ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’

เจาะอาณาจักร “4 ทุนภูธร” ตันตราภัณฑ์-งานทวี-ยิ่งยง-ศรีสมัย ผงาดค้าปลีกท้องถิ่น ถือ “Sub-Area License” บริหาร “เซเว่น-อีเลฟเว่น” นาน 3 ทศวรรษ

Key Points:

  • การเข้ามาของร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เมื่อ 34 ปีที่แล้ว นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล “ซีพี ออลล์” ต้องการบุกตลาดต่างจังหวัดควบคู่ไปด้วย “กลุ่มซีพี” จึงให้ “Sub-Area License” กับ 4 กลุ่มทุนรายใหญ่ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มตันตราภัณฑ์ กลุ่มงานทวี กลุ่มยิ่งยง และกลุ่มศรีสมัย
  • การเติบโตของ “4 กลุ่มทุนเก่าแก่” มีต้นกำเนิดจากร้านโชห่วย-ขายของชำ ก่อนแตกไลน์ธุรกิจไปยังเซกเมนต์อื่นๆ โดยกลุ่มตันตราภัณฑ์โด่งดังจาก “ห้างตันตราภัณฑ์” กลุ่มยิ่งยงโตจาก “ยิ่งยงสรรพสินค้า” กลุ่มศรีสมัยมีรากฐานจาก “ศรีสมัยค้าส่ง” ส่วนกลุ่มงานทวีมีธุรกิจหลากหลาย จากร้านของชำพลิกไปทำเหมืองแร่-สวนยางพารา
  • ทั้ง “4 กลุ่มทุน” มีรายได้จากการถือ “Sub-Area License” หลักพันล้านบาททุกปี 


ปี 2532 ชื่อของ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในไทย หลังบริษัท “ซีพี ออลล์” ตัดสินใจเลือกย่านพัฒน์พงษ์ ใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นที่ตั้งของร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” สาขาแรก ขณะนั้นร้านสะดวกซื้อสไตล์ “คอนวีเนียนสโตร์” (Convenienece Store) ถือเป็นร้านค้ารูปแบบใหม่ที่ยังไม่ได้รับความนิยมในไทยมากนัก การเข้ามาบุกตลาดของ “ซีพี ออลล์” จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่มาพร้อมกับการบุกเบิก “น่านน้ำแห่งใหม่” ในไทยไปพร้อมกัน

ขณะนั้น “ซีพี ออลล์” ทำการตลาดอย่างหนักเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ-เข้าถึงร้านค้าคอนวีเนียนสโตร์มากขึ้น โดยมีทั้งกลยุทธ์การขายสิทธิแฟรนไชส์ เปิดรับสมัคร “Business Partner” ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป้าหมายในการขยายอาณาจักร “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ผุดราวกับดอกเห็ดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนไปแล้ว

“ซีพี ออลล์” คิดหาลู่ทางขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทว่าความเฉพาะตัวของผู้บริโภคแต่ละท้องถิ่นนั้นไม่ง่าย โมเดลที่ “ซีพี ออลล์” เลือกใช้ คือ “Sub-Area License” หรือการรับสิทธิช่วงอาณาเขตบริหารแฟรนไชส์รวมทั้งขยายกิจการได้เพิ่มเติม โดยที่ “แฟรนไชส์ซอร์” (Franchisor) ให้สิทธิบริหารในพื้นที่กับ “แฟรนไชส์ซี” (Franchisee) อย่างเต็มที่

หลักการ คือ หากบริษัทแม่ให้สิทธิ “Sub-Area License” แก่แฟรนไชส์ซีเจ้าใดเจ้าหนึ่งไปแล้ว จะไม่มีใครได้รับสิทธิให้เข้ามาเปิดกิจการในอาณาเขตเดียวกันได้อีก ซึ่งอำนาจในการบริหารของผู้ได้รับซับไลเซนส์ยังสามารถขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจเปิดร้านค้า “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ได้ด้วย เพื่อให้การขยายสาขาเป็นไปตามที่ผู้ถือไลเซนส์ตกลงกับบริษัทแม่ไว้

