'ผู้ป่วยโควิดรายใหม่' อาการหนัก ตายพุ่งสูงสุดตั้งแต่เกิดโรคปี63

'ผู้ป่วยโควิดรายใหม่' อาการหนัก ตายพุ่งสูงสุดตั้งแต่เกิดโรคปี63

นับตั้งแต่มีการระบาดโควิด 19ในประเทศไทย ในปี 2563 วันนี้ถือเป็นวันที่มียอด 'ผู้ป่วยรายใหม่' มากที่สุด พุ่งสูงไปถึง 7,000 กว่าราย มียอดผู้เสียชีวิตมากสุด 75 ราย เช่นเดียวกับผู้ป่วยอาการหนัก และใส่เครื่องช่วยหายใจ

นับตั้งแต่มีการระบาดโควิด 19ในประเทศไทย ในปี 2563 วันนี้ (8 ก.ค.2564) ถือเป็นวันที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด พุ่งสูงไปถึง 7,000 กว่าราย และมียอดผู้เสียชีวิตมากสุด 75 ราย

  • ช็อค!ยอด 'ผู้ป่วยรายใหม่' ทะลุ 7,058 ราย

(8 ก.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์​การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ประจำวัน พบ ผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่ม 7,058  ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 68 ราย และผู้ป่วยรายใหม่ 6,990 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ  5,249 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน  1,732  ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 9  ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 308,230 ราย  

โดยวันนี้มี ผู้เสียชีวิต เพิ่มสูง 75 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 2,368 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,978 ราย  ทั้งนี้ มีผู้ป่วยสะสมระลอกเดือน เม.ย.2564 จำนวน 279,367 คน สำหรับผู้ป่วยรักษาอยู่ 69,619 ราย อาการหนัก 2,564 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 698 ราย ส่วนผู้รับวัคซีนข้อมูลตั้งแต่ 28 ก.พ.-7 ก.ค.2564 พบว่ามีผู้รับวัคซีนแล้ว 11,619,618 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 8,494,230 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 3,125,388 ราย

  • 'ผู้ป่วยอาการหนัก' ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1 ใน3

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่าในส่วนของผู้ป่วยอาการหนัก 2,564 ราย และมีการใส่เครื่องช่วยหายใน 698 ราย คิดเป็น 27.22% หรือ 1 ใน 3 นั้น แบ่งเป็น กทม. 313 ราย สมุทรปราการ 56 ราย นนทบุรี 45 ราย นครปฐม 36 ราย สมุทรสาคร 30 ราย ปทุมธานี 27 ราย ชลบุรี 23 ราย นครราชสีมา 14 ราย ราชบุรี 12 ราย ปัตตานี 12 ราย เพชรบุรี 11 ราย และพระนครศรีอยุธนา 8 ราย

รวมถึงมีการกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะเห็นว่าการเดินทางข้ามจังหวัด กลับภูมิลำเนา ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เตียงสีแดงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ขอให้ติดตามกันอย่างใกล้ดชิด

ส่วนการรายงานผู้เสียชีวิต 75 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด พบว่า กทม. 38 ราย สมุทรปราการ 9 ราย นราธิวาส ปทุมธานี จังหวัดละ 4 ราย นครปฐม ยะลา จังหวัดละ 3 ราย ชัยภูมิ สงขลา อุทัยธานี จังหวัดละ  2 ราย ฉะเชิงเทรา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปัตตานี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย

โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่ยังเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน ไขมัน ความดัน ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิต อายุที่น้อยที่สุด คือ 39 ปี และมากที่สุด 94 ปี ค่ากลางอายุ 63 ปี นั่นคือยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และยังมีมากถึง 36% หรือ 27 ราย ที่มีการเสียชีวิตใน 6 วันหลังจากมีการติดเชื้อ และมีบางรายเสียชีวิตและมีการตรวจเชื้อถึงจะทราบผล

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อค่อนข้างสูง ยังคงเป็นกทม.และปริมณฑล  ได้แก่ กทม. 2,212 ราย สมุทรปราการ 565  ราย สมุทรสาคร 517 ราย ชลบุรี 290 ราย ปทุมธานี 229 ราย สงขลา 213 ราย นนทบุรี 180 ราย ปัตตานี 175 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 150 ราย และยะลา 146 ราย

  • พบ 'ผู้ป่วยโควิด 19' ทุกจังหวัด กระจายหนักใน 55 จ.

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า การที่มีผู้ป่วยกทม. และปริมณฑล เดินทางข้ามพื้นที่ ซึ่งมีการเดินทางกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ตอนนี้ทุกจังหวัดมีการรายงานผู้ติดเชื้อ  อย่างไรก็ตาม ศบค.เป็นห่วงกลุ่มผู้ป่วยโควิด 19 ที่เดินทางไปต่างจังหวัด ขณะนี้ ในภาคเหนือ มีกระจายไปใน 12 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก  17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด  และภาคใต้ 5 จังหวัด 

“ขอเน้นย้ำ กลุ่มที่เดินทางกลับบ้าน กลับภูมิลำเนา อย่าข้ามไปยังพื้นที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีเหลือง อยากให้ดูตัวเลขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ก่อนรายงานก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 200 กว่าราย แต่ในวันนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อ 841 ราย ซึ่งตรงนี้ พี่น้องประชาชนอาจตอบคำถามด้วยตัวท่านเอง ถ้าเดินทางกลับไป 10-20 คน  และมีการแยกกักตัวในพื้นที่เหมาะสม คงไม่เห็นภาพการกระจายไปยังครอบครัว ชุมชน และเพื่อนใกล้ชิดแบบนี้”พญ.อภิสมัย กล่าว

