ไปตลาดอย่าสับสน 10 ผักที่คนเรียกผิด ๆ ถูก ๆ

ไปตลาดอย่าสับสน 10 ผักที่คนเรียกผิด ๆ ถูก ๆ

ผักชนิดนี้เรียกว่าอะไร ? เปิดลิสต์ผัก 10 ชนิด ที่มีคนมักเรียกผิด เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือ เข้าใจผิดกันมาตลอด พร้อมวิธีแยกที่จะไม่ทำให้สับสนอีกต่อไป

ประเทศไทยมีพืชผักนานาชนิดที่นำมาใช้ปรุงอาหาร ขณะเดียวกันก็มีผักหลายชนิดที่สร้างความสับสนให้แก่คนที่ไม่ค่อยได้เข้าครัว ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วผักชนิดนี้เรียกว่าอะไรกันแน่ กรุงเทพธุรกิจรวบรวมคู่พืชผักสมุนไพรชวนฉงน พร้อมวิธีแยกที่จะทำให้เวลาไปจ่ายตลาดไม่หยิบผิดอย่างแน่นอน

 

  • ขึ้นฉ่าย VS ตั้งโอ๋

กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ว่าผักชนิดนี้เรียกว่าอะไรกันแน่ อันไหนคือ “ขึ้นฉ่าย” อันไหนคือ “ตั้งโอ๋” ซึ่งชาวเน็ตหลายคนแชร์ประสบการณ์ว่าเคยทะเลาะกับแม่ค้าเพราะเรื่องนี้กันมาแล้ว แถมเว็บไซต์ของตลาดใหญ่ในประเทศไทยหลายแห่ง ยังขึ้นรูปขึ้นฉ่ายในหน้าข้อมูลของตั้งโอ๋ด้วย 

หากดูลักษณะหน้าตาของผักทั้ง 2 ชนิดไม่ได้มีความคล้ายคลึงกัน แต่อาจเป็นเพราะคนในบางท้องที่เรียกขึ้นฉ่ายว่าตั้งโอ๋มานาน จนเข้าใจว่าตั้งโอ๋คือขึ้นฉ่ายไปโดยปริยาย สำหรับจะขึ้นฉ่ายจะมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว จึงนิยมใส่ในเมนูอาหารทะเลเพื่อดับกลิ่นคาว มีใบเป็นหยักแหลม ลักษณะคล้ายผักชี แต่มีใบและต้นใหญ่กว่า และมีสีเขียวอ่อนไปจนถึงอมเหลือง สามารถกินได้ทั้งใบและต้น

ส่วนตั้งโอ๋มีลักษณะใบเรียวยาวมีขอบหยักเล็กน้อยมีสีเขียวเข้ม หนึ่งก้านมีเพียงใบเดียวคล้ายกับผักชีฝรั่ง ไม่เหมือนกับขึ้นฉ่ายที่มีกิ่งก้าน หนึ่งต้นมีหลายใบ นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารเอเชีย โดยเฉพาะอาหารจีนกวางตุ้ง

 

เมนูที่นิยม

ขึ้นฉ่าย: ยำ, ข้าวต้มปลา, ปลาผัดขึ้นฉ่าย

ตั้งโอ๋: แกงจืด, ตั๋งโอ๋ผัดไข่, หม้อไฟ

  • กะเพรา VS โหระพา VS แมงลัก

กลุ่มผักใบเขียวที่อยู่คู่ครัวไทยมานานอย่างกลุ่ม “กะเพรา” “โหระพา” และ “แมงลัก” ที่ดูเผิน ๆ คล้ายกันอย่างกับแกะ ทำผู้คนสับสนมานักต่อนัก แต่ถ้าหากสังเกตดี ๆ จะพบว่าทั้ง 3 ชนิดมีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เริ่มจากใบกะเพรา ที่มาทำ “ผัดกะเพรา” เมนูสิ้นคิดของใครหลายคน แตกต่างจากสองชนิดที่เหลือ เพราะขอบใบมีหยักฟันเลื่อย และมีกลิ่นฉุน ส่วนลำต้นจะมีสีเขียว และมีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป ขณะที่โหระพาและแมงลักจะมีลักษณะใบที่เหมือนกัน คือมีใบรี ขอบเรียบ ปลายใบแหลม แต่โหระพาและมีสีเข้มกว่าเล็กน้อย ลำต้นและใบประดับจะมีสีอมม่วง มีกลิ่นหอม มักใช้ใส่ในแกงไทยหลายชนิดเพื่อดับกลิ่นคาว