ฉะนั้น การเลือกผู้ที่จะมาถือสิทธิ “Sub-Area License” จึงต้องมีความเข้าใจตลาดในพื้นที่เป็นอย่างดี “ซีพี ออลล์” ปิดดีลให้สิทธิถือซับไลเซนส์กับ 4 กลุ่มทุนภูธรตั้งแต่ทศวรรษ 2530 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มตันตราภัณฑ์ กลุ่มงานทวี กลุ่มยิ่งยง และกลุ่มศรีสมัย ทั้ง 4 กลุ่มทุนมีประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปในการดำเนินธุรกิจในพื้นที่มายาวนาน โดยนอกจากการทำธุรกิจถือสิทธิซับไลเซนส์ในพื้นที่แล้ว 4 กลุ่มทุนนี้ยังประกอบกิจการอื่นๆ ในเซกเมนต์ที่ใกล้เคียงกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น “กลุ่มตันตราภัณฑ์” กลุ่มทุนเก่าแก่ในจ.เชียงใหม่ เติบโตจากร้านขายของชำสู่การทำกิจการห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดสด หรือ “กลุ่มงานทวี” ทุนเก่าแก่ในจ.ภูเก็ต ยึดหัวหาดมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วจากต้นตระกูลชาวจีนโล้สำเภา สู่การก่อร่างสร้างอาณาจักร “งานทวี” จนสามารถผูกโยง-สร้างเครือข่ายธุรกิจในพื้นที่ได้อย่างแข็งแรงจนถึงปัจจุบัน 

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’

  • “ตันตราภัณฑ์” เกิดจากร้านชำ สู่ห้างสรรพสินค้า แกร่งด้วย “ซูเปอร์มาร์เก็ต”

กลุ่มตันตราภัณฑ์ของตระกูล “ตันตรานนท์” มีต้นตระกูลเป็นชาวจีนชื่อว่า “เถ้าแก่ง่วนชุน” เริ่มต้นจากการเปิดร้านขายของชำเรือนไม้ 2 ชั้น ริมถนนวิชยานนท์ ใกล้กับตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรสหรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า “กาดหลวง” เมื่อธุรกิจร้านโชห่วยเติบโตมากขึ้น ลูกชายอย่าง “ธวัช ตันตรานนท์” จึงคิดหาลู่ทางขยายกิจการ-ขยับสู่การทำห้างสรรพสินค้า “ตันตราภัณฑ์”

จากร้านขายของชำที่เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนจำพวกน้ำปลา น้ำตาล เกลือ ฯลฯ ห้างแห่งนี้เน้นไปที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบที่ยังไม่เคยมีร้านค้าแห่งใดในจ.เชียงใหม่ทำมาก่อน “ธวัช” เน้นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ บินไปดูงานที่ต่างประเทศบ่อยครั้งเพื่อหาสินค้ามาวางขาย สร้างความแตกต่างให้กับห้างตันตราภัณฑ์จนลูกค้าที่กรุงเทพฯ บินมาซื้อสินค้าเป็นประจำ

จุดเปลี่ยนสำคัญของ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2530 “กลุ่มเซ็นทรัล” และบรรดา “ดิสเคาต์สโตร์” เริ่มขยายตลาดมายังภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น กลุ่มตันตราภัณฑ์เคยฮึดสู้ด้วยการมุ่งหน้าสู่กิจการศูนย์การค้า ปัดฝุ่นพื้นที่ด้านข้างสนามบินเชียงใหม่ลงทุนสร้าง “แอร์พอร์ตพลาซ่า” แต่เมื่อดำเนินกิจการไปสักระยะก็พบว่า ศูนย์การค้าไม่ใช่เกมที่ตนถนัดประกอบกับห้างตันตราภัณฑ์เริ่มถูก “ดิสรัปต์” จากค้าปลีกเซ็นทรัลมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจขายศูนย์การค้า “แอร์พอร์ตพลาซ่า” ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล เหลือไว้เพียง “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ที่เป็นจุดแข็งมาจนถึงปัจจุบัน

