'ทักษิณ' สายล่อฟ้าของจริง 'ดาบสองคม' รัฐบาลเศรษฐา

'ทักษิณ' สายล่อฟ้าของจริง 'ดาบสองคม' รัฐบาลเศรษฐา

พลัน ”เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ว่า หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” พ้นโทษ จะมีบทบาทให้คำปรึกษารัฐบาล เท่านั้นเอง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองจะมีผลกระทบต่อรัฐบาลและไม่เหมาะที่จะแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็ตามมาทันควัน

อดีตที่คนไทยยังหลอน เอาแค่ย้อนดู 8 คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 6 คดี รวมโทษ 12 ปี ก็พอจะเห็นภาพแล้ว

1.คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง สั่งจำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) ดามาพงศ์ ปัจจุบันคดีหมดอายุความแล้ว

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือคดี "หวยบนดิน" ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก นายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)

4.คดีให้บุคคลอื่น(นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา

5.คดีกล่าวหาว่าอนุมัติให้กระทรวงการคลัง เข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI คดีดังกล่าวศาลฎีกาฯได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้องตามเดิม

6.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือนายทักษิณ

7.คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม รวมถึงชื่อของนายทักษิณ ชินวัตรน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวนายทักษิณ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม “วังน้ำยม” และน้องสาวของนายทักษิณด้วย

8.คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

โดยคดีหลังๆ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายยังถือว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 หลัง “ทักษิณ” กลับมารับโทษ ศาลฎีกาฯ พิพากษาสั่งจำคุก 3 คดี รวม 8 ปี พร้อมควบคุมตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

และจากนั้น “ทักษิณ” ก็ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ จน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป 1 ปี ในฐานะเคยทำคุณงามความดีต่อประเทศชาติ

นี่คือ สิ่งที่ชี้ชัดว่า “ทักษิณ” มีรอยด่างพร้อยในอดีตถึงขั้นมีคดีและโทษติดตัว ซึ่งต่อให้พ้นโทษ แต่รอยด่างพร้อย ก็ยังคงติดตัว “ทักษิณ” ไม่มีวันลบเลือน

ขณะเดียวกัน การกลับมารับโทษของ “ทักษิณ” ยังเต็มไปด้วย ข้อครหามี “อภิสิทธิ์” เหนือนักโทษคนอื่น เนื่องจากเข้าไปอยู่ในเรือนจำไม่ทันข้ามคืน ก็อ้างมีอาการป่วยต้องถูกส่งมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีห้องวีไอพีรองรับ ทั้งที่มีโรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ “ทักษิณ” มีเอกสารรับรองการรักษาอาการป่วย 4 โรค มายืนยันด้วย คือ 1.โรคกล้ามเนื้อขาดเลือด ซึ่งต้องรับประทานยาอยู่ตลอดเวลา 2. ปอดอักเสบ เนื่องมาจากติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้เกิดพังผืดในปอด มีความผิดปกติของออกซิเจน 3. ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความดันผิดปกติ ต้องรับประทานยาตลอดเวลา 4. กระดูกสันหลังเสื่อมเกิดจากภาวะเสื่อมตามอายุ ขณะนี้ “ทักษิณ” มีอายุ 74 ปี จึงเกิดกระดูกสันหลังเสื่อม กดทับเส้นประสาทปวดเรื้อรัง ทำให้การทรงตัวผิดปกติ

ล่าสุด ไม่เพียง “ทักษิณ” ยังไม่กลับเข้าสู่เรือนจำ หากแต่ได้รับการเปิดเผยจาก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ว่า กำลังพักฟื้นจากการผ่าตัด โดยที่ไม่มีการเปิดเผยว่า ผ่าตัดอะไร หนักหนาสาหัสแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า “ทักษิณ” กำลังหาช่องทางที่จะขอพักโทษอีกด้วย ซึ่งเท่ากับว่า ถ้ามีช่องทางขอพักโทษได้ หรือไม่ก็มีวันสำคัญที่จะได้รับการลดโทษ อาจทำให้ “ทักษิณ” ติดคุกจริง ไม่ถึง 1 ปี ทั้งยังเป็นไปได้สูงว่า จะไม่ได้อยู่ในเรือนจำไปจนพ้นโทษ? ด้วยเหตุผลที่อยู่ในอาการป่วยนั่นเอง

นี่ก็อีกอย่าง ที่คนเคยมองภาพ “ทักษิณ” ติดลบในเรื่องของความเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดไม่เห็นแก่ความเสียหายเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม หลงเหลิงในอำนาจ ก็ยังคงเห็นภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนการให้สัมภาษณ์สื่อนอกของนายเศรษฐา ว่าจะขอคำปรึกษาจาก “ทักษิณ” หลังพ้นโทษ จนมีกระแสข่าวว่า เตรียมตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเอาไว้รอแล้ว

เรื่องนี้ “เศรษฐา” ได้ออกมาปฏิเสธข่าวทันควันเช่นกัน โดยให้สัมภาษณ์ ขณะร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 78 ว่า ไม่จริง สามารถไปถอดคำสัมภาษณ์ได้ จากสิ่งที่ถูกถามมาว่า จะปรึกษาหรือไม่ ตนก็ได้ตอบว่า หากเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็จะปรึกษา ซึ่งตนก็ได้ปรึกษาทุกท่าน และตั้งแต่รับตำแหน่งนายกฯ ก็เข้าไปรับคำปรึกษาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไปหาที่บ้าน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีได้ไปพบที่เชียงใหม่

ทั้งนี้นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับคำชื่นชมจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นเรื่องที่นายทักษิณมีความรู้ และตนไม่ได้ไปปรึกษา ตนคิดว่าประเทศไทยจะเสียหายอีกทั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นมือใหม่หัดขับ และการไปปรึกษาไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี หลายๆ คนที่ตนไปปรึกษา เช่น รองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตผู้แทนการค้าไทย หรือปลัดกระทรวง ก็ไปปรึกษาทั้งหมด

“ไม่ได้กีดกันใครทั้งสิ้น ไม่ได้กีดกันเรื่องสี และความเชื่อทางการเมือง อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ยินดี ไม่มีการพิจารณาที่จะไปตั้งเป็นท่านที่ปรึกษา ท่านเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาก่อนตั้งกี่ปี จะมารับเป็นที่ปรึกษา ท่านมีกฎ มีแนวทางมีหน้าที่รับผิดชอบในหน้าที่ของท่าน ที่อยากจะทำอยู่แล้ว”(สำนักข่าวไทย)

ที่สำคัญ เมื่อหันมาดูผลงานในอดีตของ “ทักษิณ” คนไทยก็ไม่อาจปฏิเสธเหมือนกัน ว่าได้สร้างคุณูปการเอาไว้ไม่น้อย

โดยจากการรวบรวมผลงาน “ทักษิณ” สมัยเป็นนายกฯ ของกรุงเทพธุรกิจ พบว่า เป็นผู้ริเริ่มหลายนโยบาย ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา พลังงาน ยาเสพติดและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนทำให้ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายถึง 2 สมัย ด้วยนโยบาย ลดความยากจนในชนบทอย่างเด่นชัด และจัดบริการสาธารณสุขในราคาที่สามารถจ่ายได้ ด้วยเหตุนี้ ฐานเสียงสนับสนุนของ “ทักษิณ” ส่วนใหญ่จึงมาจากคนยากจนในชนบท

นโยบายที่โดดเด่น ประกอบด้วย โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค “ทักษิณ” นำเอาแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่จะจัดตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าโครงการนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% ของประชากรเป็น 96% ของประชากร ซึ่งแม้จะถูกโจมตีเรื่องคุณภาพในการรักษาจากฝ่ายขั้วตรงข้าม แต่ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนชนบท ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อมีนาคม 2544 “ทักษิณ”ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดทุน และได้มีการกำหนดแผนเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

การนำ ปตท. เข้าตลาดหุ้นครั้งนั้น ทำให้เงินทุนเริ่มกลับเข้ามาในระบบการเงินของไทยช่วยปลุกตลาดหุ้นไทยขึ้นมาใหม่หลังอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนักเป็นเวลากว่า 4 ปี

