รู้จัก ‘ล็อกดาวน์’ ก่อนล็อกจริง! ย้อนดู ‘ล็อกดาวน์ เม.ย.63’ มีอะไรบ้าง

รู้จัก ‘ล็อกดาวน์’ ก่อนล็อกจริง! ย้อนดู ‘ล็อกดาวน์ เม.ย.63’ มีอะไรบ้าง

จับตาคำสั่ง “ล็อกดาวน์” ที่จะมีการประกาศในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ หลังโควิดไทยสุดวิกฤติ ยอดติดเชื้อพุ่งหมื่นต่อวัน ขณะที่ยอดตายนับร้อย “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนเปิดปมปัจจัยสำคัญ พร้อมย้อนดูมาตรการ “ล็อกดาวน์ เม.ย. 2563” เข้มข้นแค่ไหน ใครกระทบบ้าง?

สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังอยู่ขั้นวิกฤติ กระทั่งประเด็น “ล็อกดาวน์” ถูกหยิบมาถกอย่างจริงจัง ล่าสุด ศบค. เอง โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.64 มีรายละเอียดจาก ศปก.ศบค. ถึงการยกระดับมาตรการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือยาแรงอย่าง ล็อกดาวน์เดือน เม.ย.63  

โดยล่าสุด วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ภายหลังจากที่มีการแถลงของจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมียกระดับเพิ่มมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทั้งลดการเดินทางข้ามจังหวัด การปิดสถานที่เสี่ยง รวมไปถึงการทำงานที่บ้าน

แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จะมีการการกลับไปบังคับใช้มาตรการเช่นเดียวกับช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้

ระหว่างที่สังคมยังคงรอลุ้นว่า ประเทศไทยจะมาถึงการ ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ หรือ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ รอบสองหรือไม่นั้น “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปดูกันว่า จำเป็นแค่ไหน เมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโควิดวันนี้ในประเทศไทย

  • 6 ปัจจัยสำคัญ ทำไมไทยต้อง “ล็อกดาวน์” 

ก่อนจะถึงตอนสรุปว่า ไทยจะล็อกดาวน์หรือไม่ และควรล็อกดาวน์ในระดับใดนั้น เราจะชวนมาดูความซีเรียสของสถานการณ์การระบาดของโควิดในไทยกันเสียก่อนว่า ทำไมประเทศไทยจำเป็นต้องล็อกดาวน์ ซึ่งในเรื่องนี้สามารถแบ่งเป็น 6 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1. จำนวนการฉีดวัคซีนต่ำ โดยจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “เข็มแรก” แค่ 16.5% ของเป้าหมาย 50 ล้านราย ซึ่งเป็นเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือถ้านับรวมประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเพียง 11.77% เท่านั้น (ข้อมูลจากศบค. ณ วันที่ 7 ก.ค.64)

2. ความร้ายแรงของโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งปัจจุบันกำลังยึดไทย เป็นเชื้อที่ติดง่ายมาก และอาการรุนแรง โดยทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น 

ขณะที่สายพันธุ์ “อัลฟ่า” (อังกฤษ) เดิมใช้เวลา 7-10 วันถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ แต่สายพันธุ์ “เดลต้า” (อินเดีย) ใช้เวลา 3-5 วัน นำมาสู่ความวิกฤติเรื่องเตียงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยหนัก ICU ซึ่ง “ตึง” มากและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวม

3. จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งถึงระดับหมื่นคนต่อวัน ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน จะพบว่า มีแนวโน้มพุ่งสูง ทำนิวไฮต่อเนื่อง โดยผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 7 ก.ค.64 สูงถึง 6,519 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ในแง่ของการระบาด ระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวันที่ 7 ก.ค. ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์การระบาดในวันที่ไทยกำลังรับมือกับโควิด "สายพันธุ์เดลต้า" ว่า จะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ และมีโอกาสขึ้นไปถึง 10,000 รายต่อวันในสัปดาห์หน้า

162568294888

4. ติดเชื้อในสำนักงานมากขึ้น ปัจจุบัน แหล่งสำคัญของการติดเชื้อที่ต้องจับตา คือ พบว่า มีการติดเชื้อจากที่ทำงานหรือองค์กรมากถึง 40%

5. ปริมาณเตียงมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ความร้ายของสายพันธุ์เดลต้า คือ นอกจากจะแพร่เชื้อง่ายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะ “อาการหนัก” มากกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบัน (7 ก.ค.) มีผู้ป่วยอาการหนักทั้งสิ้น 2,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย 

ซึ่ง พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เผยว่า ในจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก 10 ราย เกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 4-5 รายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในจำนวนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจทุก 10 ราย จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน

และเมื่อมาดูที่สถานการณ์ของ “ผู้ป่วยสีแดง” รอเตียง ใน กทม.มีมากถึงราว 40-50 รายต่อวัน สีเหลือง 200-300 รายต่อวัน โดยตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์ พบว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งระดับ เขียว เหลือง แดง เข้ามาสูงขึ้นหลักพัน ขณะที่ การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเจ้าภาพหลัก คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ ก็มีศักยภาพในการขนผู้ป่วยที่ประมาณ 500 เที่ยวต่อวันเท่านั้น

6. เชื้อถูกส่งออกจากคนกทม.  ปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังพอมีศักยภาพรองรับได้ นอกจากนี้ แม้จะมีคำสั่งให้งดเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่เนื่องจากไม่ได้ห้ามเด็ดขาด จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของประชากร ที่อาจเสี่ยงต่อการนำเชื้อไปแพร่ต่อได้

ทั้ง 6 ข้อข้างต้น คือ ปัจจัยสำคัญที่ ศบค. จะนำมาประเมินการล็อกดาวน์ โดยคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 12 ก.ค.64

 

  • ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ Vs ล็อกดาวน์เฉพาะจุด

เมื่อมาถึงคำถามสำคัญว่า แล้าถ้ามีการล็อกดาวน์จริง จะล็อกแบบไหน เข้มข้นเท่าไร และใครกระทบบ้าง?

ในเรื่องนี้ พล.อ.ณัฐพล เผยว่า อาจจะไม่เหมือนกัน แต่จะเน้นความเข้มข้นในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด กทม. ปริมณฑล 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นก็ต้องมีมาตรการเสริมด้วย

"หากล็อกดาวน์ เซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะ กทม.ปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำ ก็ไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องลดหลั่นกันไปตามลำดับ" 

เมื่อตอบมาเช่นนี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงชวนย้อนกลับไปดูการ ล็อกดาวน์ 100% เมื่อครั้งเดือนเมษายน 2563 ว่า มีความเข้มข้นแค่ไหน

คำสั่งระดับประเทศ

สำหรับรายละเอียด การ "ล็อกดาวน์" ช่วงเดือนเมษายน 2563 ตามที่  พล.อ.ณัฐพล เอ่ยถึงนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติตาม พ.ร.ก ฉุกเฉิน ฉบับ 1 ที่ประกาศเมื่อ 25 มี.ค.63 ดังนี้ 

- ห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่าง 4 ทุ่ม - ตี 4 (เริ่ม 3 เม.ย.63)
- ปิดสถานที่เสี่ยง อาทิ ผับ สถานบริการ สนามมวย สนามกีฬา สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร (สถานที่อื่นให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วน หรือทั้งหมด ตามความจําเป็นและเหมาะสม)
- ปิดช่องทางเข้าประเทศ
- ห้ามกักตุนสินค้า (ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ําดื่มฯลฯ)
- ห้ามชุมนุม 
- ห้ามเสนอข่าว ไม่จริง บิดเบือน หรือทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
- งด/ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด 

คำสั่งของ กทม. (ตลอดเดือน เม.ย.63)

- ร้านอาหาร งดนั่งทาน
- ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยาฯลฯ
- ปิดตลาด/ตลาดนัด (เปิดเฉพาะจำหน่ายอาหาร สินค้าจำเป็น)
- ปิดสถานที่เสี่ยง อาทิ ร้านเสริมสวย ร้านสัก สวนสนุก ร้านเกม สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ศูนย์แสดงสินค้า ฯลฯ 

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล เผยว่า ผลจาก “คำสั่งปิด” ตามมาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเมื่อเดือน เม.ย.63 ส่งผลให้รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งแม้จะใช้เงินมากขนาดนั้น ก็ยังไม่ทั่วถึง 

“ศบค.คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ก็คือการให้ประชาชนบางส่วนยังทำมาหากินได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ฉะนั้นเราต้องวิเคราะห์หาปัจจัย ต้นเหตุจริงๆ ว่าคืออะไร ถ้าสาธารณสุขระบุว่าต้นเหตุจริงๆ คือทั้งหมด ก็อาจจำเป็นต้องล็อกดาวน์ ก็ต้องรอฟังข้อเสนอเป็นทางการอีกที” ผอ.ศปก.ศบค.ระบุ

162569065790