ภาคเอกชนช็อค ‘ปานปรีย์’ ลาออก กระทบทีมเศรษฐกิจช่วงสั้น

ภาคเอกชนช็อค ‘ปานปรีย์’ ลาออก กระทบทีมเศรษฐกิจช่วงสั้น

“ส.อ.ท.-หอการค้าไทย” เผย “ครม.ศรษฐา2”วางแผนเป็นขั้นตอน ขอบคุณที่เห็นความสำคัญของเอสเอ็มอี ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบรับงานใหญ่จากงบประมาณที่จะออก ประชาชนมีเงินใช้จ่าย ท่องเที่ยวบูมเศรษฐกิจฟื้น "สนั่น" จี้ เดินหน้าเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วยเอสเอ็มอี" เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ภายหลังราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ พบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมบทบาทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการคลังและงบประมาณประเทศ

ในขณะที่หลังการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถูกปรับออกจากตำแหน่งรองนายหรัฐมนตรี ได้ยื่อนหนังสือลาออกต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่นายปานปรีย์ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2567 เห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของทีมเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่างประเทศ ซึ่งนายปานปรีย์ ก็ได้อธิบายในจดหมายลาออกว่าได้ทำอะไรบ้าง ก็คงจะกระทบในช่วงสั้นบ้าง

“การลาออกดังกล่าว ถือว่าสร้างความตกใจและประหลาดใจมาก ดังนั้นรัฐบาลอาจจะมีการเจรจโดยหาคนกลางเพื่อปรับความเข้าใจสอบถามถึงความไม่สบายใจหรืออาจจะต้องหาคนมาแทน ดังนั้น จะต้องดูว่าใครจะมาทำหน้าที่แทน เป็นคนที่มีความสามารถมากน้อยแค่ไหน และมีความเหมาะสมหรือไม่ อยา่งไร” นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับ ครม.เศรษฐา 2 ที่ออกมาถือเป็นการปรับให้มีความคล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะระยะต่อไปที่รัฐบาลจะเข้าโหมดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะงบประมาณค้างท่อและล่าช้ากว่า 8 เดือน จะได้รับการอนุมัติ รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลเร่งเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนช่วงปลายปี 2567

ทั้งนี้ หากดูการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ถือว่ามีทีมงานที่แข็งแกร่งและพร้อมขับเคลื่อนนโยบาย จึงคิดว่าจากนี้ไปนายกรัฐมนตรี จะเน้นนโยบายเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

นอกจากนี้ จากกรณีที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรี เชิญ CEO ธนาคารใหญ่ 4 แห่ง หารือและขอความร่วมมือลดต้นทุนดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอี โดยมุ่งเป้าที่กลุ่มเปราะบางที่ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในช่วง 6 แรกก่อน ซึ่งช่วยลดภาระลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจต่อได้ในช่วงที่ให้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมการไว้จะทยอยออกมาตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด

ขอบคุณนายกฯ ให้ความสำคัญเอสเอ็มอี

“ภาคเอกชนต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณนายกฯ ที่ให้ความสำคัญ เช่น นโยบายลดดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงดอกเบี้ย แต่นายกฯ แก้ปัญหาโดยเชิญนายแบงก์ใหญ่มานำร่องช่วยกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอีที่กำลังอ่อนแรงให้มีกำลังดำเนินธุรกิจต่ออย่างน้อยช่วยต่อเวลาให้เพื่อรอจนนโยบายภาครัฐ ถือว่านายกฯ วางแนวทางบริหารเป็นขั้นเป็นตอนไว้ดี” นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า จากการโปรโมทภาคการท่องเที่ยวหรือซอฟต์พาวเวอร์ไทย ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงสงกรานต์มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยทุกพื้นที่ที่จัดงานมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเต็มแน่นพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เห็นมานานและช่วยให้เม็ดเงินเข้ามามาก โดยเฉพาะภาคบริการ การโรงแรม ได้ประโยชน์มาก ซึ่งตอนนี้มีนโยบายเมืองรองและซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาสนับสนุนเพิ่ม

“การท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกปีนี้ และหากบวกกับซอฟต์พาวเวอร์ที่ภาครัฐกำลังทำจะทำให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 50,000 บาทต่อคน จากเดิม 40,000 บาทต่อคน ส่วนการส่งออกจะทยอยดีขึ้น และการที่งบประมาณรัฐออกมาจะทำให้มีเงินเข้าระบเศรษฐกิจ และเมื่อบวกกับเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ภาคการผลิตจะเพิ่มการผลิตทั้งในประเทศและส่งออก” นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับมาตรการที่อยากให้เร่งแก้ไขคือ การเข้มงวดของผลิตภัณฑ์นำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาแย่งตลาดในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบสินค้าของกรมศุลกากร เพื่อสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมากขึ้น เพราะส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจะทำให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นและจะซื้อสินค้าที่มีคุณภา่พ

จี้“ครม.”เร่งช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน

นายสนั่น อุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับ ครม.ที่นำบุคคลผู้มีความรู้ด้านเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่มถือว่าเหมาะสม ซึ่งการปรับ ครม.ครั้งนี้มีรัฐมนตรีที่เข้าใจภาคเอกชน และมีประสบการณ์การบริหารงาน จึงเชื่อว่าจะช่วยรัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าอย่างเต็มที่ คือ การเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับอนุมัติออกมาทุกกระทรวง

สำหรับสิ่งที่หอการค้ามอง คือ การช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน รวมถึงเร่งเจรจาความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ และดึงดูดการลงทุน สร้างความชัดเจนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เสริมกับการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรหลักในการดันเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ และเป็นเรื่องที่น่าจะดำเนินการเร่งด่วน