'สมุนไพร'มีเคมีจริงหรือ! ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

'สมุนไพร'มีเคมีจริงหรือ!  ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

อาหารหรือยาที่รับประทานในแต่ละวันจะต้องผ่านกระบวนการกำจัดพิษจากตับ และผ่านการกรองจากไต ซึ่งสมุนไพร วิตามิน หรือยาต่างๆ มีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ รักษาโรค แต่หากรับประทานผิดวิธีย่อมส่งผลต่อร่างกาย และอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตับ ไต 

Keypoint:

  • สมุนไพร แม้มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่สารเคมี แต่อาจมีสารปนเปื้อน และกระบวนการผลิตอาจมีเคมี หากรับประทานไม่ถูกวิธีย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ เสี่ยงไตพัง ตับพังได้
  • ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต
  • ในคนปกติ หากต้องการรับประทานสมุนไพร ควรเลือกสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีการขึ้นทะเบียน ดูแหล่งที่มาของสมุนไพร และควรใช้ในระยะเวลาอันสั้น

ปัจจุบันผู้คนหันมาบริโภคสมุนไพรและวิตามินกันมากขึ้น แถมมีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาสมุนไพร และยาหลายชนิด ว่าสามารถรักษาโรคร้ายต่างๆ อย่าง โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติได้  ซึ่งสมุนไพร หรือยาดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและนำมาแปรรูปเป็นแคปซูล หรือในรูปแบบต่าง ๆ 

คนจำนวนมากเชื่อว่า การบริโภคสมุนไพรและวิตามินต่างๆ จะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดี แต่จริงๆ แล้วการรับประทานสมุนไพรและวิตามินในปริมาณที่มากเกินไปหรือต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน กลับไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่เราหวัง หนำซ้ำยังเป็นการสร้างปัญหาให้กับตับอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

โรคไต’ นับเป็นปัญหาของสังคมไทยสูงขึ้น ที่ผ่านมาผู้ป่วยแสวงหาความรู้ในการรักษาโรค แต่ไปเชื่อความรู้ที่ไม่ถูกต้องจำนวนมาก เช่น ผู้ป่วย 1 คน เสียเงินจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคเรื้อรังเกือบล้านบาท นอกจากไม่หายแล้ว อาการยังแย่ลงด้วย 

ขณะที่ 'ตับ' จัดเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างกลูโคส กรดอะมิโน ไขมัน และโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว รวมถึงกำจัดสารพิษและของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'สารสกัดสมุนไพร' กระตุ้นการเผาผลาญปราศจากกาเฟอีน

ไปตลาดอย่าสับสน 10 ผักที่คนเรียกผิด ๆ ถูก ๆ

 

สมุนไพรมีประโยชน์ แต่อาจมีโทษ

สมุนไพรถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคและเป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกายอย่างแพร่หลาย เพราะคนทั่วไปคิดว่าสมุนไพรเป็นพืช จึงไม่น่าจะมีพิษต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมุนไพรอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน  เนื่องด้วยสมุนไพรอาจมีสารปนเปื้อนร่วมด้วย ได้แก่

  • สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการแพ้ (Allergic reactions)  
  • สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse effects)
  • สมุนไพรที่ทำให้ยาที่ใช้เป็นประจำเพิ่มหรือลดระดับได้ (Herb and drug reactions)
  • สมุนไพรที่อาจมีการปนเปื้อนสารเคมีหรือเชื้อโรคในขั้นตอนการผลิต (Contamination) 

\'สมุนไพร\'มีเคมีจริงหรือ!  ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

  • สมุนไพรที่อาจมีการปลอมปนสารเคมีชนิดอื่นๆ (Adulterants) โดยส่วนใหญ่มักปลอมปนมากับสเตียรอยด์
  • สมุนไพรที่ทำให้เกิดการเป็นพิษ (Toxic reactions) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เคยมีมติให้ระงับการผลิตและเก็บยาสมุนไพรขี้เหล็กออกจากตลาด เนื่องจากในปี พ.ศ. 2542 มีรายงานว่า ใบขี้เหล็กในรูปแบบยาอัดเม็ดทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคาวา (Kava) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ก็ทำให้เกิดการเป็นพิษต่อตับเช่นกัน

 

รู้จักกระบวนการผลิตยาสมุนไพร ไม่ใช่ไม่มีเคมี

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาเม็ดเคลือบ ยาน้ำ และยาครีม เป็นต้น โดยยาเม็ดเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีความคงตัวดีทั้งทางกายภาพและเคมี และสะดวกในการรับประทาน

