ตื่นตา ! ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง สีแดงอิฐมีดาวยูเรนัสอยู่ด้านขวา

ตื่นตา ! ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง สีแดงอิฐมีดาวยูเรนัสอยู่ด้านขวา

ตื่นตา ! ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง เป็นสีแดงอิฐมีดาวยูเรนัสปรากฏอยู่ด้านขวา ในค่ำคืนวันลอยกระทง 2565 ใครพลาดชมได้อีกครั้ง 3 ปีข้างหน้า

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) NARIT เผยภาพปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง เหนือฟ้าเมืองไทย ขณะเกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์เต็มดวง ปรากฏเป็นสีแดงอิฐ มีดาวยูเรนัสปรากฏอยู่ด้านขวา บันทึกภาพ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เวลาประมาณ 18:29 น. ช่วงหัวค่ำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับ วันลอยกระทง 2565 ในปีนี้ มีประชาชนชาวไทยให้ความสนใจติดตามชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้กันอย่างคึกคักทั่วประเทศ

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15:02 - 20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:44 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกตรงกับช่วงที่กำลังเกิดคราสเต็มดวง มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลาประมาณ 18:41 น. 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จากนั้นเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคา" ในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อแสงของดวงอาทิตย์ ผ่านบรรยากาศโลก แสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าจะถูกบรรยากาศกระเจิงออกไปหมด เหลือแต่แสงสีแดงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่าหักเหไปตกกระทบบนผิวดวงจันทร์ จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง

ปรากฏการณ์ "จันทรุปราคา" ครั้งนี้ สามารถสังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้

ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง ในประเทศไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ตรงกับคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568 

 

 

ที่มา :  NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