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’ -ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” หนึ่งในธุรกิจของ “กลุ่มตันตราภัณฑ์”-

นอกจากธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้ว “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ยังมีรายได้หลักจาก “บริษัท ชอยส์ มินิ สโตร์ จำกัด” บริษัทที่ประกอบกิจการร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.แม่ฮ่องสอน ข้อมูลจาก “Creden Data” เปิดเผยถึงผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2565 พบว่า บริษัท ชอยส์ มินิ สโตร์ จำกัด มีรายได้หลัก “พันล้านบาท” ทุกปี เคยทำรายได้สูงสุด “เฉียดหมื่นล้าน” ในปี 2562 ด้วยตัวเลข 9,396,487,831 บาท กำไรสุทธิ 475,400,569 บาท และยังเป็นกิจการที่สร้างเม็ดเงินให้กับ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในเครือด้วย

  • “งานทวี” ยืนหนึ่งใน “ภูเก็ต” โตจากเหมืองแร่ แตกหน่อสู่ปั๊มน้ำมัน-ปูนซีเมนต์-อสังหาฯ

หนึ่งในตระกูลที่มีอาณาจักรธุรกิจครอบคลุมทุกเซกเมนต์มากที่สุด และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมามากกว่า 100 ปี โดยข้อมูลประวัติความเป็นมาของตระกูล “งานทวี” จากหนังสือ “สาวใยตระกูล “งานทวี” แลวิถีและพลังมังกรใต้” ระบุว่า ต้นตระกูลคือ “จ่ายเหล็ง แซ่หงาน” หรือที่ในเวลาต่อมามีชื่อไทยว่า “ปัญญา งานทวี” เกิดเมื่อปี 2447 อพยพมาจากเมืองจีน มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน

“ปัญญา” เริ่มต้นสร้างอาณาจักรงานทวีจากการสานต่อกิจการร้านขายของชำ “จิ้นเต็ก” ของผู้เป็นพ่อ จากนั้นจึงต่อยอดด้วยการ “ปั้นแบรนด์” ที่ติดตลาดคนในพื้นที่สู่การทำสินค้า “ยี่ห้อจิ้นเต็ก” โดยสินค้าที่ปัญญาหมายมั่นปั้นมือ คือวัตถุดิบที่เป็นสินค้าท้องถิ่นในภาคใต้อย่างการรับซื้อขายเศษแร่และยางพาราซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตระกูลงานทวีมั่งคั่งขึ้นอย่างทวีคูณ เนื่องจากช่วงทศวรรษ 2480 ตรงกับสงครามมหาเอเชียบูรพา มีทหารกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเป็นจำนวนมาก ตระกูลงานทวีได้งานรับเหมาส่งแร่ให้กองทัพญี่ปุ่นทำให้มีเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้อีกหลายอย่างตั้งแต่การทำเหมืองแร่ สวนยางพารา สวนผลไม้ โรงเหล้า โรงฝิ่น โรงไม้ ไปจนถึงธุรกิจค้าขายข้าว หมาก น้ำตาล มีการขยายกิจการส่งสินค้าข้ามถิ่นไปยังกรุงเทพฯ รวมทั้งเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียด้วย

ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา “ตระกูลงานทวี” ผงาดสู่ “ยักษ์ธุรกิจ” ประสบความสำเร็จและมีความมั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทในเครือตระกูลงานทวีมีธุรกิจกระจายตัวอยู่ทั่วภาคใต้ ตั้งแต่โรงงานแปรรูปยางพารา อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ อสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดินและประกอบกิจการโรงแรม ปั๊มน้ำมัน ท่าเรือ บ้านเช่า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’ -โรงแรมรอยัลซิตี้ภูเก็ต หนึ่งในธุรกิจของตระกูล “งานทวี”-

