ค่าแรง-แบงก์ชาติ-ลาออก??

ค่าแรง-แบงก์ชาติ-ลาออก??

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า “ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ” เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมระยะยาว แต่รัฐบาล ต้องการมีผลงานระยะสั้น เน้นให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ปรับครม.เศรษฐา 2  ก้นหม้อข้าวยังไม่ทันดำ ร่องรอยความปริร้าวของรัฐบาลก็โผล่มาให้เห็นซะแล้ว ไล่เรียงมาตั้งแต่การประกาศลาออกของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศและทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 

ผ่านไป 4 ชั่วโมง ตามมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งของ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 การลาออกของ 2 รัฐมนตรีสะท้อนอะไรในรัฐบาล เกิดคำถามว่า อะไรที่ทำให้คนเราไม่สามารถทำงานอยู่ร่วมกันต่อไปได้จนถึงขั้นต้องลาออก ทั้งๆที่เพิ่งถ่ายรูป รมต.คลัง ไปไม่ถึง 24 ชม.

ทว่าการลาออกของรัฐมนตรีช่วย โควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่รับราชการในกระทรวงการคลังมาโดยตลอด ไม่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาล

เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่สรุปใจความได้ว่าทราบว่ามีความไม่สบายใจในการแบ่งงาน  ซึ่งได้ขอให้ไปคิดก่อนหนึ่งคืน เรื่องนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้น ยังมีโปรเจกต์อีกมาก ที่อดีตปลัดกระทรวงการคลัง สามารถผลักดันนโยบายต่างๆได้ดี สามารถทำงานร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็พร้อมที่จะมอบหมายงานเพิ่มเติมให้ 

รอยร้าวของรัฐบาลไม่ใช่จะมีแค่การลาออกของ 2 รัฐมนตรีเท่านั้นที่สังคมจับตามอง ยังมีเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศทุกกิจการในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ ที่สร้างความวิตกให้กับภาคเอกชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั่วประเทศจะยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ในวันที่ 13 พ.ค.ให้พิจารณาทบทวน เพราะเกรงว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทำให้เกิดการเลิกจ้างและธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 

ที่สำคัญรัฐบาลได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3  

พร้อมอธิบายว่าการดำเนินนโยบายที่หวังผลทางการเมืองจะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมของการขึ้นค่าแรงได้ เพราะการปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (Productivity) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต 

ผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวต้องมีต้นทุนการจ้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% อาจนำไปสู่การเลิกกิจการและเลิกจ้าง การขึ้นค่าแรงทันทีจึงเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาใหม่ จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้การที่รัฐบาลมีความพยายามที่ให้นโยบายการเงินและการคลังของแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง ไปทิศทางเดียวกัน

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า “ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ” เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมระยะยาว แต่รัฐบาล ต้องการมีผลงานระยะสั้น เน้นให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ต้องดูว่าหากมีการหารือร่วมกันระหว่าง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่า ธปท.คนที่ 24 ทั้ง 2 หน่วยงานจะมีความพยายามที่จะหันหน้าเข้าหากัน และมีจุดยืนร่วมกันได้อย่างไร