เผยดัชนีเสรีภาพสื่อโลก-ไทยอันดับดีขึ้น-ติดอันดับ2อาเซียน

เผยดัชนีเสรีภาพสื่อโลก-ไทยอันดับดีขึ้น-ติดอันดับ2อาเซียน

เผยดัชนีเสรีภาพสื่อโลก-ไทยอันดับดีขึ้น-ติดอันดับ2อาเซียน โดยชาติที่มีเสรีภาพสื่อดีที่สุดในโลกคือประเทศในกลุ่มนอร์ดิก อันได้แก่นอร์เวย์ อันดับ 1 ตามมาด้วยเดนมาร์ก และสวีเดน

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) เผยแพร่รายงานดัชนี เสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่บ่งชี้ว่า ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับที่ 115 ของดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ดีขึ้นจากอันดับ 137 เมื่อปีที่แล้ว และเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) เป็นรองมาเลเซียที่อยู่ในอันดับ 113 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก

อาร์เอสเอฟ จัดอันดับดัชนีเสรีภาพสื่อในอาเซียนดังนี้ 

  • มาเลเซียอันดับ113
  • ไทย อันดับ 115
  • อินโดนีเซีย อันดับ 117
  • สิงคโปร์ อันดับ 139
  • กัมพูชา อันดับ 142
  • บรูไน อันดับ 144
  • ฟิลิปปินส์ อันดับ 147
  • ลาว อันดับ 161
  • เวียดนาม อันดับ 174
  • เมียนมา อันดับ 176

ชาติที่มีเสรีภาพสื่อดีที่สุดในโลกคือ

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก อันได้แก่

  • นอร์เวย์ อันดับ 1
  • เดนมาร์ก
  • สวีเดน 

ชาติที่มีเสรีภาพสื่อต่ำที่สุดคือ 

  • เกาหลีเหนือ ในอันดับที่ 180
  • เอริเทรีย อันดับ 179
  • เมียนมา อันดับ176
  • จีนอยู่อันดับที่ 175
  • รัสเซีย อยู่ในอันดับที่ 155
  • ยูเครน อยู่อันดับที่ 106 

อาร์เอสเอฟ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2528 และเผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อ นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีวิธีเก็บคะแนนโดยใช้ 5 ตัวชี้วัดคือสภาพแวดล้อมทางการเมือง กรอบกฎหมาย สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางสังคม และความมั่นคง

อาร์เอสเอฟ ระบุด้วยว่า สื่อออนไลน์ที่ไม่มีการกำกับดูแลเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อซึ่งส่งผลให้การแบ่งแยกทางการเมืองไปทั่วโลก นอกจากนั้น ยังกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดในระดับนานาชาติถึงขั้นมีส่วนต่อการเกิดสงครามในยูเครนขึ้นด้วย

อาร์เอสเอฟ ระบุว่า ในโลกประชาธิปไตยสังคมนั้นเกิดความแตกแยกผลจากสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และสื่อที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะ “โมเดลฟ็อกซ์นิวส์” อัตลักษณ์ในแบบสื่อขวาจัดในสหรัฐ ที่ติดอันดับ 42 ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆแม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะได้รับการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ
 

ความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมที่เพิ่มขึ้นที่มีแรงกระตุ้นมาจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อที่เน้นแสดงความเห็นใหม่ๆ โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ซึ่งติดอันดับ 26 ในดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปีนี้ ขณะที่การกดขี่สื่ออิสระยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลายในโปแลนด์ ทำให้ติดอันดับที่ 66  

สำหรับในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดก็ทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อกับโลกประชาธิปไตย และมีส่วนในการเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศขึ้น เช่น กรณีรัสเซียที่สื่อของรัฐครองพื้นที่เหนือสื่ออิสระที่ถูกควบคุมอย่างหนักก็เปิดฉากรุกรานยูเครนหลังจากทำสงโฆษณาชวนเชื่อ

"คริสตอฟ เดอลัวร์" เลขาธิการอาร์เอสเอฟ ระบุว่า การใช้สื่อเป็นอาวุธในประเทศเผด็จการนอกจากจะเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนแล้ว ยังเชื่อมโยงกับความตึงเครียดระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่สงครามในรูปแบบที่โหดร้ายที่สุด ขณะที่การรายงานข่าวแบบฟ็อกซ์นิวส์ในโลกตะวันตกก็เป็นอันตรายกับประชาธิปไตยเพราะเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม

รายงานการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกปีนี้ ระบุว่า การบุกยูเครนของรัสเซียช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมาที่ดำเนินมาถึงตอนนี้ สะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งที่ชัดเจนที่เกิดจากการทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนจีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในชาติเผด็จการที่สุดแห่งหนึ่งของโลกใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือควบคุมประชากรและโดดเดี่ยวประเทศจากส่วนที่เหลือของโลก โดยเฉพาะประชากรในฮ่องกง ซึ่งอันดับในดัชนีเสรีภาพสื่อโลกในปีนี้แย่ลง ติดอันดับที่ 148 

ขณะที่การเผชิญหน้ากันระหว่าง“กลุ่ม”ต่างๆเริ่มขยายวงกว้างขึ้น ดังที่ปรากฏในกรณีของอินเดีย ซึ่งติดอันดับที่ 150 และปากีสถาน ติดอันดับ 157  ส่วนการไร้เสรีภาพของสื่อในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงส่งผลกระทบทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล ซึ่งติดอันดับ 86 ปาเลสไตน์ อันดับ 170 และประเทศอาหรับอื่นๆ

สถานการณ์เสรีภาพสื่อที่อาร์เอสเอฟจัดให้เป็นสถานการณ์เลวร้ายมากมี 28 ประเทศ รวมเบลารุส อันดับ 153 เติร์กเมนิสถาน อันดับ 177 อิหร่าน 178 

ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส  ประมุขแห่งศาสนจักรคาธอลิกทรงกล่าวยกย่องผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตและถูกคุมขังระหว่างปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก ในฐานะผู้ปกป้องเสรีภาพสื่อด้วยการรายงาน “ความบอบช้ำของมวลมนุษยชาติ” ด้วยความกล้าหาญ

ระหว่างที่ทรงมีพระดำรัสประจำสัปดาห์ต่อผู้ที่มาชุมนุมที่ลานจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ส ในนครวาติกัน เมื่อวันอาทิตย์(1พ.ค.)ที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเตือนว่า วันที่ 3 พ.ค.คือ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศไว้ และทรงไว้อาลัยให้แก่ผู้สื่อข่าวที่สละชีวิตเพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิ์แห่งเสรีภาพนี้

พระดำรัสของโป๊ปฟรานซิสในครั้งนี้ อ้างถึงสถิติที่ชี้ว่ามีผู้สื่อข่าว 47 คนเสียชีวิตและกว่า 350 คนถูกจับกุมและคุมขังในช่วงปีที่ผ่านมา

ตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติที่ลดลงกว่าที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) รายงานเมื่อต้นปีนี้ว่า ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่สื่อรวมกัน 55 รายถูกสังหารเมื่อปี 2564

โป๊ปฟรานซิส ยังทรงตรัสว่า “ขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อผู้ที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ ในการทำให้เราได้รับรู้ถึงความบอบช้ำของมนุษยชาติ”

เมื่อเดือนที่แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศยกย่องผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตในระหว่างการรายงานข่าวสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย พร้อมทั้งทรงแสดงความหวังว่า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบแทนผู้สื่อข่าวเหล่านี้จากการที่ทำความดีเพื่อมวลมนุษย์