ทิศทาง 'ธุรกิจค้าปลีกและบริการ' ปี 2567
ดัชนี RSI ภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการตลอดปี 2566 พบว่า ไม่สดใส ดัชนีลดลงต่ำกว่า 50 จุด ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ผ่านการเลือกตั้งเดือน พ.ค. การฟื้นตัวเป็นไปอย่างไม่สมดุลคาดการณ์ภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3-7 %
- ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 แนวโน้มฟื้นตัวช้าๆ อย่างไม่สมดุล ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้าน จาก "แรงลมต้าน" อย่างน้อย 4 ลูก
- จับตา "แรงลมหนุน" ที่ประจักษ์ชัดและพอคาดการณ์ได้มีราว 4 ลูกเช่นกัน
- ค้าปลีกค้าส่งทุกภูมิภาคทยอย “ฟื้นตัว” ยกเว้น อีสาน “ซึมยาว”
- ทิศทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งปี 2567 ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ
จากผลการสำรวจดัชนี RSI ภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการตลอดปี 2566 พบว่า ไม่สดใส ดัชนีลดลงต่ำกว่า 50 จุด ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ผ่านการเลือกตั้งเดือน พ.ค. เป็นต้นมา และการฟื้นตัวเป็นไปอย่างไม่สมดุลทั้งประเภทร้านค้าปลีกและประเภทของภูมิภาค
คาดการณ์ภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกและบริการ ปี 2567 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3-7 % (ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านค้าปลีก) เมื่อเทียบกับ GDP 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.2-3.8% คาดว่า กลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ส่วน Non-store retailing ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
โดยสรุป ภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ ปี 2567 จะค่อยๆ ฟื้นตัวช้าๆ อย่างไม่สมดุล ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้าน จาก “แรงลมต้าน” อย่างน้อย 4 ลูก กระแสลมต้านทั้ง 4 ลูกนี้ คาดว่าจะยังคงอยู่กับประเทศไทยไปตลอดปี ซึ่งประกอบด้วย
1.เงินเฟ้อไม่ลด ดอกเบี้ยก็จะยังมีโอกาสเพิ่มสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะยังคงสูงต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ปัญหาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาจมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก นอกเหนือจากสินค้าราคาแพง สินค้าบางชนิดก็อาจจะขาดแคลนอีกด้วย
2.การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำจากรายได้ฟื้นตัวช้าและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ระดับ 79.8% นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน
3.ต้นทุนการทำธุรกิจยังมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงต่อไป ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล จะส่งผลให้ต้องขึ้นค่า Ft ทำให้ค่าไฟพุ่งทะลุไปถึง 5 บาทปลายๆ/หน่วย ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อต้นทุนราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขนส่ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจค้าปลีกคาดการณ์ว่าอาจต้องมีปรับราคาสินค้าขึ้น 9-12% เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ก็จะซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแออยู่แล้วให้ทรุดลงไปอีก
4.คนขาดงาน-งานขาดคน สังคมไทยปีหน้าและปีต่อๆ ไปจะเจอกับปัญหาทั้ง คนขาดงาน (คนตกงานและคนว่างงาน) และงานขาดคน (งานมีแต่หาคนมาทำไม่ได้) พร้อมกันนี้ การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับคนทำงานและเงินเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรีที่มีการนำเสนอให้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อาจนำไปสู่ “ความคาดหวัง” ที่เกินเลยความเป็นจริง ส่งผลให้งานขาดคน แรงงานขาดหายไปจากระบบการจ้างงานเดิม คนขาดงาน (คนตกงานและคนว่างงาน) จะเป็นตัวจำกัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) เพราะธุรกิจขาดแรงงาน ขาด talent ขณะเดียวกัน งานขาดคน (งานมีแต่หาคนมาทำไม่ได้) จะเป็นตัวที่อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น (Inequality) เพราะช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) งานที่ว่างอยู่ไม่เจอคนที่มีทักษะที่ใช่
ส่วน “แรงลมหนุน” ที่ประจักษ์ชัดและพอคาดการณ์ได้ก็มีราว 4 ลูก ประกอบด้วย
1.มาตรการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ การให้ วีซ่าฟรี หรือ การขยายเวลาพำนักนักท่องเที่ยวรัสเซียในไทยจาก 30 เป็น 90 วัน การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนถึงการทำให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น
2.โอกาสอัดฉีดงบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี จากรัฐบาลชุดนี้ วางกรอบใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าจะผ่านการพิจารณารัฐสภาก็ราวเดือน พ.ค.2567 และกรอบการใช้จ่ายงบประมาณปี 2568 ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.2567 ซึ่งเป็นงบประมาณ 2 ปีต่อเนื่อง น่าจะเอื้อให้มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐทยอยออกมาเป็นชุดๆ อย่างเต็มที่และต่อเนื่องครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
3.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล เป็นผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
4.แรงหนุนจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และฟุตบอลยูโร 2024 ที่ธุรกิจค้าปลีกและบริการน่าจะอาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างบรรยากาศและกระตุ้นยอดขายค้าปลีก
ภาคค้าปลีกและบริการปี 2566 ฟื้นตัวแบบไม่สมดุล
การฟื้นตัวจึงเป็นแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า “K-Shaped” ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ไม่สมดุล คือมีส่วนที่ฟื้นตัวชัดเจนและอีกส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัว หรือ ทรงตัว โดยมีข้อสรุปดังนี้