ขณะที่ใบแมงลักมีสีเขียวอ่อนกว่าใบโหระพา มีขนอ่อนนิ่ม ที่สำคัญช้ำและเหี่ยวง่าย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวคล้ายพืชตระกูลส้ม โดยส่วนใหญ่มักกินสดเป็นผักแนมของอาหารต่าง ๆ 

 

เมนูที่นิยม

กะเพรา: ผัดกะเพรา, ทอดกรอบโรยบนทอดมัน, ผัดฉ่า

โหระพา: ก๋วยเตี๋ยวเรือ, ห่อหมก, ฉู่ฉี่, แกงไทยต่าง ๆ 

แมงลัก: ผักแนมขนมจีน, แกงอ่อม

  • ขิง VS ข่า VS ขมิ้นขาว

กลุ่มสมุนไพรตระกูลเหง้าก็สร้างความสับสนไม่น้อย ทั้ง “ขิง” “ข่า” และ “ขมิ้นขาว” แม้จะใช้ปรุงอาหารต่างกัน แต่รูปร่างกับคล้ายกันและเป็นพืชตระกูลเดียวกัน ซึ่งในบรรดา 3 ชนิดนี้ ข่าจะมีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลือง เห็นเส้นใยและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทั้งนี้หากเป็นข่าอ่อนจะมีสีแดงเรื่อ ๆ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เครื่องแกงไทยส่วนใหญ่จะขาดไม่ได้

ส่วนขิง จะมีเปลือกเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง มีหัวและแง่งเล็กกว่าข่า รูปร่างเหมือนฝ่ามือ ประกอบด้วยแง่งเล็ก ๆ คล้ายนิ้วมือ เนื้อมีสีเหลือง มีรสชาติหวานแต่เผ็ดร้อน สามารถทำอาหารได้มากมาย ทั้งใส่ในอาหาร นำไปดองเป็นเครื่องเคียง ทำเป็นเครื่องดื่มก็ยังได้

ขณะที่ ขมิ้นขาว จะมีสีคล้ายขิง แต่ที่แตกต่างคือ ขมิ้นขาวจะไม่มีแง่ง เนื้อในมีสีอ่อนกว่าขิง มีรสชาติแรงกว่าข่า ส่วนมากนิยมกินสดคู่กับน้ำพริกต่าง ๆ และมักเห็นถูกนำไปเป็นแคปซูลยาบำรุงร่างกาย

 

เมนูที่นิยม

ขิง: โจ๊ก, น้ำขิง, ไก่ผัดขิง, ขิงดอง

ข่า: ต้มยำ, ต้มข่าไก่, เครื่องพริกแกง 

ขมิ้นขาว: ผักเคียงน้ำพริก


 

  • กะหล่ำปลี VS ผักกาดแก้ว

คู่สุดท้ายเป็นคู่ผักที่อยู่ในชามสลัดอย่าง “กะหล่ำปลี” และ “ผักกาดแก้ว” แม้ว่าผักทั้ง 2 ชนิดไม่ได้คล้ายกันมากขนาดนั้น แต่ถ้าหากไม่ดูให้ดีก็อาจจะหยิบสลับกันก็เป็นได้ เพราะทั้งคู่มีลักษณะกลม ๆ แป้น ๆ สีเขียวเหมือนกัน เพียงแต่กะหล่ำปลีจะมีใบที่เรียบมีรอยเส้นใบที่ชัดเจน แถมกะหล่ำปลีมีใบที่ลีบติดกันเป็นชั้น ๆ 

ส่วนผักกาดแก้วจะมีใบที่เป็นคลื่น ไม่เรียบติดกันเป็นชั้น ๆ และไม่มีรอยหยักที่ชัดเจน มีผิวเงากว่ากะหล่ำปลีอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งมีความกรอบมากกว่ากะหล่ำปลี

 

เมนูที่พบเห็นได้

กะหล่ำปลี: กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา, ผักเคียงไส้กรอกอีสานและแหนม, สุกี้และหมูกระทะ

ผักกาดแก้ว: สลัด, แกงจืด


ที่มา: ครัวบ้านและสวนBester EatsMen Details

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี

ไปตลาดอย่าสับสน 10 ผักที่คนเรียกผิด ๆ ถูก ๆ