เจาะชีวิตผู้คนใน ‘ฉนวนกาซา’ อยู่กันอย่างไร ใน ‘คุกเปิด’ ใหญ่ที่สุดในโลก

เจาะชีวิตผู้คนใน ‘ฉนวนกาซา’ อยู่กันอย่างไร ใน ‘คุกเปิด’ ใหญ่ที่สุดในโลก

เจาะชีวิตที่ถูกปิดล้อมของผู้ที่อาศัยใน “ฉนวนกาซา” พื้นที่ที่ได้รับการขนานนามว่า “คุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ฉายานี้มาจากอะไร และหลังเกิดความขัดแย้งล่าสุดระหว่าง “อิสราเอล” กับ “กลุ่มฮามาส” ผู้คนในนั้น ประสบกับความยากลำบากขนาดไหน

Key Points

  • ฉนวนกาซา มีประชากรอัดแน่นสูงถึง 2.2 ล้านคน ระดับ 5,700-9,000 คน/ตารางกิโลเมตร และราว 80% ของประชากรอยู่อย่างยากไร้และต้องการความช่วยเหลือ
  • “กาซา” เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก โดยเกือบ 65% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 25 ปี
  • ราว 80% ของประชากรอยู่อย่างยากจน และมีระดับคนตกงานสูงที่สุดในโลก แตะระดับ 45% ในปี 2565


เมื่อเอ่ยถึง “เรือนจำเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” คงหนีไม่พ้น “ฉนวนกาซาพื้นที่ขนาด 365 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าจังหวัดที่เล็กที่สุดของไทยอย่าง “สมุทรสงคราม” ที่มีขนาด 416.7 ตารางกิโลเมตรและมีประชากร 190,842 คน แต่สำหรับฉนวนกาซา ประชากรปาเลสไตน์กลับอัดแน่นสูงถึง 2.2 ล้านคน ระดับ 5,700-9,000 คน/ตารางกิโลเมตร และราว 80% ของประชากรอยู่อย่างยากไร้และต้องการความช่วยเหลือ

เหตุผลที่ได้ฉายาว่าเป็น “คุกเพราะประชาชนในฉนวนกาซาไม่สามารถเข้าออกจากฉนวนกาซาได้อย่างเสรี โดยต้องผ่านด่าน 3 จุด คือ ด่านอิสราเอล 2 จุด และด่านอียิปต์อีก 1 จุด ที่ต้องขออนุญาตจากทางการอิสราเอลและอียิปต์ก่อนในฐานะผู้คุมประตู และผ่านการคัดกรองอย่างเข้มงวด

เจาะชีวิตผู้คนใน ‘ฉนวนกาซา’ อยู่กันอย่างไร ใน ‘คุกเปิด’ ใหญ่ที่สุดในโลก - ฉนวนกาซาอยู่ภายในเส้นประ ซึ่งล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อิสราเอล และอียิปต์ (เครดิต: Google Map) -

เจาะชีวิตผู้คนใน ‘ฉนวนกาซา’ อยู่กันอย่างไร ใน ‘คุกเปิด’ ใหญ่ที่สุดในโลก - กำแพงที่สูงชันในฉนวนกาซา (เครดิต: AFP) -

เมื่อไม่นานมานี้ จากกรณีกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์หรือ “ฮามาส” ยิงจรวดหลายพันลูกใส่อิสราเอลแบบสายฟ้าแลบ อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการประกาศตัดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา และอาหารที่ส่งเข้าฉนวนกาซาแล้ว และจะส่งพลทหารภาคพื้นดินบุกเข้าฉนวนกาซา เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้หมดสิ้น จึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่า ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศอย่างหนักใส่ฉนวนกาซา และผู้คน 2.2 ล้านคนในฉนวนถูกตัดขาดจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน พวกเขามีความเป็นอยู่ตอนนี้อย่างไรบ้าง

  • ทำไมใช้คำว่า “ฉนวน” แทนคำว่าดินแดนกาซา

นับตั้งแต่ประเทศอิสราเอลถือกำเนิดขึ้นในปี 2491 อียิปต์นั้นครอบครองดินแดนกาซามาเกือบ 2 ทศวรรษโดยไม่ได้ผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2510 อียิปต์ร่วมมือกับจอร์แดน ซีเรีย และชาวปาเลสไตน์ทำสงครามกับอิสราเอล เพื่อช่วยชาวปาเลสไตน์ชิงดินแดนคืน ซึ่งอิสราเอลก็สามารถป้องกันประเทศและสามารถโต้กลับ เอาชนะเหล่าประเทศอาหรับในระยะเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น จนได้รับการเรียกขานว่า “สงคราม 6 วัน

ผลที่เกิดขึ้น คือ นอกจากอิสราเอลจะป้องกันประเทศได้แล้ว ยังสามารถยึดฉนวนกาซาจากอียิปต์ได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ “ดินแดนกาซา” จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ “ฉนวนกาซา” เพื่อเป็นแดนกันชนระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปี 2548 อิสราเอลได้ถอนกำลังทหารออกจากฉนวนกาซาที่ยึดมาจากอียิปต์ และเปิดทางให้องค์การบริหารปาเลสไตน์เข้าควบคุมพื้นที่แทน

ต่อมาในปี 2550 กลุ่มปาเลสไตน์ติดอาวุธที่ชื่อว่า “ฮามาส” ขึ้นมาปกครองฉนวนกาซาแทน พวกเขาหันมา “ใช้อาวุธ” แทนวิธีสันติแบบเดิม เพื่อทวงคืนดินแดนจากอิสราเอล ทำให้สถานการณ์ระหว่างฉนวนกาซากับอิสราเอลตึงเครียดและปะทะกันมาเรื่อย ๆ

  • กว่า 2 ล้านชีวิตอยู่อย่างลำบากและขาดแคลน

หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสหลายร้อยคน ยิงจรวดหลายพันลูกใส่อิสราเอล จนทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 1,200 คน ด้านอิสราเอลจึงตอบโต้กลับด้วยการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในฉนวนกาซาจนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 1,300 คน (นับถึงวันที่ 12 ต.ค.) รวมถึงปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างเบ็ดเสร็จ ตัดไฟฟ้า เชื้อเพลิง อาหาร และน้ำในพื้นที่ ประชากร 2.2 ล้านคนจึงตกอยู่ในความลำบากและขาดแคลน

เจาะชีวิตผู้คนใน ‘ฉนวนกาซา’ อยู่กันอย่างไร ใน ‘คุกเปิด’ ใหญ่ที่สุดในโลก - สภาพบ้านเรือนในฉนวนกาซา จากปฏิบัติการโต้กลับของอิสราเอล (เครดิต: AFP) -

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ผลกระทบจากการทิ้งระเบิดในสถานที่สำคัญ ย่านสาธารณูปโภคต่าง ๆ และถนนหนทางในฉนวนกาซา ทำให้รถพยาบาลที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บภายในประสบความยากลำบากอย่างยิ่ง จำเป็นต้องใช้เปลสนามฝ่าเข้าไป

กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) วันเดียว มีผู้เสียชีวิตมากถึง 300 คนในฉนวนกาซา โดย 2 ใน 3 เป็นพลเรือน ซึ่งเป็นวันนองเลือดที่สุดในรอบหลายปี

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบสาธารณสุขในกาซากำลังอยู่ในระดับวิกฤติ โดยฝ่ายสาธารณสุขปาเลสไตน์ แจ้งเมื่อไม่นานนี้ว่า ตอนนี้ ยารักษาโรคและเชื้อเพลิงกำลังขาดแคลน และทุกห้องโรงพยาบาลเต็มด้วยผู้บาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอลที่รุนแรงขึ้นในช่วงนี้

ในส่วนของน้ำดื่ม ประชากรราว 95% ในกาซาไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ เหตุผลเพราะน้ำบาดาลปนเปื้อนด้วยน้ำทะเล และน้ำก๊อกก็สกปรก มีสิ่งปนเปื้อนที่ไม่เหมาะการใช้ดื่ม

เมื่อฉนวนกาซาถูกตัดขาดจากน้ำและเชื้อเพลิงแล้ว ผู้คนข้างในมากกว่า 600,000 คนขาดน้ำดื่ม รวมไปถึงไม่มีเชื้อเพลิงเพียงพอในการให้ความอบอุ่นและจ่ายกระแสน้ำในชุมชน

องค์การอนามัยโลก (WTO) กำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำที่มนุษย์พึงได้รับไว้ที่ 100 ลิตรต่อคนต่อวัน สำหรับใช้ดื่ม ซักผ้า ทำอาหาร และอาบน้ำ แต่สำหรับผู้คนในกาซา การบริโภคน้ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 84 ลิตร และมีเฉพาะ 27 ลิตรที่มีคุณภาพเหมาะสมให้มนุษย์ใช้

ในด้านอาหาร เมื่อด่านในฉนวนกาซาถูกปิดลง ทำให้ 1 ใน 3 ของร้านค้าขาดอาหารจำเป็น และ องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่า ร้านค้าส่วนใหญ่มีอาหารสำหรับเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

ขณะที่บ้านพักอาศัย เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์แจ้งว่า ปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลล่าสุด (นับถึงวันที่ 12 ต.ค.) ได้ทำลายบ้าน 1,000 หลัง และราว 500 หลังเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถอาศัยได้

โมฮัมเหม็ด อะบู อัล-คาสส์ (Mohammed Abu al-Kass) ผู้อยู่อาศัยในฉนวนกาซา กล่าวว่า “ตอนนี้ผมสูญเสียทุกอย่าง อพาร์ตเมนต์ของผมซึ่งลูก ๆ 5 คนอาศัยอยู่ และร้านขายของชำใต้อาคารก็ถูกทำลาย” 

วาอัด อัล-มักห์ราบี (Waad al-Mughrabi) ผู้ประสบภัยชาวปาเลสไตน์บริเวณเขต Rimal กล่าวตัดพ้อว่า “คุณลองจินตนาการดู การที่ต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าและน้ำในศตวรรษที่ 21 และยิ่งลูกเล็กของฉันไม่เหลือผ้าอ้อมแล้ว เหลือนมไม่ถึงครึ่งขวด” อีกทั้งเธอยังถามกลับว่า “ลูกของฉันเป็นคนไปถล่มอิสราเอลหรือ?”

นอกจากนี้ ก่อนเกิดสงครามครั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์สามารถหาปลาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยระยะจำกัดที่อิสราเอลกำหนดไว้ คือ ภายใน 11-28 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่ล่าสุด ทางการไม่อนุญาตให้ประชาชนหาปลาในทุกกรณีแล้ว

ในจำนวนประชากร 2.2 ล้านคนนั้น เมื่อเข้าไปดูรายละเอียด ตามข้อมูลจาก CIA World Factbook หน่วยข่าวกรองจากสหรัฐ ระบุว่า “กาซาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก โดยเกือบ 65% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 25 ปี 

ขณะที่ราว 80% ของประชากรอยู่อย่างยากจน และมีระดับคนตกงานสูงที่สุดในโลก แตะระดับ 45% ในปี 2565

เจาะชีวิตผู้คนใน ‘ฉนวนกาซา’ อยู่กันอย่างไร ใน ‘คุกเปิด’ ใหญ่ที่สุดในโลก - สภาพเด็กในสงครามฮามาสกับอิสราเอล (เครดิต: AFP) -

สุดท้ายแล้ว ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสยังคงไม่จบลงโดยง่าย อีกทั้งผลพวงจากสงครามนี้ได้ทำให้ประชาชนราว 2.2 ล้านคนในฉนวนกาซายิ่งใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้น และเกิดความสูญเสียกับชาวต่างชาติในอิสราเอล รวมถึงแรงงานไทยซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าว จึงเป็นสัจธรรมว่า สงครามไม่เคยส่งผลดีต่อใคร มีแต่ความสูญเสีย และบาดแผลที่สามารถฝังลึกในใจและความทรงจำไปอีกนาน

อ้างอิง: bbcbbc(2)cnbc