใหม่กว่าใครอย่าง “เทอร์เทิล” ใต้ปีก “เจ้าสัวคีรี” ยักษ์ฝั่งขนส่งขอแชร์ตลาดด้วย เปลี่ยนพื้นที่บนสถานีให้เป็นร้านสะดวกซื้อแล้ว 15 แห่ง


กระแสข่าวเปิดเกมรุกธุรกิจ “ร้านสะดวกซื้อ” ของ “เจ้าสัวเจริญ” แห่งอาณาจักรไทยเบฟฯ ได้รับความสนใจทันทีหลังสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า “กลุ่มไทยเบฟฯ” เตรียมบุกสมรภูมิคอนวีเนียนสโตร์นำโดย “เบอร์ลี ยุคเกอร์” หรือ “บีเจซี” หนึ่งในกลุ่มธุรกิจเรือธงของตระกูลสิริวัฒนภักดี โดยใช้โมเดลบุกร้านขายของชำกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ “กลุ่มบีเจซี” จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนโลจิสติกส์ แผนการตลาด และจัดทำข้อมูลให้กับร้านค้า พร้อมทั้งแปลงโฉมร้านชำให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อยุคใหม่แลกกับการนำสินค้าของบริษัทในเครือวางจำหน่ายในปริมาณขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้

นอกจาก “กลุ่มไทยเบฟฯ” ที่เตรียมเดินหน้าลุยตลาดค้าปลีกเต็มสูบ ในรอบปีที่ผ่านมาเรายังได้เห็นความเคลื่อนไหวของบรรดาเจ้าสัว ตั้งแต่ “เจ้าตลาด” ที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกมาหลายทศวรรษ ทำการปรับทัพ-เปลี่ยนเกมเพื่อตอบสนองเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง “เจ้าสัวข้ามห้วย” อย่าง “คีรี กาญจนพาสน์” ยักษ์ฝั่งคมนาคมที่ปีนี้ขอเหยียบคันเร่ง เปิด “เทอร์เทิล” (Turtle) ร้านสะดวกซื้อทำเลทองบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ขณะนี้ปักธงไปแล้วทั้งสิ้น 15 สาขา

เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

  • เจ้าสนามเตรียมสู้ศึก “ซีพี-เซ็นทรัล-บีเจซี” ฮึ่มปรับพอร์ต

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เซ็นทรัล รีเทล” ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงภาพรวมการขยายสาขาของ “แฟมิลี่มาร์ท” (FamilyMart) ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นที่ “เซ็นทรัล รีเทล” หรือ “CRC” เข้าซื้อหุ้นเต็มจำนวนในปี 2563 ว่า ขณะนี้ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กเพียง 150 ตารางเมตรไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกต่อไป โดยมองว่า แบรนด์ในเครืออย่าง “ท็อปส์” ที่มีเนื้อที่กว้างขวางมากกว่าจะมาช่วยอุดรอยรั่วภาพรวมตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจาก “แฟมิลี่มาร์ท” เข้ามาอยู่ใต้ร่ม “CRC” เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็พบว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งการเพิ่มจำนวนสาขา-ทุ่มทำตลาดให้กับคอนวีเนียนสโตร์แห่งนี้กลับถูกลดบทบาทลง “เซ็นทรัล รีเทล” เทความสนใจไปไปที่อาณาจักร “ท็อปส์” (Tops) มากกว่า ตั้งแต่การประกาศยกเลิก “ซับแบรนด์” ควบรวมซูเปอร์มาร์เก็ตตระกูลท็อปส์เป็นหนึ่งเดียว ตอกย้ำกลยุทธ์การเดินเกมของ “เซ็นทรัล รีเทล” ว่า หลังจากนี้ขอลุยค้าปลีกโดยมี “ท็อปส์” เป็นด่านหน้า “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังแหล่งข่าว “เซ็นทรัล รีเทล” เพิ่มเติมก็ได้รับคำตอบว่า ตอนนี้มีการแปรสภาพ “แฟมิลี่มาร์ท” เป็น “ท็อปส์ เดลี่” เรียบร้อยแล้ว ทำให้ปัจจุบันจำนวนสาขาของ “ท็อปส์ เดลี่” อยู่ที่ 525 สาขา

เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

ด้าน “ซีพี ออลล์” เจ้าตลาดที่ลุยมาตั้งแต่ยังไม่มีคู่แข่งชุกชุมย่อม “ทิ้งห่าง” ไปไกลกว่ารายอื่นๆ ในสนามเดียวกัน ปัจจุบันตัวเลขสาขา “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ทั้งประเทศอยู่ที่ 14,215 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 6,132 สาขา และต่างจังหวัดอีก 8,083 สาขา โดยโมเดลที่ทำให้ร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เติบโตไม่ได้มาจากการ “ลุยเดี่ยว” เท่านั้น แต่ยังให้สิทธิบริหาร “Sub-Area License” หรือการรับสิทธิช่วงอาณาเขตบริหารแฟรนไชส์ให้กับ “4 กลุ่มทุนภูธร” ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2530 ได้แก่ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ดูแลพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.แม่ฮ่องสอน, “กลุ่มงานทวี” ดูแลพื้นที่ จ.ภูเก็ต จ.ระนอง จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.ตรัง, “กลุ่มยิ่งยง” ดูแลพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ และ จ.อำนาจเจริญ และ “กลุ่มศรีสมัย”  ดูแลพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส

ข้อได้เปรียบอีกประการ คือร้านค้า “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ครอบครองวัตถุดิบ-ทรัพยากรการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีโรงงานผลิตสินค้า “Only at 7-Eleven” มีซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่ผูกปิ่นโตกันมาหลายสิบปี ทำให้ร้านค้า “เซเว่น-อีเลฟเว่น” กลายเป็น “Generic Name” ที่ใช้เรียกแทนประเภทร้านสะดวกซื้อในไทยไปแล้ว นี่คือความสำเร็จของ “ยักษ์ตลาด” ที่แข็งแกร่งจนใครก็ยากจะล้มช้างตัวนี้ได้ หากดูจากตัวเลขสาขา “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ก็ทิ้งห่างคู่แข่งมาไกลมากกว่าเท่าตัว รวมถึงรายได้และกำไรสุทธิของ “ซีพี ออลล์” ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยปีล่าสุด (ปี 2565) รายได้ “บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)” เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 19.37 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีก 26.22 เปอร์เซ็นต์ 

สำหรับ “บิ๊กซี มินิ” ใต้ปีก “เจ้าสัวเจริญ” มีพื้นที่ชุมชนขนาดเล็กเป็นเป้าหมายสำคัญในการเจาะตลาด ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาก่อนลุยขยายโมเดลร้าน “โดนใจ” ช่วงปลายปี 2565 มีกระแสข่าวออกมาว่า “บิ๊กซี” (Big C) จะถูกแยกออกจาก “บีเจซี” (BJC) เตรียม IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเดือนสิงหาคม 2566 “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” แม่ทัพใหญ่แห่ง “บิ๊กซี รีเทล” ก็ได้ออกมาประกาศว่า แผน IPO ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดอันเนื่องมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกขณะนี้

เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

  • “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” ตั้งเป้า 2,000 สาขา กางโมเดล “ซีเจ มอร์” เอาชนะสะดวกซื้อไซซ์เล็ก

ร้านสะดวกซื้อที่นิยามตัวเองว่า เป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต เติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” จากคาราบาวแดง กรุ๊ป เข้าซื้อหุ้นมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 เปิดประเดิมสาขาแรกที่ จ.ราชบุรี ในปี 2548 และมีการขยายสาขาไปยังจังหวัดรอบนอกแถบภาคตะวันตกและภาคกลางบ้างประปราย กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ “เจ้าสัวเสถียร” หันมาให้ความสนใจธุรกิจร้านสะดวกซื้อ จนทำให้ “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” ขยายสาขาไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

