เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks

เปิดรายชื่อยักษ์ขนมหวาน ครองชั้นวางเบเกอรี “Starbucks” พบ ครัวซองต์ครีมอัลมอนด์-แซนวิชแฮมชีส-แซนวิชปูอัดไข่กุ้ง ติดอันดับสินค้าขายดีสุด แนวโน้มเติบโตไปได้สวย! ปีล่าสุดหมวดเบเกอรีครองสัดส่วนยอดขายรวมมากถึง 19%

KEY

POINTS

  • เพราะกาแฟต้องกินคู่กับของหวาน “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” จึงมีพาร์ทเนอร์ยักษ์ขนมหวานชื่อดังเข้ามาเติมเต็มทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ S&P, After You, Coffee Beans by Dao และ Art of Baking
  • พบว่า “เครือไมเนอร์” ครองชั้นวางเบเกอรีในร้านสตาร์บัคส์ในนามผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “Art of Baking” ส่วน “S&P” แม้มีกลุ่มไมเนอร์เข้าถือหุ้นด้วย แต่ครอบครัวศิลาอ่อน-ไรวา ยังเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่
  • ด้าน “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เบเกอรีที่ขายดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ครัวซองต์ครีมอัลมอนด์, แซนด์วิชครัวซองต์แฮมชีส, แซนด์วิชปูอัดไข่กุ้ง, ซีซาร์แร็พไก่และเบคอน และบลูเบอร์รี่ชีสเค้ก

จังหวะที่ก้าวเท้าเข้าร้าน “สตาร์บัคส์” (Starbucks) นอกจากกลิ่นคั่วเมล็ดกาแฟที่หอมเตะจมูกแล้ว เบเกอรีเคล้าเนยอุ่นร้อนๆ ก็เย้ายวนใจไม่แพ้กัน สตาร์บัคส์เป็นตัวจริงเรื่องการรังสรรค์สารพัดเมนูเครื่องดื่ม ส่วนฟากฝั่งเบเกอรีเพื่อทานคู่กับกาแฟแก้วโปรด พบว่า มีพาร์ทเนอร์ที่เป็น “ตัวจริง” มาช่วยเนรมิตให้เกิดเป็น “The Best Combination” ได้ดียิ่งขึ้น

บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด ใต้ร่ม “เจ้าสัวเจริญ” ผู้ดำเนินธุรกิจร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันร้านสตาร์บัคส์มีซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเบเกอรีในไทยหลักๆ 4 เจ้า ทั้งหมดล้วนเป็นยักษ์ขนมหวานในไทยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในตลาดเบเกอรีมายาวนาน โดยพบว่า แต่ละเจ้ามีความถนัดประเภทขนมที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม มีอีก 1 แห่ง ที่ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ขอไม่เปิดเผยชื่อว่า เป็นซัพพลายเออร์เจ้าใด ให้ข้อมูลเพียงว่า เป็นผู้ผลิตขนมปังอาร์ทิซาน (Artisan) ขนมปังที่มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง เกลือ น้ำ  และยีสต์ เชี่ยวชาญในการทำขนมสไตล์ยุโรป และขนมปังสไตล์อิตาเลียน ซึ่งเป็นอีกสูตรลับความอร่อยของหมวดเบเกอรีในร้านเงือกเขียวแห่งนี้

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks

“เครือไมเนอร์” ส่ง “Art of Baking” ครองชั้นวางขนมอบ

เบเกอรีประเภทขนมอบโดดเด่น ติดอันดับเมนูยอดนิยมของ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” หลายรายการ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การผลิตของ “Art of Baking” บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบเกอรีพร้อมทาน-แช่แข็งที่เป็นการร่วมทุนระหว่างสองยักษ์เบเกอรีในไทย

“Art of Baking” เกิดจากความร่วมมือของ “บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” และ “บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด” ปักหมุดตั้งโรงงานผลิตเบเกอรีในเดือนมีนาคม ปี 2563 เพื่อผลิตเบเกอรีทั้งปลีกและส่งให้กับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ

หากย้อนดูเส้นทางของหนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่อย่าง “ศรีฟ้า” พบว่า มีรายได้หลักจากการทำ OEM หลังจากที่ศรีฟ้านำ “เค้กฝอยทอง” เข้ามาวางขายในร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” (7-Eleven) ได้สำเร็จในปี 2547 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ศรีฟ้าสยายปีกในการเคลื่อนทัพผลิตสินค้า OEM ได้แข็งแรงยิ่งขึ้น

จุดแข็งในการผลิตเบเกอรีทั้งแช่แข็งและพร้อมทานในรูปแบบ OEM ของ “ศรีฟ้า” น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ “ไมเนอร์ ฟู้ด” ตัดสินใจจับมือตั้งโรงงาน โดยเว็บไซต์ทางการของไมเนอร์ ฟู้ด ระบุถึงรายละเอียดตัวอย่างสินค้าของ Art of Baking ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ อาหารพร้อมทาน (Ready to Eat) เช่น ขนมปัง เค้ก โดนัท แซนวิช และอาหารแช่แข็ง (Frozen Food) เช่น แป้งขนมปัง แป้งพิซซ่า ครัวซองต์ เป็นต้น สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของ “ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด” ที่เน้นผลิตขนมปังแช่แข็ง ไปจนถึงแป้งโดว์ให้กับค้าปลีกยักษ์ใหญ่ และเชนโรงแรมห้าดาวด้วย

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks -เบเกอรีที่ “Art of Baking” เป็นผู้ผลิต-

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของ บริษัท อาร์ต ออฟ เบคกิ้ง จำกัด มี บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 สัดส่วน 51% ด้าน บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด ถือหุ้นเป็นอันดับ 2 สัดส่วน 48% ส่วนผลประกอบการตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 มีแนวโน้มการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้น และผลกำไรก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565: รายได้ 415 ล้านบาท กำไรสุทธิ 34 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 305 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 183 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4.2 ล้านบาท

“S&P” ผลิตขนมไหว้พระจันทร์-เบเกอรีขนมบางส่วน

สำหรับ “เอสแอนด์พี” (S&P) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังคงเป็นครอบครัวศิลาอ่อนและไรวา ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 45.01% โดยมีผู้ริเริ่มอาณาจักรความอร่อยอย่าง “ภัทรา ศิลาอ่อน” เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดในกลุ่ม ด้วยสัดส่วน 8.63% ด้านเครือไมเนอร์ในนามบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นด้วยสัดส่วน 35.95%

ตัวอย่างประเภทขนมที่ “เอสแอนด์พี” เข้ามาดูแลให้ร้านสตาร์บัคส์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี ได้แก่ ขนมไหว้พระจันทร์ และกลุ่มเบเกอรีบางส่วนโดยการผลิตสินค้า OEM เป็นหนึ่งในขาธุรกิจหลักของ “เอสแอนด์พี” อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้บริษัทผลิตอาหารและเบเกอรีให้กับเชนร้านอาหารและบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นคุกกี้ ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้กรอก และบรรดาอาหารคาว เป็นต้น

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks -หน้าตาขนมไหว้พระจันทร์แบรนด์ “สตาร์บัคส์”-

ขนมเค้กให้เป็นหน้าที่ “Coffee Beans by Dao” 

ร้านอาหารและของหวานที่มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เติบใหญ่จนมีหน้าร้านกว่า 10 สาขา หากเทียบกับอีก 3 แห่ง “คอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว” (Coffee Beans by Dao) อาจเป็นร้านที่มีสเกลเล็กที่สุด แต่ด้วยชื่อเสียงของขนมเค้กที่ครองใจผู้บริโภคมาหลายสิบปี ร้านอาหารและเบเกอรีแห่งนี้จึงรับหน้าที่ร่วมพัฒนาสูตรและดูแลเบเกอรีกลุ่มเค้กให้กับ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” มายาวนาน

ขนมหวานกลุ่มเค้กในร้านสตาร์บัคส์ที่ได้รับความนิยม อยู่ภายใต้การดูแลของ “ดาว-ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้านคอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว ที่ปัจจุบันมีการดำเนินกิจการสองส่วนหลักๆ คือขายอาหารและเบเกอรีหน้าร้าน รวมถึงการผลิตอาหารและเบเกอรีภายใต้ บริษัท เอฟ แอนด์ บี บายดาว จำกัด 
 
สำหรับรายได้ของ บริษัท เอฟ แอนด์ บี บายดาว จำกัด มีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งในเชิงรายได้และกำไรสุทธิ โดยมีรายละเอียดผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง ดังนี้

ปี 2565: รายได้ 385 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1.3 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 232 ล้านบาท กำไรสุทธิ 653,773 บาท
ปี 2563: รายได้ 271 ล้านบาท กำไรสุทธิ 806,711 บาท

ด้าน บริษัท ดาว คอฟฟี่บีนส์ จำกัด ผลประกอบการค่อนข้างทรงตัวอยู่ในช่วงระหว่าง 300 ถึง 400 ล้านบาท ส่วนผลกำไรพบว่า หลังวิกฤติระบาดใหญ่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก มีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565: รายได้รวม 484 ล้านบาท กำไรสุทธิ 100,956 บาท
ปี 2564: รายได้รวม 312 ล้านบาท กำไรสุทธิ 84,675 บาท
ปี 2563: รายได้รวม 309 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1.2 ล้านบาท

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks -“บลูเบอร์รีชีสเค้ก” หนึ่งในเมนูเค้กที่ติดอันดับสินค้าขายดี-

และเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า มีร้านเบเกอรีน้องใหม่ที่ได้รับความสนใจจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียล กระทั่งข้ามห้วยไปถึงฝั่งนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลี ที่หากได้มาเมืองไทยต้องขอมาเยือนร้าน “บัตเตอร์แบร์” (Butterbear) เพื่อถ่ายรูปกับเจ้าหมีมาสคอตสีน้ำตาลสุดน่ารักสักครั้ง

ซึ่งก็พบว่า ร้านขายโดนัทและขนมปังเนยสดแห่งนี้กลับไม่ใช่ใครอื่นไกล เพราะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารอย่าง “บูม-ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์” คือลูกสาวคนกลางของ “ดาว-ณัฐยาน์” แห่งคอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว ที่ก่อนหน้านี้เคยออกโปรดักต์ขนมคลีนยี่ห้อ “สกินนี่ลิเชียส” (Skinnylicious) จนมีรายได้ 43 ล้านบาท ในปี 2565 มาแล้ว ในอนาคตอาจได้เห็นอาณาจักร “คอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว” เติบโตไปมากกว่านี้ จากลูกไม้หล่นใต้ต้นที่มีแววฉายชัด

ถึงคิว “After You” ต่อจิ๊กซอว์เมนูฮันนี่โทสต์

ปี 2550 เป็นครั้งแรกที่ “อาฟเตอร์ ยู” (After You) ลั่นระฆังเมนู “ชิบูยา ฮันนี่โทสต์” (Shibuya Honey Toast) ให้คนไทยได้ลิ้มรสเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมาร้านขนมหวานแห่งนี้ก็ผุดเมนูใหม่อีกมากมาย สร้างปรากฏการณ์คิวล้นออกมานอกร้าน กระทั่งนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2559 และปลายปี 2560 “อาฟเตอร์ ยู” ก็ได้โคจรมาเจอกับ “สตาร์บัคส์” เพื่อเสิร์ฟเมนูฮันนี่โทสต์คู่กาแฟที่ร้านเงือกเขียวยังขาดหายไป

ก่อนหน้านั้น “อาฟเตอร์ ยู” ดำเนินกิจการขยายสาขาหน้าร้านควบคู่ไปกับการรับจ้างผลิต OEM ให้กับหลายๆ แบรนด์อยู่แล้ว “เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” จึงเกิดไอเดียอยากทำงานร่วมกับสตาร์บัคส์ จนมีโอกาสได้พูดคุยกับ “ดาว-สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกณะ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร สตาร์บัคส์ ประเทศไทย และพบว่า ยังมีช่องว่างที่อาฟเตอร์ ยู เข้ามาเติมเต็มได้ จึงเกิดเป็นเมนูหมวดของหวานและไอศกรีม โดยมี “ชิบูยา ฮันนี่โทสต์” ที่ถูกปรับแต่งให้มีขนาดพอเหมาะในการกินคู่กับกาแฟได้อย่างลงตัว

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks -เมนู “ชิบูยา ฮันนี่โทสต์” ที่เสิร์ฟในร้านสตาร์บัคส์-

สำหรับผลประกอบการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2566 ฮึดกลับมามีรายได้รวมแตะ “พันล้านบาท” ได้สำเร็จ หลังพิษจากการแพร่ระบาดใหญ่โควิด-19 ทำรายได้และกำไรหดตัวลงตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 โดยผลประกอบการ 4 ปีย้อนหลัง มีรายละเอียดดังนี้

ปี 2566: รายได้รวม 1,230 ล้านบาท กำไรสุทธิ 178 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้รวม 899 ล้านบาท กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 582 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 79,629 บาท
ปี 2563: รายได้รวม 755 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49 ล้านบาท

แซนวิชขายดีตอนเช้า เค้กขายดีช่วงบ่าย ส่วน “ครัวซองต์” ยังได้รับความนิยมมากสุด

สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความนิยมของหมวดหมู่เบเกอรีขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หากเป็นช่วงเช้าผู้บริโภคจะมองหาอาหารที่เหมาะสำหรับมื้อเริ่มต้นของวัน กลุ่มแซนวิชและของคาวจึงได้รับความนิยมมากที่สุด ส่วนช่วงบ่ายพบว่า ลูกค้าจะเริ่มมองหาเบเกอรีกลุ่มเค้กแล้ว ซึ่งเมนูยอดนิยมของร้านตกเป็นของ “ครัวซองต์ครีมอัลมอนด์” ตามมาด้วยแซนวิชครัวซองต์แฮมและชีส แซนวิชปูอัดไข่กุ้ง ซีซาร์แร็พไก่และเบคอน และบลูเบอร์รีชีสเค้ก

ด้านสัดส่วนยอดขายพบว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่แพ้กลุ่มเครื่องดื่ม เพราะกลุ่มเบเกอรีคิดเป็นสัดส่วน 19% ของยอดขายรวมทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแค่เมนูยืนพื้นแต่ยังมีการออกเมนูของหวานตามฤดูกาล หรือ “Seasonal Menu” ล้อไปกับเมนูเครื่องดื่มด้วย อย่างในหน้าร้อนนี้ที่ผ่านมามีเบเกอรีออกใหม่หลายเมนู เช่น สตาร์บัคส์ เวีย ทิรามิสุ, นิวยอร์กชีสเค้ก, เอแคร์สตาร์บัคส์ชาเขียว และไรซ์เบอร์รี่คลับแซนด์วิช เป็นต้น

เปิดรายชื่อ ‘4 ยักษ์ขนมหวาน’ ผู้ผลิตเบเกอรีให้ Starbucks -“ครัวซองต์ครีมอัลมอนด์” หนึ่งในเบเกอรียอดนิยมของสตาร์บัคส์-

ส่วนรายได้รวมของ บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด บริษัทลูกของเครือ “ไทยเบฟ” ที่ได้สิทธิ์บริหารสตาร์บัคส์ ประเทศไทย พลิกกลับมามีรายได้ในระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2565 ได้สำเร็จ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565: รายได้รวม 8,389 ล้านบาท กำไรสุทธิ 833 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 6,135 ล้านบาท กำไรสุทธิ 164 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้รวม 1,778 ล้านบาท กำไรสุทธิ 134 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้รวม 8,183 ล้านบาท กำไรสุทธิ 875 ล้านบาท

 

อ้างอิง: Art of BakingBangkokbiznewsCreden DataMinor FoodPrachachatS&P FoodStarbucks ThailandTHE STANDARD