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายถึงกระบวนการผลิตยาสมุนไพรว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาสมุนไพรได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งการผลิตยาสมุนไพรนั้น จะมี 2 วิธีหลักๆ คือ การใช้ตัวยาสมุนไพรมาบด หรือมีกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้สารสกัดจากสมุนไพร แต่จะไม่มีการใช้สารอื่นๆ เข้ามาผสม กับอีกแบบ จะเป็นการใช้ตัวยาสมุนไพร ร่วมกับสารอื่นๆ ที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาสมุนไพรในท้องตลาด มีทั้งแบบใช้เฉพาะตัวยา และมีเคมีเข้ามาผสมเพื่อให้เกิดความคงตัวได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ จะไม่ได้มีผลหรืออันตรายต่อผู้บริโภค เพราะอยู่ในปริมาณที่กำหนด 

"กรณีที่มีกระแสออกมาว่าสมุนไพร ก็มีสารเคมีนั้น จริงๆ กระบวนการผลิตยาสมุนไพร หรือยาต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนมีสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาจากธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่ามีอันตรายต่อร่างกาย แต่การรับประทานยานั้น ไม่ว่าจะยาสมุนไพร หรือยาปกติ หากรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ผิดวิธีย่อมส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น การรับประทานยาสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาปกติ ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ"

\'สมุนไพร\'มีเคมีจริงหรือ!  ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

ข้อมูลวิจัยชี้ชัด ไม่มีสมุนไพรตัวไหนรักษาโรคไตได้

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ได้ยืนยันว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้

เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต

สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อน  เช่น โลหะหนัก

สมุนไพรอาจมีสารปลอมปน เช่น ยาแก้ปวด สเตียรอยด์

สมุนไพรและพืชบางชนิดมีพิษต่อไตโดยตรง หรือทำให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคไตได้ เช่น ไคร้เครือ (Aristolochia) ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ, มะเฟือง (Star fruit) ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน, ปอกะบิด (East Indian screw tree) ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ, ชะเอมเทศ (Licorice) ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, น้ำลูกยอ (Morinda citrifolia L) ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้

พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวใด ที่มีการวิจัยในมนุษย์โดยวิธีการวิจัยที่เหมาะสม แล้วสามารถพิสูจน์ได้ว่าช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น และยังต้องระวังการใช้สมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการใช้สมุนไพรผิดชนิดและมีสิ่งหรือสารปนเปื้อน เช่น สเตียรอยด์ สารหนู แคดเมียม ซึ่งอาจมีผลต่อโรคไตได้ 

สำหรับสมุนไพรอีกชนิด คือถั่งเช่า ซึ่งมีแพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย มีทั้งศิลปิน ดารา นักแสดง พิธีกร ต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชียลมีเดีย

\'สมุนไพร\'มีเคมีจริงหรือ!  ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

เช็กสมุนไพรที่มีผลต่อการทำงานของไต 

ปัจจุบันคนไทยป่วยไตวายเรื้อรัง 17% หรือประมาณ 11 ล้านคน นับว่าเป็นจำนวนที่มาก เมื่อเทียบกับอายุรแพทย์โรคไตทั้งประเทศที่มีเพียง 850 คน หากไม่ลดความเจ็บป่วย ให้ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากเท่าไร ก็รักษาไม่ทั่วถึง

ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ แพทย์อายุรกรรมโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สมุนไพรที่มีผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยแล้ว มีดังนี้

  • เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนที่ดังมากในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต แต่ที่จริงหากผู้ป่วยที่กำลังฟอกเลือดแล้วรับประทานเห็ดหลินจือเข้าไป จะทำให้ไตเสื่อมไตวายได้
  • มะม่วงหาวมะนาวโห่ อาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเสียชีวิตได้
  • มะเฟือง มีกรดออกซาเลตหรือกรดออกซาลิก ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน
  • ตะลิงปลิง และ ป๋วยเล้ง กินเยอะ อาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน
  • แครนเบอรี่ ส่วนใหญ่มักทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รับประทานมากทำให้เกิดนิ่ว และผลการทำงานของไตผิดปกติ
  • ไคร้เครือ เพราะทำให้ไตวายและเป็นมะเร็งระบบปัสสาวะ
  • สมุนไพรกลุ่มใบชา ปอกะบิด หรือกาแฟบางชนิดที่นำมาแปรรูปในโฆษณาในเรื่องลดน้ำหนัก จะส่งผลต่อค่าของตับและไตจะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องระวังการปนเปื้อนสารอันตรายจากกระบวนการผลิตด้วย ซึ่งจากการสุ่มตรวจพบปนเปื้อนสเตียรอยด์ถึง 30% และยังพบสารหนู แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีผลต่อโรคไต
  • โสม หากทานไม่ถูกวิธี อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง
  • น้ำลูกยอ อันตรายเพราะมีอาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต
  • ชะเอมเทศ อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
  • หญ้าหนวดแมว อาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต

\'สมุนไพร\'มีเคมีจริงหรือ!  ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

รับประทานสมุนไพรอย่างไร? ให้ปลอดภัย

การรับประทานสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลต่อค่าการทำงานของตับและไตได้ โดยเฉพาะประเด็นของการปนเปื้อนสารอันตรายในสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีผลต่อไต

ดังนั้น ในคนปกติ หากต้องการรับประทานสมุนไพร ควรเลือกสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีการขึ้นทะเบียน ดูแหล่งที่มาของสมุนไพร เช่น การเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน ปราศจากสารเคมี มีโรงงานผลิตที่ได้คุณภาพ มีห้องปฏิบัติการวิจัยที่ได้มาตรฐาน และมีข้อมูลการศึกษาในมนุษย์ที่มากพอ และควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ รวมถึงต้องมีการตรวจการทำงานของตับและไต เป็นระยะ ๆ

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไม่แนะนำให้รับประทานยาสมุนไพร ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีสมุนไพรใดที่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนเพียงพอว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังได้

สมุนไพรและวิตามิน ทำให้ตับพังได้อย่างไร

โรคตับ เป็นโรคที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตติด 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ดังนั้น การตรวจสุขภาพตับเป็นประจำ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ
  • ผู้ป่วยโรคตับ หรือสงสัยว่าเป็นโรคตับ เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคตับแข็ง
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีอาการตาเหลืองและตัวซีดเหลืองผิดปกติ

แม้ผลกระทบจากการใช้สมุนไพรและวิตามินจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปและต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยเฉพาะสุขภาพตับ ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงร่างกาย แนะนำว่าให้ศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อน หรือสามารถสอบถามรายละเอียดการใช้สมุนไพรและวิตามินเหล่านี้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน และที่สำคัญ ควรหยุดใช้ทันทีเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

\'สมุนไพร\'มีเคมีจริงหรือ!  ใช้อย่างไร? ไม่ให้สะเทือนไต

กินวิตามินมากไป ทำลายสุขภาพไม่รู้ตัว

วิตามิน มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งแหล่งที่มาของวิตามินโดยทั่วไป คือ อาหาร และจากกระบวนการผลิตภายในร่างกาย ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายได้รับวิตามินบางชนิดไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ทำให้บางคนพยายามหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยนั้นด้วยการเพิ่มแหล่งวิตามินให้กับร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารเสริม รวมถึงวิตามินแบบอัดเม็ด อย่างไรก็ตาม หากร่างกายได้รับวิตามินมากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี ก็อาจส่งผลเสียได้มากมายเช่นกัน

  • วิตามิน เอ

เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันและสามารถสะสมไว้ในร่างกายเพื่อเก็บไว้ใช้งาน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือรับเป็นระยะเวลานานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผมร่วง ตับอักเสบ โดยเฉพาะในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

  • วิตามิน ซี

เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมได้ การรับประทานวิตามินซีมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะอึดอัดแน่นท้อง ท้องเสีย รวมถึงระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือถ้าหากกินวิตามินซีติดต่อกันนานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นนิ่วในไตได้

  • วิตามิน ดี

เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองจากผิวหนังเมื่อสัมผัสกับแสงแดด มีประโยชน์ในการยับยั้งการเกิดโรคกระดูกพรุนและลดการแตกหักของกระดูก รวมทั้งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นนิ่วในไตได้เช่นกัน

  • วิตามิน อี

เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ใช้ในการรักษาภาวะไขมันพอกตับ แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้

  • สังกะสี

ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและป้องกันเชื้อโรค และสามารถขับออกทางอุจจาระได้ ถ้าร่างกายดูดซึมได้ไม่หมด แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ

  • ธาตุเหล็ก

เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง ช่วยลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ทั่วร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และเกิดการเป็นพิษต่อเซลล์ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

อ้างอิง:โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร , สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย , โรงพยาบาลสมิติเวช