เปิดวิธี ‘Home Isolation’ เตียงไม่พอ ‘กักตัวอยู่บ้าน’ ต้องทำอย่างไร?

เปิดวิธี ‘Home Isolation’ เตียงไม่พอ ‘กักตัวอยู่บ้าน’ ต้องทำอย่างไร?

จากวิกฤตเตียงไม่พอ ผู้ป่วยที่เข้าข่าย “กักตัวที่บ้าน” ได้ ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และไอเท็มอะไรที่จำเป็นต้องมีติดตัวบ้างในตอนนี้?

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นประมาณ 4-5 พันคนต่อวัน จนทำให้ ‘"เตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ" ณ ขณะนี้ ส่งผลให้หลายคนที่ติดเชื้อไม่สามารถได้รับการเข้ารักษา เพราะโรงพยาบาลหลายที่ก็อยู่ในสถานะที่วิกฤตจนให้บริการไม่ได้

รวมถึงแนวทางใหม่ที่เริ่มนำร่องให้ ผู้ป่วยโควิดอาการน้อยกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน ต่อได้

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนดูเช็คลิสต์ ผู้ป่วยต้องมีคุณสมบัติแบบไหนจึงจะสามารถ “กักตัวที่บ้าน” (Home Isolation) ได้, ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และไอเท็มไหนที่จำเป็นต้องมีติดบ้าน ณ ขณะนี้?

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะและวิธีการไว้ดังต่อไปนี้
     

  • ผู้ป่วยโควิด-19 แบบไหนที่สามารถ  “กักตัวที่บ้าน”  ได้? 

คำตอบ: ต้องเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ “แต่ไม่แสดงอาการ” ถึงจะสามารถกักตัวรักษาตัวเองที่บ้านได้ (ทั้งนี้ยังคงได้รับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และโรงพยาบาลอยู่)

โดยการทำเช่นนี้ เพื่อให้ “ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก” จะได้รับการจัดสรรเตียงให้ก่อน ตามความเหมาะสมของระดับอาการ
     

  • [เช็คลิสต์] ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ถึงจะสามารถ “กักตัวที่บ้าน” ได้?

1. ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ที่ไม่มีการแสดงอาการ และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ

2. อยู่ที่บ้านคนเดียว หรือมีผู้พักร่วมไม่เกิน 1 คน

3. ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน 90 กิโลกรัม

4. ไม่มีอาการป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ 

5. นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องยินยอมที่จะแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด 

    

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่สามารถ “กักตัวที่บ้าน” ได้ ต้อง “ปฏิบัติตัว” อย่างไร?

เพื่อให้ตนเองและครอบครัวได้รับความปลอดภัยต้องปฏิบัติตัวตามวิธีการดังต่อไปนี้

- ห้ามให้ใครมาเยี่ยมเยียนที่บ้านเลยแม้แต่คนเดียวในช่วงที่กักตัว

- ห้ามผู้ป่วยเข้าใกล้และสัมผัส ผู้สูงอายุและเด็ดอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร

- เป็นไปได้ให้แยกของใช้ส่วนตัวของตนเองกับผู้อื่นทุกอย่าง รวมถึงห้องน้ำและที่เปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย รวมถึงห้องที่พักอาศัยควรที่จะเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทด้วย 

- ไม่ทานอาการร่วมกับคนอื่นๆ เลย ควรทานอยู่คนเดียว หากเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยต้องรักษาระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร 

- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากห้องนอน-ห้องพักผ่อน

- ทำความสะอาดมือของตนเองด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ 

- แยกถังซักเสื้อผ้าและสิ่งที่ต้องสวมใส่ทั้งหมดจากคนอื่นในบ้าน รวมถึงเครื่องนอน และโถสุขภัณฑ์ที่บ้านด้วย(หากเลี่ยงไม่ใช้ร่วมกันไม่ได้ ให้ปิดฝาโถก่อนกดน้ำทำความสะอาด)

- หมั่นสังเกตอาการตนเองทุกวัน และวัดอุณหภุมิสม่ำเสมอ

- หากมีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างปกติให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษา

- หากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถส่วนตัว ไม่เหมาะสมที่จะใช้รถสาธารณะ

- ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทางอยู่ข้างนอกบ้าน 

    

  • "8 ไอเท็มที่ต้องมี” เมื่อ “กักตัวอยู่บ้าน”

หลายสิ่งอาจดูจำเป็น และหลายสิ่งอีกเช่นกันที่ดูไม่จำเป็น มาดูกันว่าเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน ไอเท็มอะไรบ้างที่ต้องมีติดไว้กับตัวเราเอง

1.เจลแอลกอฮอล์

ประโยชน์: โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นเจลแอลกอฮอล์ที่มีแอลกอฮอล์ในระดับ ไม่เกิน 70% และควรพกติดตัวด้วย เพื่อให้มือมีความสะอาด ปราศจากเชื้อโรคตลอดเวลา

2.หน้ากากอนามัย

ประโยชน์: เป็นไอเท็มที่ต้องมีติดตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องออกไปเจอบุคคลอื่นๆ ที่ไม่รู้จักกัน หรือต้องออกไปข้างนอก

3.สบู่ล้างมือ (สบู่เหลว)

ประโยชน์: การใช้สบู่โดยเฉพาะสบู่เหลวจะทำให้ผิวไม่แห้งเท่ากับสบู่ก้อน ซึ่งจะไม่ทำให้เราเกิดความระคายเคืองผิว 

4.ทิชชู่เปียกฆ่าเชื้อโรค

ประโยชน์: หากต้องเข้าห้องน้ำหรืออยู่ในที่สกปรก การมีทิชชู่เปียกในการใช้ช่วยทำความสะอาดจะทำให้เราไม่ต้องไปติดเชื้อโรคอื่นๆมาเพิ่มเติมในร่างกายเราได้

5.บรรจุภัณฑ์อาหาร ช้อนส้อม แก้ว หลอด (ส่วนตัว)

ประโยชน์: บรรจุภัณฑ์อาหารก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรต้องแยกกันใช้ เพราะสารคัดหลั่งของผู้อื่นอาจปนเปื้อนบนอาหารหรือบริเวณโดยรอบได้เช่นกัน เพื่อสุขอนามัยของตนเองที่ดี ดังนั้นควรใช้ภาชนะและสิ่งของต่างๆ แยกกับผู้อื่น

6.ที่วัดอุณหภูมิ

ประโยชน์: เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรมีติดไว้ที่บ้านเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายของตนเอง โดยแบบที่แนะนำ ควรเป็นเทอร์โมมิเตอร์แบบที่ไม่ต้องสัมผัสผิวหนัง หรือแบบยิงที่ตามสถานที่ให้บริการข้างนอกนิยมใช้

7.ถุงมือยาง

ประโยชน์: หากต้องจับสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะในบ้านหรือข้างนอก เพื่อลดการเอาตัวเองไปเสี่ยง การใช้ถุงมือในการจับของถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดวิธีหนึ่งเช่นกัน

8.เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

ประโยชน์: โรคโควิดเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ การวัดค่าออกซิเจนในเลือด กรณีผู้ป่วยพบว่าตนเองมีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจได้ หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

เมื่อต้องกักตัวที่บ้าน การมีเครื่องตัวนี้ช่วยประเมินอาการความวิกฤตของตนเองอาจช่วยให้เราได้รับการรักษาเพื่อทำให้ร่างกายดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว