‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ

‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ

ค้าปลีกระอุ! รอบแล้วรอบเล่า เมื่อบรรดา "เจ้าสัว" ต่างพากันลงสนามปั้นโมเดลธุรกิจชิงเค้ก 3.7-4 ล้านล้านบาท "โดนใจ" เป็นหมากรบ "เจ้าสัวเจริญ" อัปเกรดโชห่วยให้ทันสมัย เป็นเครือข่ายช่องทางขาย กำลังถูกมองเทียบชั้นแข่งร้านสะดวกซื้อ..เซเว่นอีเลฟเว่น!?

  • กลุ่มทุนลุยอัปเกรดร้านค้าชุมชนหวังสร้างเครือข่าย

ศึกค้าปลีก 4 ล้านล้านระอุทุกโมเดลหมดยุคกินรวบ กลุ่มทุนเจ้าสัวใหญ่  “เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์-สิริวัฒนภักดี-โชควัฒนา-เสถียรธรรมะ” จัดทัพบุกตลาด จับตาคู่แข่งสำคัญ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ปั้นสารพัดรีเทล ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ขายส่ง เดินเกมพลิกร้านโชห่วย 5 แสนแห่งสู่เครือข่ายร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ “โดนใจ” ตั้งเป้า 3 หมื่นสาขาในปี 2570  หนุนช่องทางกระจายสินค้าเครือบิ๊กซี-ไทยเบฟ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธุรกิจร้านค้าปลีกสะดวกซื้อในประเทศไทยกำลังจะเกิดการแข่งขันครั้งใหญ่ เมื่อเหล่า “เจ้าสัว” จะหันมาบุกธุรกิจที่ถูกครองด้วยอาณาจักร “เซเว่น อีเลฟเว่น” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อรับเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการซื้อของครั้งละมากๆ เป็นซื้อทีละน้อยแต่ซื้อบ่อยขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเป็นจุดหมายใหม่ของการลงทุน

การแข่งขันนำโดยเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่ง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด บุคคลผู้ครองความมั่งคั่งที่สุดในประเทศไทยด้วยสินทรัพย์ราว 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 4 แสนล้านบาท) ซึ่งมีแผนจะบุกร้านของชำ 30,000  แห่งทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็น “ร้านโดนใจ” ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (บีเจซี) ภายในปี 2570

‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ ภายใต้แผนดังกล่าว บีเจซี จะเป็นผู้สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ การตลาด และการจัดการข้อมูลให้กับร้านค้า เพื่อเปลี่ยนโฉมให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กกลายเป็นร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ โดยแลกกับการที่ร้านจะต้องลงสินค้าจากบริษัทต่างๆ ในเครือ เช่น บิ๊กซี และไทยเบฟ ในปริมาณไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม การจะเจาะเข้ามาในธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องแข่งขันกับเจ้าตลาด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาณาจักร 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 1 ล้านล้านบาท) ของตระกูลเจียรวนนท์ โดยซีพีออลล์เป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ หรือเกือบ 3 ใน 4 ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE Group

 บลูมเบิร์ก ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของบรรดาเจ้าสัวไทยในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหวังใหม่อีกครั้งในอุตสาหกรรม หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศจะเดินหน้านโยบายแจกเงินคนละ 15,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังสอดรับการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวขึ้นอีกด้วย

 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันไปนิยมการจับจ่ายซื้อของในร้านสะดวกซื้อที่มีทั่วทุกหัวมุมถนนในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่กันมากขึ้น ทำให้ร้านสะดวกซื้อกลายเป็น One-stop shop ที่คนเข้ามาซื้ออาหารพร้อมรับประทาน ซื้อของชำ ไปจนถึงจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ประเทศไทย CBRE Group กล่าวว่า “การแข่งขันจะเป็นไปอย่างดุเดือด มีเพียงคนแข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด ร้านสะดวกซื้อจำเป็นต้องทบทวนกลยุทธ์ว่าจะแข่งขันและขยายธุรกิจอย่างไร”

  • ค้าปลีกขุมทรัพย์ใหญ่มหาศาล

ทั้งนี้ “ธุรกิจค้าปลีก” ถือเป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินค้าปลีกปี 2566 จะเติบโต 10% มีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาท

‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ ตัวอย่างเจ้าสัวครองค้าปลีกสารพัดโมเดล

จะเห็นว่ายักษ์ใหญ่ค้าปลีกล้วนเป็นธุรกิจตระกูล “เจ้าสัว” ครองตลาด ได้แก่ "เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์" มีค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) โลตัส และค้าส่งแบบชำระเงินสด แม็คโคร ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น "ตระกูลจิราธิวัฒน์" ครอบครองกิจการค้าปลีกคลุมทุกเซ็กเมนต์ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ล่าสุด ร้านค้าส่ง โก โฮลเซลล์

"เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" แห่งเครือสหพัฒน์ มีร้านสะดวกซื้อ 108 ช็อป ลอว์สัน108 ห้างค้าปลีก 24 ชั่วโมงอย่าง ดอง ดอง ดองกิ เจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป “เสถียร เสถียรธรรมะ” มี ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซีเจ มอร์ ร้านค้าทั่วไปหรือโชห่วยอัปเกรดแบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน”

และผู้ท้าชิงมาแรง เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี นอกจากมี “บิ๊กซี” เป็นหมากรบสำคัญในตลาดห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ยังพยายามสร้างโมเดลต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ทั้งศูนย์การค้าสีลม เอจ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ห้างค้าส่งและอาหาร “บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส” ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ “บิ๊กซี มินิ” รวมถึงยกระดับ “ร้านโชห่วย” ให้ทันสมัยผ่านโมเดลร้าน “โดนใจ” ตามแผนเปิด 30,000 สาขา ภายในปี 2570

  • เจ้าสัวเจริญ ลงสนามสู้ศึกค้าปลีก

“เจ้าสัวเจริญ” เจ้าของอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ที่กิจการทั้งกลุ่มทำเงินไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท เช่น จากบีเจซี รายได้รวมปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท ไทยเบฟเวอเรจ รายได้รวมปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 2.7 แสนล้านบาท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป(AWC) รายได้ปี 2565 กว่า 9,000 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน “ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์” รายได้ปี 2565 กว่า 1.9 หมื่นล้านบาท

‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ หนึ่งในความพยายามของ “เจ้าสัวเจริญ” คือบุกค้าปลีก เพราะถือเป็นกิจการ “ปลายน้ำ” ในฐานะช่องทางจำหน่ายสินค้า ที่ผู้ผลิตจะเสิร์ฟสินค้าประเภทต่างๆ แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแต่ยังเป็นกุญแจสำคัญทางการค้า ที่จะได้รู้พฤติกรรมผู้บริโภค การซื้อสินค้าต่างๆ ตลอดจน Insight การจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้ผู้ผลิตวางแผนได้อย่างแม่นยำ สามารถทำเงินสร้างการเติบโตด้วย

อาณาจักรเจ้าสัวเจริญ มีการลองปั้นโมเดลค้าปลีกด้วยตัวเอง เช่น ก่อนหน้านี้ลุยห้างค้าปลีกรูปแบบขายส่ง (Cash and Carry) “เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต” ในประเทศไทย และเวียดนาม แต่จำนวนสาขาไม่มากนัก การทำแบรนด์ B’s Mart ในเวียดนาม  ตลอดจนพยายามซื้อและควบรวมกิจการห้างค้าปลีกเมื่อมีโอกาส เช่น แข่งชิงโลตัส มาก่อนหน้านี้

ทว่า จุดเปลี่ยนใหญ่ คือ ทุ่มทุน 1.2 แสนล้านบาท เพื่อเข้าซื้อ “บิ๊กซี” ในประเทศไทย จิ๊กซอว์สำคัญสร้างการเติบโตในสมรภูมิค้าปลีก ผ่านไป 6 ปี “บิ๊กซี” ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนสาขาและยอดขาย เร็วๆ นี้จะเห็นการแยกตัวจาก “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์”(บีเจซี) เพื่อ IPO อีกด้วย

  • ปี 66 ทุ่ม 1.4 หมื่นล้านบาท เร่งโตรีเทล

งาน Opportunity Day บีเจซี เผยแผนธุรกิจปี 2566 จะใช้เงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท 59% ขยายและปรับปรุงห้างค้าปลีกทุกโมเดล 27% ลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และ 14% เป็นธุรกิจอื่นๆ

สำหรับกิจการค้าปลีก จะเห็นการเปิดร้านโมเดลต่างๆ ดังนี้ “บิ๊กซี” ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา(ในประเทศไทย) ซูเปอร์มาร์เก็ต แบรนด์บิ๊กซี ฟู้ด เพลส 2 สาขา ร้านสะดวกซื้อบิ๊กซี มินิ 180 สาขา ตลาดสด 3 สาขา ค้าปลีกรูปแบบขายส่ง บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส 4 สาขา โมเดลเปลี่ยนร้านโชห่วยเป็นค้าปลีกทันสมัยแบรนด์ “โดนใจ” 4,000 สาขา และปรับปรุงห้างค้าปลีกเดิมๆ 15 สาขา ขณะที่ครึ่งปี 2566 บริษัทมีร้านค้าปลีกทุกโมเดล 2,004 สาขา เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา บิ๊กซี มินิ 1,471 สาขา ตลาดสด 8 สาขา ร้านโดนใจ 2,597 สาขา ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น ร้านขายยาเพรียว 146 สาขา ร้านกาแฟวาวี 107 สาขา เป็นต้น

‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ นอกจากการปรับโฉมห้างค้าปลีก ปีนี้จะเห็นการอัปเกรดห้างให้เป็นแหล่งชอปปิงของนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 60 สาขา จากปัจจุบันมี 25 สาขา เพื่อรองรับการฟื้นตัวการท่องเที่ยวด้วย ในต่างประเทศ “บิ๊กซี” กำลังก่อสร้างโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเวียงจันท์ ประเทศลาว คาดเปิดให้บริการต้นปี 2567

  • ร้าน “โดนใจ” จิ๊กซอว์เขย่าร้านสะดวกซื้อ

โมเดลร้าน “โดนใจ” เป็นอีกหมัดเด็ดของค้าปลีก “เจ้าสัวเจริญ” โดยมีทายาทคนเล็กของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” อย่าง “ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ทำหน้าที่ดูแลเริ่มแรก  

นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เคยเปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า วิสัยทัศน์ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีความมุ่งมั่นในการเข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ในท้องถิ่นอย่างร้านโชห่วย ให้สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ จึงนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดโครงการร้านเครือข่าย “โดนใจ” ยกระดับร้านโชห่วยให้มีรูปแบบการบริหาร จัดการ ที่ทันสมัย ตลอดจนมีระบบข้อมูลที่ช่วยในการค้าขายอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บริษัทซุ่มสร้างโครงการต้นแบบร้านโดนใจตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งการตอบรับดีจากผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยมาร่วมเป็นเครือข่าย

ขณะที่เป้าหมายใหญ่ของการทรานส์ฟอร์มร้านโชห่วยให้เป็นร้านโดนใจคือ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570 จากภาพรวมร้านโชห่วยในประเทศไทยมีมากกว่า 5 แสนร้านค้าทั่วประเทศ ส่วนร้านที่เหมาะสมจะปรับเปลี่ยนเป็นร้านโดนใจ มองร้านค้าปลีกในชุมชนขนาดเล็กไปถึงใหญ่ที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ไม่รวมร้านค้าส่งที่ขายยกลงให้กับร้านค้าด้วยกัน

‘เจ้าสัวเจริญ’ ดัน ‘โดนใจ’ ชนเซเว่นฯ แปลงโฉมโชห่วย 3 หมื่นจุด สู้ศึกสะดวกซื้อ ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ทายาทเจ้าสัวเจริญ

โมเดลร้านโดนใจ นอกจากพัฒนาระบบ POS ช่วยร้านโชห่วย ยังมีทีมงานช่วยเพิ่มทักษะ องค์ความรู้การทำธุรกิจค้าปลีกให้ได้ ด้านการลงทุนสามารถพึ่งพลัง “บีเจซี” ที่ใช้เครือข่าย “บิ๊กซี” ร้านใหญ่ 200 สาขา ป้อนสินค้าให้ หรือเจ้าของร้านจ่ายค่าบริหารระบบรายเดือนให้กับบริษัท

 “ร้านโดนใจ เกิดบนความตั้งใจของเราที่ต้องการช่วยพัฒนาร้านโชห่วยให้มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการเติบโตแบบยั่งยืนทั้งระบบ"

สำหรับที่มาชื่อแบรนด์ร้าน “โดนใจ” คือ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” พี่ชายและทายาทลำดับ 3 ของตระกูลสิริวัฒนภักดี และภาพขยายร้าน “โดนใจ” ยังสะท้อนการต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีกทุกโมเดลเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในกิจการปลายน้ำ

  • 3 เจ้าสัว ค่ายชิงโชห่วยแสนร้าน

การดึงร้านโชห่วยมาเป็นเครือข่ายพันธมิตรค้าปลีกขับเคี่ยวกันอย่างหนักระหว่าง “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลังแห่งค่ายคาราบาว กรุ๊ป ปลุกปั้น บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด พร้อมทุ่มทุนหลักหมื่นล้านบาท ลุยร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ตั้งเป้า 50,000 สาขา ภายในปี 2567 หลังออกสตาร์ตเมื่อปี 2562

“เจ้าสัวเจริญ” เห็นโอกาส จึงส่งโมเดลร้าน “โดนใจ” ท้าชิงเค้กโชห่วยเช่นกัน รวมถึง “เจ้าสัวธนินท์” ที่เปิดตัวโมเดล “บัดดี้มาร์ท” เข้าแข่งขัน โดยอาศัยจุดแข็งของ “แม็คโคร” ที่คร่ำหวอดในค้าปลีกและใกล้ชิดกับโชห่วยยาวนานกว่า 33 ปี ตอบโจทย์ลูกค้าด้วยความ “ครบ คุ้ม เพื่อนคู่ใจชุมชน” อัปเกรดเป็นสมาร์ตโชห่วย ตั้งเป้า 2,000 ร้านค้าในปี 2566