แต่ถึงอย่างนั้น “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” ภายใต้การบริหารของ “เสถียร” ก็ยังใช้วิธีทำการตลาดคล้ายเดิม คือตีหัวคนซื้อเข้าบ้านด้วยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” เริ่มจากการเปิดสาขาในต่างจังหวัดจนเริ่มเป็นที่พูดถึง แล้วค่อยๆ ขยายเข้ามาแถบในเมือง นัยหนึ่งก็เพื่อเลี่ยงการชนกันตรงๆ กับสะดวกซื้อ “เจ้าถิ่น” ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วไทยนับหมื่นแห่ง ทว่า สิ่งที่ทำให้โดดเด่น คือขนาดร้านค้าที่สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภค มีสินค้าให้เลือกหลากหลายราวกับยกศูนย์การค้าย่อมๆ มาไว้ใกล้บ้าน

เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

ปัจจุบัน “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” มีโมเดลธุรกิจสองแบบ คือ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” เน้นสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค มีพื้นที่ขนาด 100-300 ตารางเมตร ส่วน “ซีเจ มอร์” มีเนื้อที่ราว 10 ไร่ ใหญ่กว่าเดิมสิบเท่าตัว “เสถียร” มั่นใจว่า โมเดลค้าปลีกแบบ “ซีเจ มอร์” จะเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างในน่านน้ำแข่งดุแห่งนี้ได้ พร้อมกันนี้ยังลุยปั้นแบรนด์สินค้าในเครืออีกมากมาย อาทิ “นายน์ บิวตี้” (Nine Beauty) สินค้าประเภทเครื่องสำอาง “อูโนะ” (UNO) สินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องเขียน “เพ็ท ฮับ” (PET  HUB) สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงครบวงจร ฯลฯ ขยาย “อีโคซิสเทม” ให้เครือซีเจ เอ็กซ์เพรส ครบครันมากยิ่งขึ้น

หลังจากนี้ “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” ตั้งเป้าขยายสาขาครอบคลุมทั่วไทยให้ครบ 2,000 แห่ง ปักหมุดรายได้แตะ 40,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ส่วนแผนการเข้าตลาดหุ้นจากเดิมที่มีแผนยื่นไฟลิ่งภายในปี 2566 ขณะนี้ได้มีการชะลอออกไปก่อนแล้วด้วยเหตุผลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจคล้ายกับฟาก “บิ๊กซี รีเทล” 

  • ยักษ์ขนส่ง “มังกรคีรี” ขอลุยค้าปลีกด้วย

หนึ่งในมหาเศรษฐีไทยแห่งอาณาจักร “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ประเดิมร้านสะดวกซื้อ “เทอร์เทิล” สาขาแรกไปในช่วงปลายปี 2564 ก่อนจะขยายต่อในปี 2565 และ 2566 รวมทั้งสิ้นตอนนี้กว่า 15 แห่ง เดิมที “กลุ่มเทอร์เทิล” ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์และหนังสือมาก่อนในนาม “บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)” ก่อนแปรสภาพมาเป็น “บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน)” โดยปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น “บริษัท พอยท์ ออฟ วิว (พีโอวี) มีเดีย กรุ๊ป จำกัด” ส่วน “บริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตอนนี้มีสัดส่วนถือหุ้นในกลุ่มเทอร์เทิล 14.58 เปอร์เซ็นต์

เทียบฟอร์ม ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ใต้ปีก ‘เจ้าสัวไทย’

การมาถึงของ “เทอร์เทิล” ในสนามค้าปลีกนับเป็นเรื่องที่สร้างความท้าทายให้กับวงการร้านสะดวกซื้อไม่น้อย จากเดิมที่ชิงเค้กกันในกลุ่มเจ้าสัว ผลัดกันรุกรับมาหลายทศวรรษ คอนวีเนียนสโตร์บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีความได้เปรียบเรื่อง “ยอดทราฟฟิก” ผู้ใช้งาน จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งดั้งเดิมนำไปสู่แต้มต่อที่แหลมคมให้กับธุรกิจใหม่ สมรภูมิร้านสะดวกซื้อหลังจากนี้ต้องติดตามต่อกันอีกยาวๆ

 

อ้างอิง: Bangkokbiznews 1Bangkokbiznews 2Bangkokbiznews 3Bangkokbiznews 4Bangkokbiznews 5Bangkokbiznews 6BrandAgeBrand BuffetCJ ExpressCreden Data