“อาเซียน-สหรัฐซัมมิต” ถกทางออก เศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติโควิด-ยูเครน

“อาเซียน-สหรัฐซัมมิต” ถกทางออก เศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติโควิด-ยูเครน

การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐ สมัยพิเศษ จะเป็นโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมาชิกอีก 9 ประเทศได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ

“อุศณา พีรานนท์” อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ ถือเป็นการพบปะระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน-สหรัฐ  แบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physical meeting)ครั้งแรก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือแม้แต่ผู้นำอาเซียนด้วยกันเอง ก็ใช้โอกาสนี้มาพบกันเกือบครบทุกประเทศ

ก่อนหน้านี้ การจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ  ที่กรุงวอชิงตัน ได้นัดกำหนดวันหารือมาแล้วล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แต่ด้วยภารกิจของผู้นำประเทศต่างๆ ได้เลื่อนมาจนกระทั่งได้วันเวลาตรงกันคือวันที่ 12-13 พ.ค.2565 ซึ่งการประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกมีขึ้นที่เมืองซันนีแลนด์ ปี 2559 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา 

อุศณา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และการส่งเสริมบทบาทสหรัฐ ได้ร่วมมือฟื้นฟู และเติบโตอย่างยั่งยืนในยุควิถีปกติใหม่ในอาเซียน ที่เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การส่งเสริมบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนประเด็นหารือจะเน้นเรื่องการฟื้นฟู และเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด-19 การรับมือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมในหลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะเป็นอีกเรื่องที่ไทยได้แสดงบทบาทเด่นชัดในการประชุมครั้งนี้ 

"ประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ และวิกฤติยูเครนได้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและทั่วโลก คาดว่าสหรัฐ และอาเซียน จะหารือถึงแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอาเซียนจะเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับไทยเพื่อเปิดให้นักลงทุนสหรัฐในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี" อธิบดีกรมอาเซียนกล่าว และเสริมว่า นอกจากนี้ คงได้หารือแนวทางการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Asean single - window) กับระบบสหรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างกัน

ผู้นำอาเซียนเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้ มีความสำคัญเพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความเปราะบาง ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเห็นคือ บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในการสนับสนุนอาเซียนสร้างสันติภาพ รักษาเสถียรภาพในภูมิภาค และเปิดให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา เพราะทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน ขณะเดียวกันเราต่างเจ็บตัวจากโควิด-19 ทำให้เชื่อว่า หลายๆ ประเทศต้องการเห็นสันติภาพกลับคืนสู่ยูเครน มากกว่าการเผชิญหน้ากันต่อไป

“เชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์” อธิบดีกรมอเมริกา และแปซิฟิกใต้ มองว่า สหรัฐจะใช้ในทุกเวทีที่จะเป็นโอกาสได้พูดคุยถึงสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นประเด็นสำคัญขณะนี้ เช่นเดียวกับไทยก็มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ ก็จะใช้โอกาสนี้ย้ำกับทางสหรัฐว่า ไทยเคารพอธิปไตย และบูรณาภาพแห่งดินแดน พร้อมอยากเห็นการเจรจานำไปสู่ประกาศหยุดยิง คืนสันติสุขให้กับชาวยูเครน และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยด่วน

ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาถึง 45 ปี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ยั่งยืนของสหรัฐที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐมั่นใจว่าสามารถขยายบทบาทตนเอง เพื่อจัดหาแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งสหรัฐให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคแรงงานได้มีทักษะเหมาะสม และสอดคล้องกับภาคธุรกิจปัจจุบัน ที่จะเป็นสิ่งท้าทายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์