เทรนด์ Sleep Tourism 'ย้ายที่นอน' มาแรง! แนะโรงแรมปรับบริการ ดึงคนชาร์จพลัง
‘มาคาเลียส’ เปิดเทรนด์ ‘Sleep Tourism’ คนย้ายที่นอนมาแรง แห่ชาร์จพลังร่างกายและจิตใจ อีกเทรนด์คือ ‘Staycation’ เน้นการพักผ่อนในจังหวัดไม่ไกล เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ แนะโรงแรมที่พักปรับแผนการตลาดและบริการ
นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวม อี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า เทรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบ "Staycation" การท่องเที่ยวในละแวกจังหวัดที่ไม่ไกลมาก เน้นการทำกิจกรรมในโรงแรมที่พัก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน นวดสปา เป็นต้น และรูปแบบ "Sleep Tourism" หรือการท่องเที่ยวเพื่อการนอนพักผ่อน ย้ายที่นอน ชาร์จพลังให้กับร่างกายและจิตใจให้กับตัวเอง
ทั้ง 2 เทรนด์ถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหลังยุคโควิด-19 ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมองหาโรงแรม ที่พัก ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เน้นท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น เพราะต้องการความสงบ
ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก จำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ ห้องพัก (Room) ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการการพักผ่อนที่แท้จริง ดังนั้น ห้องพักต้องสะอาด แสงไฟพอดี อุณหภูมิในห้องต้องเหมาะสม ชุดเครื่องนอนต้องมีคุณภาพ หรืออาจเสริมด้วยอุปกรณ์สมาร์ทไอทีที่จะช่วยให้การนอนหลับสบายขึ้น บรรยากาศต้องเงียบสงบ
ถ้าเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ต้องมีการแบ่งโซนห้องพักเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เช่น แบ่งโซนห้องพักแบบครอบครัว ห้องพักที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เป็นต้น โดยห้องพักขนาดขนาดกลางและขนาดใหญ่ตั้งแต่ 35 ตารางเมตรขึ้นไป รวมถึงห้องพักแบบ Private Pool Villa จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ
ต่อมาคือ กิจกรรม (Activity) นอกเหนือจากการพักผ่อนแล้วกิจกรรมภายในโรงแรมที่พักก็เป็นส่วนสำคัญที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ช่วยให้หลับง่าย และช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม อย่าง การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การสอนโยคะ คลื่นเสียงบำบัด (Sound Healing) ธาราบำบัด Sub Board พายเรือ ต่อยมวย เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว อย่างเช่น ห้องสมุด ห้องชมภาพยนตร์ กิจกรรมทำอาหาร ก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าเลือกใช้บริการ
สุดท้ายคือ อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรงที่พักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือรับประทานอาหารภายนอกโรงแรม ดังนั้น การให้บริการอาหารและเครื่องดื่มจึงเป็นส่วนสำคัญ รูปแบบอาหารควรมีให้เลือกหลากหลายทั้งอาหารจานเดียวไปจนถึงบุฟเฟ่ต์ และขยายเวลาการให้บริการรูมเซอร์วิส (Room Service) ที่ยาวขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่สั่งอาหารรับประทานที่ห้องพัก ในส่วนของเครื่องดื่มควรมีน้ำเปล่าและน้ำให้แข็งให้บริการตลอดเวลาไม่จำกัดจำนวน ในจุดนี้แม้จะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นเซอร์วิสมายด์ (Service Mind) ที่ลูกค้าให้คะแนนสูงที่สุด
นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “นอกเหนือจากการปรับรูปแบบของเซอร์วิสแล้ว แผนการสื่อสารการตลาดก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจ รวมถึงการทำโปรโมชั่นต่างๆ ที่สอดรับกับรูปแบบบริการ อย่างการจัดทำเป็นแพคเกจห้องพักรวมอาหารเช้า กลางวัน และเย็น หรือแพคเกจห้องพักรวมกิจกรรม เป็นต้น เช่นเดียวกับมาคาเลียส ที่ได้ร่วมมือกับโรงแรมที่พักร่วมจัดทำแพคเกจพิเศษ ห้องพักรวมบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้ากลุ่ม Staycation และ Sleep Tourism ได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น”