ส่องความสำคัญ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ไพ่ลับ ‘อิหร่าน’ หากร่วมสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’

ส่องความสำคัญ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ไพ่ลับ ‘อิหร่าน’ หากร่วมสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’

หากสงครามระหว่าง “อิสราเอล” กับกลุ่ม “ฮามาส” บานปลายจนดึง “อิหร่าน” เข้าร่วมความขัดแย้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า อิหร่านอาจหงายไพ่ลับ คือ “ปิดช่องแคบฮอร์มุซ” ซึ่งครองสัดส่วน 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก

Key Points

  • ช่องแคบฮอร์มุซ มีการขนส่งน้ำมันปริมาณรวม 17.2 ล้านบาร์เรลในแต่ละวัน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก
  • แม้ส่วนที่แคบที่สุดของช่องแคบฮอร์มุซจะกว้าง 33 กิโลเมตร แต่ทางวิ่งของเรือทั้งสองฝั่งกลับกว้างเพียง 3 กิโลเมตร
  • ไทย ซึ่งนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นหลัก จะต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก โดยในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไทยติดลบราว 65,000 ล้านบาทแล้ว


สงครามระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ฮามาส” (กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์) ในฉนวนกาซา อาจยกระดับเป็นความขัดแย้งระดับโลก เมื่อ “อิหร่านประกาศสนับสนุนการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส โดยมองว่าเป็นการ “ป้องกันตนเองอย่างชอบธรรม” ของปาเลสไตน์

นอกจากนี้ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะห์ติดอาวุธในเลบานอน ใช้โอกาสชุลมุนในอิสราเอลเข้าโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอลเพิ่มอีกจุดด้วย

ขณะที่สหรัฐประกาศส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Gerald R. Ford ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์และเครื่องบินรบ F-35, F-15, F-16, และ A-10 เข้าใกล้ชายฝั่งอิสราเอล พร้อมจัดส่งอาวุธสงครามให้

ส่องความสำคัญ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ไพ่ลับ ‘อิหร่าน’ หากร่วมสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ - เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ USS Gerald R. Ford (เครดิต: US Navy Photo) -

หากความขัดแย้งนี้ตึงเครียดยิ่งขึ้น สมมติในกรณีเลวร้ายที่สุด ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลบานปลายไปกระทบเรือสินค้าหรือโครงสร้างพื้นฐานของอิหร่าน จนทำให้อิหร่านต้องเข้าสู่ความขัดแย้งนี้โดยตรง มีไพ่ลับหนึ่งที่อิหร่านอาจเปิดใช้ คือ การปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นทางผ่านเดียวที่ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียใช้เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดย 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางนี้

  • ช่องแคบฮอร์มุซ ไพ่ลับอิหร่าน

ช่องแคบฮอร์มุซตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน โดยทางเหนือของช่องแคบติดกับพื้นที่ตอนใต้ของอิหร่าน ขณะที่ทางใต้ของช่องแคบติดกับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมาน มีปริมาณน้ำมัน 17.2 ล้านบาร์เรลขนผ่านเส้นทางนี้ในแต่ละวัน

ส่องความสำคัญ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ไพ่ลับ ‘อิหร่าน’ หากร่วมสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ - ช่องแคบฮอร์มุซ (เครดิต: Shutterstock) -

ไม่ว่าประเทศยูเออี คูเวต อิหร่าน กาตาร์ บาห์เรน และอิรัก ก็ต้องขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางนี้ จึงเป็นความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันโลก หากอิหร่านปิดช่องแคบนี้ ซึ่งอิหร่านเคยขู่สหรัฐในช่วงปี 2562 ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ

การปิดช่องแคบดังกล่าวอาจทำได้ไม่ยาก เพราะถึงแม้ส่วนที่แคบที่สุดจะกว้างถึง 33 กิโลเมตร แต่ทางวิ่งของเรือทั้งสองฝั่งกลับกว้างเพียง 3 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ท้องเรือสินค้าเกยตื้นหากวิ่งใกล้ชายฝั่งมากเกินไป

อีกทั้งช่องแคบฮอร์มุซเป็นช่องแคบน้ำตื้น จึงง่ายต่อการก่อวินาศกรรมจากทุ่นระเบิด โดยช่วงปี 2562 เรือหลายสัญชาติที่ผ่านช่องแคบนี้ถูกก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มไม่ทราบฝ่าย

ซอล คาโวนิค (Saul Kavonic) หัวหน้าทีมวิจัยฝ่ายน้ำมันและก๊าซของธนาคารเครดิตสวิส ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงที่หนุนน้ำมันขาขึ้น คือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสได้ลุกลามไปสู่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย
คาโวนิค เสริมว่า ราว 1 ใน 5 ของอุปทานน้ำมันทั่วโลกจะตกเป็นตัวประกัน ถ้าช่องแคบฮอร์มุซถูกปิดกั้น

  • สงครามฮามาส-อิสราเอล กระทบไทยอย่างไร

แม้ว่าอิหร่านจะยังไม่ได้ปิดช่องแคบฮอร์มุซในขณะนี้ แต่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก WTI ในวันนี้ (9 ต.ค. 2566) ก็พุ่งขึ้น 4% มาอยู่ที่ราว 86 ดอลลาร์ จากความกังวลสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งปัจจุบัน ประเทศที่ตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปี มีเพียง “รัสเซีย” และ “ซาอุดีอาระเบีย”

หากอิหร่านซึ่งผลิตน้ำมันราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ พร้อมทั้งปิดช่องแคบฮอร์มุซ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นแรงได้

ด้าน บ็อบ แม็คนอลลี (Bob McNally) ประธาน Rapidan Energy Group บริษัทวิจัยด้านพลังงานและอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ระบุว่า ถ้าอิสราเอลตอบโต้อิหร่านที่สนับสนุนกลุ่มฮามาสด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานใด ๆ ของอิหร่าน ราคาน้ำมันโลกจะพุ่งขึ้นทันทีเช่นกัน

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจวันนี้ (9 ต.ค.) ว่า หากท้ายที่สุดความขัดแย้งครั้งนี้พัฒนาไปเป็นสงครามตัวแทนโดยมีอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและสหรัฐอยู่เบื้องหลังอิสราเอล จนประเทศในแถบตะวันออกกลางอื่นเข้ามาร่วมด้วย ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานการผลิตน้ำมันให้หดตัวลงไปอีก ซึ่งก็จะกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกให้ปรับตัวทะลุระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้

สำหรับไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นหลัก ความขัดแย้งครั้งนี้อาจส่งผลให้ประเทศต้องแบกต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้นตาม ยิ่งราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นก็ยิ่งทำให้งบประมาณภาษีในการอุ้มราคาน้ำมันสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไทยติดลบ 65,732 ล้านบาทแล้ว โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 20,806 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,926 ล้านบาท

อ้างอิง: reutersbritannicaaljazeerabbcbloombergbloomberg(2)bangkokbiznews