หลังแปรรูปแล้วแม้รัฐบาลจะถือหุ้นในสัดส่วนลดลง แต่ ปตท.กลับส่งเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ “ทักษิณ” ยังได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆตามมาอีกมาก  

การปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ จากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) มาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของไอเอ็มเอฟ แม้ “ทักษิณ” จะได้รับคำทัดทาน อาจทำให้ประเทศขาดสภาพคล่อง แต่ “ทักษิณ” ก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด

ด้วยเหตุผลที่ว่า "...ผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก"

การชำระหนี้ดังกล่าว เป็นการชำระก่อนกำหนดถึง 2 ปี การพ้นพันธะจากไอเอ็มเอฟทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ และไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับปรับระดับอันดับเครดิต (Credit rating) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส จากระดับ BBB ขึ้นสู่ระดับ BBB+

ด้านนโยบายเศรษฐกิจ “ทักษิณ” ริเริ่มโครงการอย่างกองทุนพัฒนาไมโครเครดิต หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่หมู่บ้านเป็นผู้จัดการ เงินกู้ยืมการเกษตรดอกเบี้ยต่ำ การอัดฉีดเงินสดเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านโดยตรง (แผนเอสเอ็มแอล) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) โครงการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในชนบท

ที่สำคัญ นโยบายเศรษฐกิจของทักษิณ ถือว่า ช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 และลดความยากจน จีดีพีเติบโตจาก 4.9 ล้านล้านบาทเมื่อปลายปี 2544 เป็น 7.1 ล้านล้านบาทเมื่อปลายปี 2549 ประเทศไทยจ่ายหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศก่อนกำหนดสองปี ระหว่างปี 2543 ถึง 2547 รายได้ของภาคอีสานซึ่งเป็นภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศเพิ่มขึ้น 40% และอัตราความยากจนทั่วประเทศลดลงจาก 21.3% เหลือ 11.3% ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนโยบายด้านปราบปรามยาเสพติด แม้จะมีปัญหาฆ่าตัดตอนจำนวนมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปราบปรามในรัฐบาลยุคทักษิณ ทำให้ปัญหายาเสพติดลดลงไปมาก รวมถึงนโยบายด้านการต่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่า “ทักษิณ” มีทั้งด้านลบที่ยากคนไทยจะลืมเลือน ขณะเดียวกัน ก็มีด้านบวกที่คนไทยจะต้องจดจำเป็นประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งไม่ต่างจาก “ดาบสองคม” ขึ้นอยู่กับว่า“ทักษิณ” จะเลือกใช้คมไหน

ดังนั้น การที่นายเศรษฐา จะขอคำปรึกษาจาก “ทักษิณ” ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ ถือว่า สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นบุคคลที่มีทั้งประสบการณ์และความรอบรู้หลายด้าน แต่ขณะเดียวกันที่พึงระวังอย่างสูงเช่นกัน ก็คือ บทเรียนในอดีตที่นำพา “ทักษิณ” มาสู้จุดต่ำสุดของชีวิต หรือ “นักโทษ” คดีทุจริตทั้งหลาย รวมถึงความครอบงำรัฐบาลไปในทางที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จนกลับเข้าสู่ระบอบทักษิณอีกครั้งหรืออยู่ในภาวะ “นายกฯสองคน” อย่างที่หลายคนเป็นห่วงว่า “เศรษฐา” จะเป็นแค่หุ่นเชิด ถูกครอบงำทางความคิดหรือไม่   

แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ที่มีการสลายขั้วขัดแย้ง “เหลือง-แดง” ถือว่าคนที่มีปัญหากับ“ทักษิณ” ก็พร้อมให้โอกาส อีกครั้ง อยู่ที่ “ทักษิณ” จะใช้โอกาส ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่แค่ไหน หรือ ยังคงมุ่งแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และเพื่อนพ้องเหมือนที่ผ่านมา  

โอกาสนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นการปิดตำนานตัวเองของ “ทักษิณ” ว่าจะจบแบบ “วีรบุรุษ” หรือ “โมฆบุรุษ”