- กลุ่มค้าปลีก ประเภท ห้างสรรพสินค้า แฟชั่นความงาม ไลฟ์สไตล์ และร้านสะดวกซื้อ ขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับค้าปลีกกลุ่มอื่นๆ
- ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน
- กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่ายังคงเผชิญความยากลำบาก ได้แก่ กลุ่มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และกลุ่มค้าส่งค้าปลีกภูธร (Local Modern Store) เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มฐานกลางลงล่าง กำลังซื้อยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง และยังคงต้องพึ่งมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก
- กลุ่มค้าปลีกค้าจำหน่ายสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง ซ่อมบำรุง สมาร์ตโฟน และ ไอที ทรงตัว
- กลุ่มค้าปลีกและบริการ ร้านอาหาร-ภัตตาคารและเครื่องดื่ม โดยภาพรวมทรงตัว แต่จะมีการขยายตัวในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว
ค้าปลีกค้าส่งทุกภูมิภาคทยอย “ฟื้นตัว” ยกเว้น อีสาน “ซึมยาว”
จากผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จัดทำเป็นประจำเดือนตลอดปี 2565 พบว่า เศรษฐกิจภูมิภาคโดยรวม ทยอยฟื้นตัวแต่ไม่ต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ และการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการใช้จ่าย ขณะที่การฟื้นตัวจะกระจุกในจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้และภาคเหนือเป็นหลัก
- กรุงเทพฯ ปริมณฑล ยังคงเป็นภูมิภาคหลักในการขยายตัวหลักของภาคการค้าและบริการ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 43% ของมูลค่าการค้าปลีกและบริการ น่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนครึ่งปีหลัง
- ภาคกลาง โดยรวมการขยายตัวแบบทรงตัว รายได้หลักของภาคกลาง ประกอบด้วย 3 ส่วน 1.ส่วนการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนไทยนิยมเที่ยวระยะสั้นๆ ค่อนข้างดี 2.สินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาล ปีนี้ได้ผลดีแต่ราคาก็ชะลอลง 3.ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต กำลังผลิตที่ลดลงเหลือเพียง 60% ค่าแรงโอทีไม่มี กำลังซื้อจากผู้บริโภคแรงงานภาคอุตสาหกรรมหดหาย ภาคเกษตรกรรม (ผลไม้ตามฤดูกาล) เริ่มฟื้นตัว เล็กน้อย แต่ราคามีแนวโน้มทรงตัว
- ภาคเหนือ โดยรวมเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ช่วงปิดเทอม และปลายปี โซนเหนือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะภายในประเทศ ทำให้ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเกษตรโดยรวมปริมาณการผลิตทรงตัว แต่ราคาราคาสินค้าที่ยังมีทิศทางลดลง
- ภาคอีสาน การฟื้นตัวเป็นไปในทิศทางซึมยาว...ซึมนาน เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เมื่อหมดช่วงมาตรการกระตุ้นส่งเสริมการบริโภคจากภาครัฐ การขยายตัวก็แผ่วลงและซึมยาวนานกว่าภูมิภาคอื่นๆ เป็นภูมิภาคที่มีประชากรรวมกันมากกว่าหนึ่งในสามของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่อยู่ภาคเกษตรกรรมและภาคการค้า ปัจจัยฉุดยังคงเป็นปัจจัยเดิมเดิมที่รอการเยียวยาแก้ไข นับตั้งแต่ กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังคงสูง
- ภาคใต้ โดยรวมเริ่มฟื้นตัวดีแต่ไม่เต็มสูบ รายได้หลักของภาคนี้ยังเป็นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีนี้ นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปและนักท่องเที่ยวจีนยังไม่มาตามเป้า รายได้จากภาคเกษตรอย่าง ยางพารา ปาล์ม ราคาก็ตกต่ำ กำลังซื้อท้องถิ่นอ่อนแอ พึ่งพิงแต่รายได้จากการท่องเที่ยว
ทิศทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งปี 2567 ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ
ปี 2566 เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งและบริการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ซึมลึก ซึมยาว ต่อเนื่องตลอดครึ่งปีหลัง ทั้งๆ ที่ ดัชนี RSI เริ่มต้นปีสวยงามด้วยความคาดหวังที่สูง เพราะมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งการท่องเที่ยว การเปิดประเทศของจีน และโดยเฉพาะการเลือกตั้ง แต่อย่างที่ทราบกัน แม้ท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คิด และเราใช้เวลาถึง 4 เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก
ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกและบริการในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท เติบโต 3-5 % เมื่อเทียบกับ GDP ปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.4% โดยกลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าเท่าก่อนช่วงโรคระบาด ส่วน Non-store retailing ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
ผู้เขียนมีความเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการจะกลับสู่ขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของ 2567 แต่ขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไข ดังนี้
เงื่อนไขแรก รัฐบาลมีความได้เปรียบการบริหารงบประมาณต่อเนื่อง 2 ปี คือ 2567 และ 2568 ด้วยงบประมาณรวมกัน 2 ปี ราว 6 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้า และปีถัดๆ ไปให้ได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องมี ต้องเกิด ด้วยการเพิ่มรายได้ของกลุ่มฐานราก และเพิ่มการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่องทั้งปี
เงื่อนไขที่สอง เป็นโจทย์ที่ยากขึ้น คือ ต้องให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงานอย่างต่อเนื่อง ให้กับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน
เงื่อนไขที่สาม การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้อำนาจการซื้อการบริโภคฟื้นตัว เมื่อรวมกับการจ้างงานและการสร้างงานใหม่ๆ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคจะเร็วกว่าที่คาดหมาย
(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)