สธ. ชง 'ล็อกดาวน์' คุมโควิด-19 เท่า เม.ย. 63

สธ. ชง 'ล็อกดาวน์' คุมโควิด-19 เท่า เม.ย. 63

สธ. ชง ศบค. "ล็อกดาวน์" 14 วัน คุม "โควิด-19" มาตรการเท่า เม.ย. 63 จำกัดการเดินทาง - ไม่ออกจากเคหสถาน เว้นไปหาอาหาร พบแพทย์ ฉีดวัคซีน - ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด - ปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เฉพาะในพื้นที่เสี่ยง-กันชน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวด่วนสถานการณ์โควิด-19 ว่าจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19(EOC) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขศบค.และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่กทม. โดยเห็นว่า สถานการณ์โควิด-19มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,058 ราย  มีผู้ติดเชื้อระลอกเม.ย.2564 สะสม 280,000 ราย  เสียชีวิต 75 คน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกทม.และปริมณฑล มีแพร่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ แต่ไม่ใช่ตัวเลขเดียวที่พุ่งขึ้นมา แต่เป็นตัวเลขที่สะสมขึ้นมาตลอดแสดงว่ามีการติดเชื้อขึ้นมาจำนวนมากอยู่ตลอด ทำให้มีมาเข้ารับการตรวจหาเชื้อและรอคอยจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีการรับผู้ป่วยเข้ารักษาจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑล ไอซียูที่เพิ่มขึ้นก็มีการใช้มาก รวมถึงเตียงรองรับผู้ป่วยสีเขียวก็มีการใช้เพิ่มมากขึ้นด้วย

         

สธ.จึงได้ออกมาตรการดังต่อไปนี้ คือ  1.การตรวจหาผู้ติดเชื้อโดยใช้แรปิด แอนติเจน เทสต์ (Rapid antigen test) จากเดิมที่ใช้วิธีRT-PCRด้วยการSwab  อาจจะใช้เวลานานหลายชั่วโมง หรือหากมีจำนวนมากจะต้องใช้เวลาข้ามวัน ทำให้การมราบผลเชื้อล่าช้า ระหว่างนั้นอาจเกิดการแพร่กระจาย จึงตกลงใช้แรปิด แอนติเจน เทสต์ เข้ามาสนับสนุนการตรวจ ซึ่งในช่วงแรกให้ตรวจที่สถานพยาบาลตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และมีเตียงรับรองด้วย ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ก่อน ถ้าผลเป็น ลบ ก็ให้กลับบ้าน แต่ถ้าผลเป็นบวก จะรับเข้าดูแลในสถานพยาบาลเลยหรือรายที่สงสัยอาจจะมีการตรวจซ้ำด้วยวิธีRT-PCR  และต่อไปเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ สธ.ก็จะใช้รูปแบบการตรวจด้วยตนเอง(Home Use)ให้มากขึ้นจะเป็นการพิจารณาในระยะต่อไปในเร็วๆนี้ แต่การดำเนินการที่สถานพยาบาลทำได้เลยทันที
     

2.Home Isolation และ Community Isolation หากการตรวจพบติดเชื้อ ต้องใช้รูปแบบนี้ในการรองรับ โดยระบบสธ.จะเข้าไปดูแลและติดตาม  ถ้ามีอาการมากหรือคนไข้สีเหลืองและเป็นกลุ่มเสี่ยงก็รับไว้ในสถานพยาบาล ซึ่งคนที่จะอยู่ใยระบบHome Isolation และ Community Isolationจะต้องเป็นคนไข้สีเขียวเท่านั้น  และจะต้องดูเรื่องความปลอดภัย จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในการดูแลเป็นครอบครัว อาจจะลดเกณฑ์Home Isolation และ Community Isolationจากเดิมที่จะต้องสามารถแยกตัวอยู่คนเดียวที่บ้านได้ ให้ดูแลเป็นครอบคัรัว โดยมีการสนับสนุนอุปกรณ์ในการดูแลตนเองและรายงานมาที่ระบบติดตาม ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในสถานพยาบาลในวันที่ 10 หรืออาจจะสั้นกว่ากลับไปดูแลที่  Home Isolation เพื่อลดเตียงให้คนที่จำเป็นได้เข้าสู่ระบบรพ.ได้ 

    

3.เน้นมาตรการบุคคลต่างๆ อย่างเข้มงวด เพราะตอนนี้มีความกระจาย โดยต้องเน้นสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ โดยที่ทำงานก็ต้องระวัง อย่ารับประทานอาหารร่วมกัน ที่บ้านก็เช่นกัน  ขอให้ต่างคนต่างรับประทานอาหาร และขอให้ Work From Home มากขึ้น
    

162572069028

4.การฉีดวัคซีนโควิด ต้องเร่งฉีดพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ขณะนี้มีนโยบายใช้วัคซีนไม่ต่ำกว่า 80% ฉีดให้ 2 กลุ่มนี้ก่อน เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล สัปดาห์หน้าต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสขึ้นไป ขณะนี้กรุงเทพฯฉีดไปแล้ว 4 ล้านโดส ต้องเร่งฉีดใน 1-2 สัปดาห์ให้ขึ้นไปอีก จะได้ครอบคลุมมากกว่า 50% โดยต้องระดมทุกภาคส่วน ซึ่งสธ.จะหาคนไปช่วยกทม. ในการฉีด โดยหากสามารถฉีดได้ 1 ล้านโดส ช่วงสิ้นเดือนนี้ก็จะได้ถึง 60%

     

และ5.สธ.เสนอศบค.ในการยกระดับมาตรการทางสังคม ที่สำคัญ คือ การจำกัดการเดินทาง อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหสถาน เว้นไปหาอาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน  ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ยกเว้น ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยใช้ในพื้นที่เสี่ยงและกันชน เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยได้มีการเสนอไปยังศบค.ชุดเล็กพิจารณาแล้ว     เหล่านี้เป็นมาตรการสำคัญที่สธ.เร่งเสนอเพื่อลดการระบาดในเขตกทม.และปริมณฑล เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและผ่านการระบาดนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”นพ.เกียรตคิภูมิกล่าว

       

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการที่เสนอนี้เรียกว่าล็อกดาวน์ใช่หรือไม่ และพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนคือพื้นที่ใดบ้าง นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เสนอดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน โดยศบค.จะเป็นผู้พิจารณาพื้นที่ดังกล่าว  ส่วนมาตรการที่เสนอเนื้อหาคือการจำกัดการเดินทางและปิดสถานที่เสี่ยง พยายามให้อยู่บ้าน ซึ่งมาตรการครั้งนี้กับช่วงเดือนเม.ย.2563น่าจะมีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าช่วงเวลาดังกล่าว ที่มีการติดเชื้อร้อยกว่าคนแต่ครั้งนี้มีการติดเชื้อมาก  
          

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  เบื้องต้นจะเสนอให้ใช้มาตรการนี้ในระยะเวลา 14 วันตามระยะฟักตัวของโรค ซึ่งมาตรการนี้ภาพรวมอย่างน้อยเท่ากับมาตรการช่วงเม.ย.2563 หากร่วมกับการเร่งฉีดวัคซีนเสริมเข้าไป  หากได้รับความร่วมมือเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อยๆลดลงในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า