ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

“ปลัดเกษตรฯ” ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ปี 2567 เชื่อมั่นทุกฝ่ายมีความพร้อมจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หลังผ่านซ้อมใหญ่วันที่ 29 เม.ย. และ 7 พ.ค. นี้ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เวลาประมาณ 06.30 น. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) ณ ท้องสนามหลวง โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่

ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เข้าร่วมในการซ้อมใหญ่ดังกล่าว

ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

โดยขณะนี้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ตามฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09-08.39 น. ทั้งนี้ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณมีความงดงาม และมีความหมายต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพการทำนาและผู้ประกอบอาชีพการเกษตร

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่นิยมเรียกว่า พิธีแรกนา กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้น ในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก

ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งสมัย กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เว้นแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2564 ซึ่งประเทศไทยประสบสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมิได้มีการจัดงานพระราชพิธีฯ และได้เริ่มมีการจัดพระราชพิธีฯ ในรูปแบบปกติ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

“สำหรับในปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2567 และ ขอเชิญเกษตรกรและประชาชนรับชมการถ่ายทอดพระราชพิธีฯ ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อโซเชียลมีเดีย สำหรับการเตรียมงานพระราชพิธีฯ ในปี 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 และแต่งตั้งคณะทำงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 จำนวน 21 คณะ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสังกัดและหน่วยงานภายนอกเป็นอย่างดียิ่ง เพื่อให้การดำเนินงานพระราชพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์” ปลัดเกษตรฯ กล่าว

ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567 ซ้อมใหญ่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น“วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล แก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯ ยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประเภทต่าง ๆ รวมทั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย