Facebook ยืนหนึ่ง! มิจฉาชีพซื้อโฆษณา หลอกลงทุน-ฉ้อโกงออนไลน์กว่า 2,500 เคส

Facebook ยืนหนึ่ง! มิจฉาชีพซื้อโฆษณา หลอกลงทุน-ฉ้อโกงออนไลน์กว่า 2,500 เคส

สภาผู้บริโภคฯเผยสถิติพบความเสียหายจากแพลตฟอร์มดิจิทัลตั้งแต่มิ.ย. 2564 -เม.ย. 2567 มีร้องเรียนกว่า 3,456 เรื่อง พบเฟซบุ๊คมีมากถึง 2,539 เรื่อง จากเหตุถูกฉ้อโกงหลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้า จ่ายเงินไปแล้วไม่ได้รับของ ล่าสุดผนึก ‘สกมช.’ หาช่องทางสร้างพื้นที่ปลอดภัย

KEY

POINTS

  • สถิติที่ได้รับแจ้งกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ถึง เม.ย. 2567 ร้องเรียนเข้ามากว่า 3,456 เรื่อง 
  • โดยจากจำนวนดังกล่าวมีถึง 2,539 เรื่อง มาจาก Facebook ที่เป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงมากที่สุด 

  • อันดับ 1 คือ ถูกฉ้อโกงหลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้าผ่าน Facebook เมื่อจ่ายเงินไปแล้วแต่กลับไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงซื้อไว้ รวมทั้งไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้ 
  • ขณะนี้มีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายทั้งที่ถูกหลอกลวง และผู้ที่ถูกแอบอ้างจะฟ้องร้องเรียกความเสียหายต่อแพลตฟอร์มต่างๆโดยตรง

  • สภาผู้บริโภคและสกมช.พยายามผลักดันให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้การค้าขายและทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ  (สกมช.) เปิดเผยว่า สกมช. ได้มีการหารือกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค ในการแก้ไขปัญหาการจัดการกับอาชญากรรมออนไลน์ ที่ปัจจุบันมิจฉาชีพได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาหลอกลวงผู้บริโภคจนส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายเต่อผู้บริโภคเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมาก 

โดยที่ผ่านมา มีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และ โซเซียลมีเดีย ในการหลอกให้ซื้อของออนไลน์ และหลอกให้ลงทุนซึ่งได้ใช้รูปของผู้มีชื่อเสียง  อินฟลูเอนเซอร์ และนักธุรกิจต่างๆ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องหรือไม่ได้ ยินยอม

ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ในการแก้ไขปัญหาที่กำลังศึกษาอยู่ คือ การรวมกลุ่มของผู้เสียหายทั้งที่ถูกหลอกลวง และผู้ที่ถูกแอบอ้างจะฟ้องร้องเรียกความเสียหายต่อแพลตฟอร์มต่างๆ โดยตรง

“ที่ผ่านมาแม้แพลตฟอร์มต่างๆ อาจจะให้ความร่วมมือดีขึ้น แต่ยังมีความล่าช้า เพราะเมื่อมีซื้อโฆษณา หรือ ชวนคนเข้ากลุ่มไลน์ได้ ก็ยังสามารถหลอกผู้เสียหายได้ จะทำอย่างไรให้มีความร่วมมือที่รวดเร็วมากขึ้น แม้สถิติในการปิดเพจต่างๆ จะมียอดสูงขึ้น แต่ยังใช้ระยะเวลาในการปิดที่นานกว่า 2 สัปดาห์ถึงปิดเพจได้ ช่วงเวลาที่นานแบบนี้ทำให้ยังสามารถหลอกคนได้จำนวนมาก”

พล.อ.ต. อมร กล่าวอีกว่า สกมช. โดยศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ก็จะมีการปรับรูปแบบในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยจะดำเนินการ ปิดเว็บไซต์ และ บัญชี โซเชียลมีเดีย ที่ใช้ในการหลอกหลวง ด้วยการประสานงานกับแพลตฟอร์มต่างๆ แม้ยังไม่มีผู้เสียหาย หรือมีหมายศาลสั่งให้ปิด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ คอยตรวจสอบมอนิเตอร์ตลอดเวลา เมื่อพบเจอเพจที่ชักชวนลงทุน หรือเพจปลอม ที่ทำรูปภาพ หรือโลโก้ ของหน่วยงานต่างๆ ไปใช้ เข้าข่ายที่จะหลอกลวง ก็จะแจ้งไปยังแพลตฟอร์ม ให้ตรวจสอบและปิดทันที โดยอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สองหน่วยงานเห็นร่วมกันว่า พื้นที่ออนไลน์ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้การค้าขายและทำธุรกรรมอื่นๆอย่างปลอดภัย เป็นผลดีต่อทั้งผู้ค้าขาย และผู้บริโภคด้วย

ซึ่งจากสถิติที่ได้รับแจ้งกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 ถึง เม.ย. 2567 มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามากว่า 3,456 เรื่อง

แบ่งลักษณะปัญหาที่ผู้บริโภคพบ ได้แก่ 1. ถูกฉ้อโกงหลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ค (Facebook) เมื่อจ่ายเงินไปแล้วแต่กลับไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงซื้อไว้ รวมทั้งไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้ 2. เมื่อจ่ายเงินซื้อสินค้าบนเฟซบุ๊คไปแล้วแต่ได้รับสินค้าหรือบริการไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ 3. ถูกหลอกลวงจากการสร้างเฟซบุ๊คเพจ (Facebook Fanpage) ปลอมหรือมีการชักชวนให้ทำงานหรือลงทุน และ 4. ถูกหลอกลวงจากเฟซบุ๊คเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงร้านค้าชื่อดัง ซึ่งบางเพจมีการยืนยันตัวตน (Verified Page) กับเฟซบุ๊คแล้ว

โดยในจำนวน 2,539 เรื่องจากจำนวนทั้งหมดข้างต้น เฟซบุ๊คเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงมากที่สุด

ขณะที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้แก่ เอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์ ตลาดออนไลน์ (E - Marketplace) อินสตาแกรม (Instagram) ไลน์ (LINE) และติ๊กต็อก (TikTok) เป็นช่องทางที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายและร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค ตามลำดับ โดยสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคทั้งการเตือนภัย การให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคหาก ต้องการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงวิธีการตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ อีกทั้งยังได้ประสานความร่วมมือ ไปยังผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียในการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้บริการบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้มีการหารือในการผลักดันนโยบายเพื่อป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน ได้แก่ การพัฒนาแจ้งเตือนภัย ก่อนการโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีต้องสงสัยที่มีความเสี่ยงสูง การผลักดันให้ธนาคารชดเชยเยียวยาผู้เสียหายเจ้าของบัญชี การเร่งผลักดันมาตรการการแสดงตัวตนของผู้ขายสินค้าออนไลน์ทุกรายต่อผู้บริโภคในทุกแพลตฟอร์มดิจิทัล และการรักษาสิทธิของผู้บริโภคในการขอเปิดไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งมีความหมายรวมถึงห่อพัสดุเพื่อตรวจสอบพัสดุต่อหน้าพนักงานได้ก่อนชำระค่าสินค้าและค่าส่ง