คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบฉีดวัคซีนโควิด-19ในเด็ก5-11ปี-เข็ม 4

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบฉีดวัคซีนโควิด-19ในเด็ก5-11ปี-เข็ม 4

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี ย้ำตามความประสงค์ของผู้ปกครอง และวัคซีน เข็ม 4 โควิดในบุคลากรการแพทย์ ด่านหน้า และผู้มีโรคเรื้อรังที่ภูมิต่ำ

    เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุม (คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมโรคติดต่อแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุมฯ พิจารณา  1.เห็นชอบข้อคำแนะจากคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในการให้วัคซีนโควิดในเด็ก 5-11 ปีด้วยวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขึ้นทะเบียนในขณะนี้มีตัวเดียวคือ วัคซีนไฟเซอร์ รวมถึง ครม.เห็นชอบสัญญาแผนการจัดซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดสตามที่ สธ.ได้เสนอไป โดยจะพยายามประสานให้จัดส่งโดยเร็วที่สุด โดยการฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปีเป็นไปตามความสมัครใจ ใช้ระบบโรงเรียนเป็นฐานเหมือนที่ใช้กับเด็ก 12-18 ปี ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กำลังรวบรวมตัวเลขกลุ่มเด็ก 5-11 ปี ซึ่งเป็นเด็กอนุบาลจนถึงประถมศึกษา เบื้องต้นคาดว่ามี 5.4 ล้านคน ส่วนกรณีเด็กที่ไม่ได้ศึกษาในโรงเรียน หรือป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ก็สามารถฉีดในโรงพยาบาลได้


      

      “เนื่องจากฉีดในเด็กเล็ก ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ดี และแสดงความประสงค์จะฉีดตามสมัครใจ ซึ่งท่านประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ นายกสมาคมกุมารแพทย์ มีความเห็นว่าไม่ควรเร่งฉีดจนกินไป ควรให้เวลาทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้ทราบข้อดี ข้อเสียอย่างถ่องแท้ก่อน” นพ.โอภาส กล่าว

         นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า 2.เห็นชอบการฉีดเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม4 ให้บุคลากรแพทย์และสาธารณสุข  เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยะที่กินยากดภูมิฯ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือนขึ้นไปแล้ว ดังนั้น เพื่อรับมือโอมิครอน จึงเห็นชอบให้ฉีดเข็มกระตุ้น หากรับ ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยเข็ม 3 เป็นแอสตร้าฯ ก็ให้ฉีดเข็ม 4 เป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ในกรณีที่แพ้แอสตร้าฯ ส่วนผู้ที่รับ ซิโนแวค 2 เข็ม เข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ เข็ม 4 ก็ขอให้เป็นไฟเซอร์ ซึ่งทุกอย่างเป็นตามความสมัครใจ   อย่างไรก็ตาม บุคลากรแพทย์ที่ประสงค์การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal) หรือครึ่งโดสก็สามารถทำได้

       3.พิจารณาประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทางกรุงเทพมหานคร เสนอให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย เพื่อให้ดูแลพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น และ  4.เห็นชอบการปรับมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อตับอักเสบชนิดซี โดยตั้งคณะอนุกรรมการนำเอาโมเดลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปดำเนินการให้เกิดแผนงานระดับประเทศ