“กรุงเทพธุรกิจ” สืบค้นข้อมูลที่มี “ตระกูลงานทวี” เป็นผู้ถือหุ้น โดยจะยกตัวอย่างบริษัทที่มีผลประกอบการที่น่าสนใจ 5 บริษัท ดังนี้

  • บริษัท ทักษิณคอนกรีต จำกัด (มหาชน): ธุรกิจคอนกรีตอัดแรง มี “บริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด” ถือหุ้นสูงสุด 31.16 เปอร์เซ็นต์
    • รายได้รวมปี 2565: 1,622,320,212 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 77,899,256 บาท
  • บริษัท ปาล์มไทยพัฒนา จำกัด: ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางพารา-น้ำมันปาล์มดิบ มี “บริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด” ถือหุ้นสูงสุด 43.11 เปอร์เซ็นต์
    • รายได้รวมปี 2565: 742,941,636 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 86,222,500 บาท
  • บริษัท สวนยางงานทวี จำกัด: ธุรกิจสวนยางพารา มี “บริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด” ถือหุ้นสูงสุด 42.86 เปอร์เซ็นต์
    • รายได้รวมปี 2565: 321,821,293 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 76,059,070 บาท
  • บริษัท ซี.บี.เอสเตท จำกัด: ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มี “บริษัท ซิตี้ ปาร์ค เซอร์วิส จำกัด” ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์
    • รายได้รวมปี 2565: 144,749,343 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 43,917,430 บาท
  • บริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด
    • รายได้รวมปี 2565: 121,315,308 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 32,068,752 บาท

สำหรับบริษัทในเครือที่บริหารธุรกิจ “Sub-Area License” ร้านค้าเซเว่น-อีเลฟเว่นโดยเฉพาะ คือ “บริษัท งานหนึ่ง จำกัด” ข้อมูลผลประกอบการตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2566 ระบุว่า มีรายได้รวม “พันล้านบาท” ทุกปี ตระกูลงานทวีได้สิทธิบริหารร้านค้าเซเว่น-อีเลฟเว่นใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.ระนอง จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.ตรัง หากเทียบกับผลประกอบการบริษัทในเครือตระกูลงานทวีแล้ว “บริษัท งานหนึ่ง จำกัด” มีรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาจากธุรกิจคอนกรีต-ปูนซีเมนต์หนึ่งในธุรกิจหลักของตระกูลที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้ารายใหญ่ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

  • “ยิ่งยง อุบล” ค้าปลีกที่พร้อมปรับตัวทุกการเปลี่ยนแปลง

ต้นปี 2560 มีรายงานข่าวว่า “ห้างโรบินสันยิ่งยง” เตรียมปิดให้บริการเนื่องจากผู้ก่อตั้งห้างขอนำกลับไปบริหารเอง ต่อมากลางปี 2560 มีรายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) เทขายหุ้นทั้งหมดคืนให้แก่ “บริษัท อุบลพัฒนา 2017 จำกัด” รวมมูลค่า 34 ล้านบาท ซึ่งก็คือ “กลุ่มยิ่งยง” ค้าปลีกชื่อดังในจังหวัดอุบลราชธานี

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อนหน้า แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่ห้างโรบินสันยิ่งยง คือ “ยิ่งยงสรรพสินค้า” ห้างที่มีเส้นทางการเติบโตคล้ายกับค้าปลีกรายอื่นๆ ที่ก้าวมาจากการขายสินค้า “งานการ์เมนต์” อย่างบรรดาเสื้อผ้าแฟชั่น-กางเกงยีนส์ในนาม “ร้านยิ่งยงพาณิชย์” ต่อมากิจการเติบโตจึงย้ายทำเลจากถนนพรหมราชมาอยู่ที่ถนนชยางกูรด้วยพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตร นับว่า เป็นห้างฯ ที่ใหญ่ที่สุดในอุบลฯ ณ ขณะนั้น ทั้งยังมีการติดตั้งบันไดเลื่อนเป็นแห่งแรกในแถบอีสานใต้ด้วย 

