“เนติวิทย์” เปิดใจหลังถูกปลดพ้น “นายก อบจ.” ซัดผู้บริหารไม่เคารพเสรีภาพ

“เนติวิทย์” เปิดใจหลังถูกปลดพ้น “นายก อบจ.” ซัดผู้บริหารไม่เคารพเสรีภาพ

“เนติวิทย์” เปิดใจชี้แจงหลังถูกจุฬาฯปลดพ้นเก้าอี้ “นายก อบจ.” หลังเชิญ “ปวิน-เพนกวิน-รุ้ง” ไลฟ์เซอร์ไพรส์นิสิตใหม่ เผยไม่ผิดคาดโดนคำสั่งนี้ ซัดไม่สนใจคะแนนเสียงนิสิตกว่าหมื่นคนที่เลือกเข้ามา แสดงให้เห็นผู้บริหารไม่เคารพหลักการเสรีภาพ-ประชาธิปไตย

จากกรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ระบุว่า จุฬาฯสั่งปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ออกจากตำแหน่งนายก อบจ. เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในการเชิญนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชื่อดัง และอาจารย์ประจำ ม.เกียวโต นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) 2 แกนนำม็อบราษฎร มาไลฟ์เซอร์ไพส์ในกิจกรรมต้อนรับนิสิตใหม่นั้น

อ่านข่าว: จุฬาฯปลด “เนติวิทย์” พ้นนายก อบจ. เชิญ “ปวิน-เพนกวิน-รุ้ง” ต้อนรับนิสิตใหม่

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2565 นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ในนามส่วนตัว ชี้แจงกรณีถูกจุฬาฯ ปลดพ้นนายก อบจ.ดังกล่าว ว่าวันนี้ได้เข้าไปรับทราบคำสั่งของนายชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีจุฬาฯ ที่ได้สั่งตัดคะแนนพฤติกรรม ตนและอุปนายกคนที่ 1 ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เนื่องจากการเชิญเพนกวิน รุ้ง และนายปวิน มากล่าวต้อนรับนิสิตใหม่ในงานปฐมนิเทศ คำสั่งนี้ทำให้หมดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯโดยทันที หรืออีกนัยคือถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อรัฐประหารแล้ว พวกเขาไม่สนใจไยดีคะแนนเสียงนิสิตมากกว่าหมื่นคนที่เลือกตนเข้ามาทำหน้าที่นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรตินี้ไม่เคารพหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตย

“อันที่จริง ผลลัพธ์นี้มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก ใครก็ตามที่กล้าพอจะมีกระดูกสันหลังในสังคมซึ่งนิยมการหมอบคลานนี้ก็ต้องถูกผู้มีอำนาจข่มเหงอยู่แล้ว เรื่องน่าอัปยศก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับมิได้อยู่ฝ่ายคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยและมิได้มีจุดยืนอยู่ข้างพุทธิปัญญา หากแต่เชื่อฟังและโอนอ่อนผ่อนตามอำนาจนำของฝ่ายเผด็จการ” นายเนติวิทย์ ระบุ

นายเนติวิทย์ ระบุอีกว่า นายชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีจุฬาฯ ที่เซ็นคำสั่งลงโทษ เป็นคนเดียวกับประธานคณะกรรมการตัดสินลงโทษตนและเพื่อน ๆ ให้หลุดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิตในปี 2017 จนฟ้องศาลปกครองชนะจึงได้รับคะแนนกลับมาลงเลือกตั้งอีกครั้ง การที่เขาและพรรคพวกจะปลดอีกครั้งไม่ใช่เรื่องผิดคาด แต่เรื่องที่ผิดคาดอย่างเดียวคือ ปีการศึกษานี้เป็นที่ยากลำบากที่สุด จากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้สังคมแทบทุกด้านย่ำแย่ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตอย่างน้อย 8 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิต และมีนิสิตอีก 30 คนอาจจะถูกรีไทร์เพราะการเรียนออนไลน์ แม้ว่าครอบครัวทุกคนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มหาวิทยาลัยกลับลดค่าเทอมให้เพียงร้อยละ 10 ทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ก็ถูกห้ามจัด แทนที่มหาวิทยาลัยจะใช้ “ยุทธศาสตร์” แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ ผู้บริหารกลับใจเท่าหางอึ่ง เดือดร้อนใจอย่างหนักกับการที่เพนกวินบอกว่า นิสิตก็เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยไม่น้อยไปกว่าผู้บริหาร ชูนิ้วกลางท้าทายขึ้นมาในวิดีทัศน์ปฐมนิเทศ ถึงกับรีบร้อนและจริงจังตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความผิดตนและอุปนายกคนที่1 ที่จัดงานนี้ ตั้งใจทำให้หลุดออกจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตให้ได้
 

“ตัวผมนั้นไม่ได้ติดใจเรื่องตำแหน่ง เพราะตำแหน่งไม่ใช่เรื่องหลัก ก่อนหน้าจะมีตำแหน่ง ผมก็ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบๆ มาโดยตลอด ผมสนุกและดีใจที่ได้รับใช้เพื่อนนิสิต พยายามหาโครงการต่างๆ ทำให้สังคมของเราดีขึ้น (แน่นอนว่า บางโครงการมหาวิทยาลัยก็คงรับไปเป็นผลงานของตน) ถึงผมไม่ได้มีตำแหน่งแล้ว แต่จะไม่ทอดทิ้งเสียงหมื่นเสียงที่ไว้วางใจ” นายเนติวิทย์ ระบุ