จุฬาฯทำให้ "เนติวิทย์" เป็น "จิตร ภูมิศักดิ์" คนที่สอง | ชำนาญ จันทร์เรือง

จุฬาฯทำให้ "เนติวิทย์" เป็น "จิตร ภูมิศักดิ์" คนที่สอง | ชำนาญ จันทร์เรือง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤติ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ กรณีกิจกรรมต้อนรับนิสิตใหม่

คำสั่งลงโทษดังกล่าวเกิดจากกรณีการเชิญนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการทางการเมือง ซึ่งเป็นลี้ภัยอยู่ญี่ปุ่น อาจารย์ประจำ ม.เกียวโต,นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 2 แกนนำคณะราษฎร 63 มาจัดกิจกรรมต้อนรับนิสิตใหม่ ตามที่ทราบกับโดยทั่วไปแล้ว 

จุฬาฯ ออกคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0821/2565 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ซึ่งสำนักบริหารกิจการนิสิต ระบุว่าสืบเนื่องจากการจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2564 ที่จัดขึ้นในรูปแบบไลฟ์สด 

มีนิสิต 2 ราย ที่กระทำผิดวินัยนิสิต ได้แก่ นางสาวพิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ นิสิตปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 1 และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การสโมสรนิสิตฯ 

โดยบรรยายความผิดของนางสาวพิชชากรไว้ว่า มีเจตนากระทำกิจกรรม โดยขัดต่อวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมของสำนักบริหารกิจการนิสิต อันได้แก่ ให้นิสิตใหม่เกิดความประทับใจในมหาวิทยาลัย ด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์ของวิทยากรรับเชิญสามราย คือ นายปวิน, น.ส.ปนัสยา และนายเพนกวิน โดยไม่ได้แจ้งให้สำนักบริหารกิจการนิสิตทราบก่อน 

ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าว มีข้อความของนายเพนกวินที่กล่าวเชิญชวนให้นิสิตใหม่ให้ของลับ ทั้งยังมีกิริยาท่าทางและคำพูดที่สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า หยาบคาย 

สำหรับเนติวิทย์ สำนักบริหารกิจการนิสิตบรรยายความผิดไว้ว่า ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และรู้เห็นเป็นใจกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยเป็นผู้ติดต่อนายเพนกวินให้เป็นวิทยากรรับเชิญ และนายเนติวิทย์ได้โพสต์ถึงการมีกิจกรรมดังกล่าวในสื่อมัลติมีเดียของตน

นอกจากนั้น ยังจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่ตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่ได้ระบุไว้ในกำหนดการว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสำนักบริหารกิจการนิสิตหรือไม่ จึงมีความผิดตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต ตามข้อ 6 และ 12 เช่นเดียวกัน

สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี ขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย และการจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง มีความผิดตามวินัยนิสิต ตามข้อ 6 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต ปี พ.ศ. 2527 และฐานนำขนบประเพณีหรือวิธีการอันไม่เหมาะสมแก่วัฒนธรรมไทยมาปฏิบัติ ตามข้อ 12 ของระเบียบเดียวกัน 

จึงตัดคะแนนความประพฤติของทั้งสองคน คนละ 10 คะแนน และในส่วนของนายเนติวิทย์ จะมีผลให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยทันที

ต่อมาเนติวิทย์ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ใจความสรุปได้ว่าตนเองถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อรัฐประหาร โดยไม่สนใจไยดีคะแนนเสียงนิสิตมากกว่าหมื่นคนที่เลือกตนเองเข้ามาทำหน้าที่นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรตินี้ไม่เคารพหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตย….. 

….. อนึ่ง รองอธิการบดีฯผู้ที่ลงนามในคำสั่งลงโทษตนเองเป็นคนเดียวกับประธานคณะกรรมการตัดสินลงโทษตนเองและเพื่อนๆ ให้หลุดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิตในปี 2017 จนตนเองฟ้องศาลปกครองชนะ จึงได้รับคะแนนกลับและสามารถมาลงเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตฯได้  การที่เขาและพรรคพวกจะปลดตนเองอีกครั้งไม่ใช่เรื่องผิดคาด 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเนติวิทย์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตร ภูมิศักดิ์ ในอดีต กล่าวคือ เมื่อ 69 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งจิตรเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ อายุเพียง 23 ปี ในฐานะสาราณียกร เขาได้ปฏิวัติการจัดทำหนังสือ ‘23 ตุลาคม 2496’ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีขึ้นใหม่ 

โดยปรับรูปแบบปกจากเดิม ซึ่งมีเพียงพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหน้าปก และปรับเนื้อหาด้วยการพิมพ์บทความที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมในการตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ 

อาทิ พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค/แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบสิทธารถะ/ปรัชญาวัตถุนิยมได      อะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถะผิดกันอย่างฉกรรจ์ตรงนี้ ซึ่งเป็นการเขียนวิจารณ์ความเสื่อมทรามของพระภิกษุสงฆ์ที่หากินภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งจิตรเป็นผู้เขียนเองในนามปากกา ‘นาครทาส’

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้จิตรต้องชี้แจงกับนิสิตจุฬากว่า 3,000 คนในหอประชุม ในขณะนั้นมีนิสิตคนหนึ่ง ขึ้นเวทีไปจับจิตรโยนลงจากเวทีสูง 5 ฟุตเพื่อลงโทษ เรียกต่อมาว่า ‘โยนบก’ เทียบเคียงกับ ‘โยนน้ำ’ ซึ่งเป็นการลงโทษตามธรรมเนียมในขณะนั้น แต่เพิ่มโทษให้หนักขึ้น 

นอกจากที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการโยนบกไม่ถูกลงโทษแล้ว แต่ผู้โดนลงโทษกลับเป็นจิตรเสียเอง โดยถูกลงโทษพักการเรียน 1 ปี ซึ่งการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน คนที่กระทำผิด คนที่ละเมิดไม่เคยถูกลงโทษ หลังจากนั้นจิตรยังถูกพักการเรียน 12 เดือน เพราะถูกหาว่าเอียงซ้าย 

ต่อมาจิตรเสียชีวิตในปี 2509 หลังเข้าป่าเพื่อร่วมต่อต้านการปกครองของเผด็จการทหาร และมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ บริเวณที่จิตรถูกยิงเสียชีวิต พร้อมสร้างรูปปั้นจิตรแบบครึ่งตัวไว้ ที่บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และมีการจัดงานวัน "จิตร ภูมิศักดิ์" ในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี

จวบจนปัจจุบันชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงเป็นที่จดจำในฐานะของนักต่อสู้และนักปราชญ์ที่สำคัญของคนไทย ซึ่งเนติวิทย์ก็มีความเป็นนักต่อสู้และเป็นผู้รู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งคนหนึ่งเมื่อเทียบกับคนในรุ่นเดียวกันเช่นกัน ซึ่งทั้งจิตรและเนติวิทย์ต่างก็ถูกลงโทษจากจุฬาฯเหมือนกัน
ฤาว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่งเสียแล้วกระมัง