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’

-“ห้างโรบินสันยิ่งยง” สมัยที่กิจการยังรุ่งเรือง-

กระทั่งการมาถึงของ “ค้าปลีกรายใหญ่” แทนที่จะต่อต้าน “ไพบูลย์ จงสุวัฒน์” หรือ “โกเฒ่า” ผู้บริหารห้างสรรพสินค้ายิ่งยงเลือกที่จะ “เข้าร่วม” โดยเป็นการผนึกกำลังร่วมกัน จาก “ยิ่งยงสรรพสินค้า” สู่ “ห้างโรบินสันยิ่งยง” ซึ่งขณะนั้นเอง “โกเฒ่า” ก็ได้สิทธิ “Sub-Area License” บริหารร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น 4 จังหวัดอีสานใต้ ภายใต้การบริหารของ “บริษัท ยิ่งยง มินิมาร์ท จำกัด” ควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สิทธิการบริหาร “ห้างสรรพสินค้ายิ่งยง” ที่กลับมาอยู่ในมือของ “โกเฒ่า” อีกครั้งก็ดูจะไม่ง่าย โดย “โกเฒ่า” เขียนบรรยายความรู้สึกของตนเองถึงการแยกทางกับ “โรบินสัน” ครั้งนี้ว่า ตนจะสู้ต่อเพราะเป็นธุรกิจของตระกูลที่อยู่คู่อุบลฯ มานานเกือบ 50 ปี แม้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะมืดมัวแต่ก็จะขอลองอีกสักครั้ง แต่หลังจากนั้นข่าวคราวการปรับพื้นที่ห้างโรบินสันยิ่งยงเดิมก็เงียบหายไป “โกเฒ่า” หันไปพัฒนาพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง ตั้งเป้าสร้างเป็น “คอมมูนิตี้มอลล์” ในชื่อ “Y Square Food Mall”

“โกเฒ่า” เคยให้สัมภาษณ์กับ “BrandAge” ว่า โปรเจกต์คอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงการปรับตัวของธุรกิจท้องถิ่นที่ต้องการเจาะตลาดด้วยการสร้าง “นิช มาร์เก็ต” ของตัวเอง ทั้งยังเลี่ยงที่จะชนกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ขยายตัวมาจากส่วนกลางสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น “Y Square Food Mall” มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ มีพื้นที่ “Co-working Space” รวบรวมร้านอาหารชื่อดังในอุบลฯ ร้านค้าแนวสตรีตฟู้ดราคาย่อมเยา รวมถึงยังมีการดึงร้านเชนชื่อดังมาไว้ที่นี่ด้วย

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’ -“Y Square Food Hall” คอมมูนิตี้มอลล์โฉมใหม่ของ “กลุ่มยิ่งยง”-

นอกจากนี้ “โกเฒ่า” ยังเคยแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า อุปสรรคที่จะพาห้างยิ่งยงไปต่อได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของเงินลงทุน “โกเฒ่า” ยอมรับว่า การปรับปรุงพื้นที่ห้างโรบินสันยิ่งยงเดิมใช้ทุนค่อนข้างสูงจึงหันไปทำ “Y Square Food Mall” แทน ซึ่งนอกจากธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์แล้ว “บริษัท ยิ่งยง มินิมาร์ท จำกัด” ที่ได้รับสิทธิบริหารซับไลเซนส์ของกลุ่มยิ่งยงยังมีผลประกอบการที่น่าพึงพอใจ โดยข้อมูลรายได้ของ “ยิ่งยง มินิมาร์ท” ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2565 พบว่า รายได้รวมอยู่ที่ 3 พันล้านถึง 5 พันล้านทุกปี ปี 2565 มีรายได้รวมสูงสุดถึง 5,572,681,693 บาท กำไรสุทธิ 205,878,521 บาท