  • มาตรการใหม่ สธ. เน้นงดเดินทางออกนอกพื้นที่

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่อง มาตรการทางสังคม  ซึ่งอยากให้เข้าใจว่า ทางสธ. มีการหารือด้วยความเป็นห่วง เพราะการติดเชื้อไม่ได้จำกัดในวงแคมป์คนงานหรือแรงงานต่างด้าว แต่เป็นการติดเชื้อในชุมชน และเป็นคนไทยที่มีการติดเชื้อสูงมาก  สธ.จึงได้นำเสนอมาตรการสาธารณสุข และมาตรการสังคม โดยมาตรการจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ภายใต้หลักการ จำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะห้ามการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัด ในที่ประชุม ได้มีการหารือในส่วนของมหาดไทย กลาโหมจะมีการตั้งจุดตรวจเพื่อลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่

รวมทั้ง มีการเสนอให้ปรับมาตรการ Work from home ทั้งภาครัฐและเอกชน  มีการกำหนดให้ประชาชนร่วมมือเปิดปิดกิจการเพื่อลดการเคลื่อนย้าย การเดินทางออกนอกพื้นที่ของประชาชน ให้อยู่บ้าน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สถานที่ที่มีการพูดถึง ทั้งห้างสรรพสินค้า กิจการในประเภทเดียวกัน รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ ตลาด หรือข้าวต้มรอบดึก จะมีการหารือกำหนดการปิดกิจการ เพื่อลดประชาชนเดินทางออกนอกบ้าน

ส่วนเรื่อง ขนส่งสาธารณะ เมื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน จะต้องมีการปรับให้การบริการขนส่งสาธารณะที่สอดคล้องกับมาตรการที่เสนอด้วย ที่ประชุมมีความเป็นห่วงว่า การปรับมาตรการ คงไว้ซึ่งความจำเป็น เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต ยังจำเป็นต้องเปิด  หรือร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ช่าง ถ้ามีการกำหนดเวลาแล้ว ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ต้องซื้อก็ต้องคำนึงเรื่องนี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ด่วน! ชง 'ล็อกดาวน์' คุมโควิด-19 เท่าเม.ย.63

                     รู้จัก 'ล็อกดาวน์' ก่อนล็อกจริง! ย้อนดู 'ล็อกดาวน์ เม.ย.63' มีอะไรบ้าง

                     เปิดวิธี 'Home Isolation' เตียงไม่พอ 'กักตัวอยู่บ้าน' ต้องทำอย่างไร?

  • ย้ำไม่‘ล็อกดาวน์’ ได้ข้อสรุปมาตรการใหม่ 9 ก.ค.นี้

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ต้องเน้นย้ำว่ามาตรการในขณะนี้ เป็นมาตรการที่สธ.หารือ และเสนอมายัง ศบค.ชุดเล็ก ซึ่ง ศบค.ชุดเล็ก ต้องนำเสนอไปยังศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้  ก่อนจะประกาศออกมาเป็นทางการ และข้อเสนอของสธ.นี้ ยังไม่มีผลใช้ ขอให้ติดตามในวันพรุ่งนี้  อย่างไรก็ตาม ที่สธ.เสนอมา ไม่มีคำว่าล็อกดาวน์ และสิ่งที่สธ.เสนอ เป็นเรื่องการปรับมาตรการให้เหมาะสม โดยเสนอรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ไหน จังหวัดไหนควรทำอย่างไร  

ตอนนี้มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ขอเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนยกเว้นการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะบุคคลที่รอผลตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ รวมถึงผู้ติดเชื้อไม่แนะนำให้เดินทางข้ามจังหวัดหรือกลับภูมิลำเ แต่ถ้ามีความจำเป็น ก่อนเดินทางขอให้ติดต่อศูนย์ประสานงานรับคนกลับบ้านของจังหวัดปลายทาง หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ระหว่างเดินทางไปควรใช้รถส่วนตัวเท่านั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการเตรียมยารักษาโรค และเตรียมอาหาร น้ำ ไม่ควรแวะพักสถานที่ใดๆ และสาธารณสุขในจังหวัด รวมถึงครอบครัวต้องรู้ และเมื่อเดินทางกลับไปแล้วต้องแยกกักตัวทันที

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ไม่อยากเห็นการตั้งขอรังเกียจกับผู้ติดเชื้อ หรือเกิดอคติที่ไม่ดี เพราะจะทำให้ทุกคนเสียกำลังใจ ในสถานการณ์โควิดมีการสูญเสียงาน สูญเสียทรัพย์สิน อย่าให้ความสามัคคีฉันท์พี่น้องในชุมชนเสียหายไปด้วย และสำหรับมาตรการที่จะมีการเสนอศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 9 ก.ค.นี้  อาจมีข้อจำกัด พี่น้องหลายๆ คนอาจไม่สะดวก ต้องขออภัย เพราะการออกมาตรการที่เข้มข้นมีความจำเป็น