  • “ศรีสมัย” ครองภาคใต้ตอนล่าง ยักษ์รีเทลแห่งด้ามขวานทอง

“กลุ่มศรีสมัย” ของตระกูล “ศิริไชย” คร่ำหวอดในแวดวงค้าปลีกมาร่วม 40 ปี “วชิรวิชญ์ ศิริไชย” ผู้บริหาร “บริษัท ศรีสมัยค้าส่ง จำกัด” เคยเล่าบนเวทีงานเสวนา “7 เซียนค้าปลีกภูธร-Provincial Modernized Chain Store” ว่า “ศรีสมัย” เติมโตจากร้านโชห่วยเล็กๆ เพียง 1 ห้อง เมื่อ 40 ปีก่อน ที่ผ่านมาธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้นและในตลาดก็มีคู่แข่งเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค้าปลีกภูธรต้องดิ้นปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่การปรับตัวก็ต้องประเมินจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งศักยภาพธุรกิจของตนเอง คู่ค้า คู่แข่ง ทั้งยังดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมแกร่งระบบหน้าบ้าน-หลังบ้าน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

“ศรีสมัยค้าส่ง” เป็นโกดังสินค้ารายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ ครอบคลุมการจำหน่ายส่งสินค้าทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส รวมทั้งพื้นที่ 4 อำเภอในจ.สงขลาด้วย โดย “กลุ่มศรีสมัย” มีบริษัทและธุรกิจในเครือมากมาย “กรุงเทพธุรกิจ” สืบค้นข้อมูลจาก Creden Data พบธุรกิจที่มี “กลุ่มศรีสมัย” เป็นผู้ถือหุ้น ยกตัวอย่างบริษัทที่มีผลประกอบการที่น่าสนใจ 4 บริษัท ดังนี้

  • บริษัท ศรีสมัยค้าส่ง จำกัด
    • รายได้รวมปี 2565: 1,310,516,235 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 36,009,615 บาท
  • บริษัท ศรีสมัย ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด
    • รายได้รวมปี 2565: 296,882,385 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: 18,128,463 บาท
  • บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด
    • รายได้รวมปี 2565: 197,074,332
    • กำไรสุทธิปี 2565: 18,187,665 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ยะลา
    • รายได้รวมปี 2565: 38,120,546 บาท
    • กำไรสุทธิปี 2565: -46,763,856 บาท

ผ่าอาณาจักร 4 ยักษ์ภูธร ครองสิทธิบริหารร้าน ‘7-Eleven’ -ด้านในร้าน “ศรีสมัยค้าส่ง”: เครดิตภาพจากกรมประชาสัมพันธ์-

หากดูจากสาแหรกธุรกิจที่มี “ตระกูลศิริไชย” หรือ “กลุ่มศรีสมัย” ถือหุ้นใหญ่จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกิจการค้าส่ง-ค้าปลีกทั้งสิ้น มีทั้งส่วนที่เป็นร้านค้าส่ง-ค้าปลีก โกดังสินค้า ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ฯลฯ ซึ่งนอกจากกลุ่มธุรกิจที่ว่านี้ “กลุ่มศรีสมัย” ยังมีธุรกิจโรงแรมในนาม “บริษัท ยะลาแกรนด์พาเลซ (1996) จำกัด” แต่มีผลประกอบการที่ไม่สู้ดีนัก ติดลบมาตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2566 ส่วนธุรกิจซับไลเซนส์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มีผลประกอบการ “พันล้านบาท” ทุกปี ทั้งยังเคยทำกำไรได้สูงสุดกว่า 176,256,856 บาท ในปี 2556 ด้วย

 

อ้างอิง: Bangkokbiznews 1Bangkokbiznews 2BrandAgeBrand BuffetCB GroupCreden DataPositioning MagazinePrachachatSETSouthern Concrete PileThai Eastern Group, หนังสือสาวใยตระกูล “งานทวี” แลวิถีและพลังมังกรใต้