จับตา! โควิด 'สายพันธุ์ C.1.2' ร้ายกาจกว่าสายพันธุ์เดลต้าหลายเท่า

จับตา! โควิด 'สายพันธุ์ C.1.2' ร้ายกาจกว่าสายพันธุ์เดลต้าหลายเท่า

โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งล่าสุด ได้ค้นพบ สายพันธุ์ใหม่'สายพันธุ์ C.1.2' ที่มีความรุนแรงกว่า 'สายพันธุ์เดลตา' ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก

จากการรายงานของหลายประเทศทั่วโลก พบว่า ขณะนี้มีการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการระบุเบื้องต้นว่า ‘สายพันธุ์ใหม่นี้ร้ายกาจกว่าสายพันธุ์เดลตา’

  • จุดกำเนิด C.1.2 สายพันธุ์ใหม่

สถาบันแห่งชาติโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) และแกมมา (บราซิล)

สายพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อว่า สายพันธุ์ C.1.2 พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม  2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเกิดการระบาดระลอกที่สามของประเทศ

โดยมีการกลายพันธุ์มากมายหลายตำแหน่ง แตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์ C.1 และการกลายพันธุ์นั้นก็เพิ่มเติมและห่างไกลจากไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมของอู่ฮั่น และไวรัสทุกสายพันธุ์ทั้งในกลุ่ม VOC และ VOI

การกลายพันธุ์นั้นมีอัตรา 41.8 ตำแหน่งต่อปี หรือเกือบ2 เท่าของไวรัสสายพันธุ์อื่นที่มีการกลายพันธุ์กัน

นอกจากนั้น มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง N440K และ Y449H ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับความสามารถในการหลบเลี่ยงแอนติบอดีบางประเภทที่ผลิตโดยวัคซีนโควิด-19

สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ อธิบายต่อว่าจีโนมของ C.1.2 เพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ 1.6% ในเดือนมิถุนายน และ 2% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าสายพันธุ์อัลฟา เบตา และแกมมา

ส่วน C.1.2 จะมีอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลกในขณะนี้หรือไม่นั้น นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอีกครั้ง

163039553466

  • 3 ตำแหน่ง 'สายพันธุ์ C.1.2' น่ากลัว

แม้การระบาดส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้และหลายประเทศทั่วโลกจะเป็นจากสายพันธุ์เดลตา รวมถึงประเทศไทย แต่ขณะนี้ก็พบการระบาดสายพันธุ์ใหม่ กว่าครึ่งประเทศ และแพร่ระบาดไปประเทศต่างๆ แล้ว

องค์การอนามัยโลก (WHO)  ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดให้โควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) หรือน่าสนใจ (VOI) ดังนั้นจึงยังไม่มีการกำหนดตัวอักษรกรีกให้กับสายพันธุ์ C.1.2

มาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ หัวหน้านักวิจัยของ WHO ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า WHO ได้พูดคุยกับนักวิจัยแอฟริกาใต้เป็นประจำเกี่ยวกับงานของพวกเขาในการจัดลำดับพันธุกรรมโควิด-19 เรารู้สึกขอบคุณสำหรับนักวิจัยเหล่านี้ที่เสนอข้อค้นพบเกี่ยวกับสายพันธุ์ C.1.2 ให้กับ WHO ตั้งแต่เดือน ก.ค.

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ C.1.2 ดูเหมือนจะยังไม่มีอัตราการระบาดที่สูง แต่เราต้องการข้อมูลลำดับพันธุกรรมเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการศึกษาและแบ่งปันข้อมูลกับทั่วโลก จากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ สายพันธุ์เดลตายังคงครองการระบาดส่วนใหญ่อยู่ ถ้า WHO พบลักษณะหรือสายพันธุ์ของโควิด-19 ใด ๆ ในฐานะสายพันธุ์ VOC หรือ VOI จะมีการอัปเดตข้อมูลทันที

C.1.2 เป็นการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ C.1 ซึ่งระบาดในแอฟริกาใต้เช่นกัน แต่มีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำ และหายไปตั้งแต่ ม.ค. 2021 แม้ว่า C.1.2 จะมีการกลายพันธุ์ที่คล้ายกันกับ C.1 แต่ก็มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมหลายตำแหน่งภายในโปรตีนหนาม (Spike Protein)

นักวิทยาศาสตร์ ได้ประมาณการว่า 52% ของการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามของสายพันธุ์ C.1.2 เป็นการกลายพันธุ์ที่เคยพบในสายพันธุ์ VOI และ VOC อื่น ๆ

โดย C.1.2 มีการกลายพันธุ์อยู่ 3 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามที่พบในสายพันธุ์อื่นแล้วสร้างความกังวลเกี่ยวกับความร้ายแรงของเชื้อ ได้แก่ E484K, N501Y และ D614G ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่เชื่อมโยงกับความสามารถการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นและการป้องกันจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง โดยเป็นการกลายพันธุ์ที่พบได้ในเชื้อโควิด-19 แทบจะทุกสายพันธุ์ที่อยู่ในลิสต์ของ WHO

  • กลายพันธุ์เก่ง หลบหลีกภูมิคุ้มกันเก่ง

ขณะที่ เดลี่เมลรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์เก่งมากที่สุด ซึ่งพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และตั้งชื่อเรียกว่า C.1.2 เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ในหลายประเทศทั้ง อังกฤษ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มอริเชียส นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์แล้ว

โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Communicable Diseases and the KwaZulu-Natal Research Innovation and Sequencing Platform ของแอฟริกาใต้ ชี้ว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์ C.1.2 อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายติดเชื้อง่ายกว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา และอาจมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์จากการฉีดวัคซีนได้

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ C.1.2 เป็นเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ C.1 ซึ่งพบในการระบาดระลอกแรก และเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 นับเป็นสายพันธุ์ที่เกิดการกลายพันธุ์เก่ง บ่อยครั้งมากที่สุดกว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อื่นๆ

163038919761  

ระหว่างการศึกษาในแอฟริกาใต้ ทีมนักวิจัยพบว่าภายในหนึ่งเดือน จีโนม (ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต) ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ C.1.2 เพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ 1.6% ในเดือนมิถุนายน และเพิ่มเป็น 2% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจีโนมในระยะเวลาสั้นนี้มากกว่าที่เคยพบในเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟา เบตา และแกมมา

  • แพร่ระบาดแล้วเกือบ 10 ประเทศทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในหลายประเทศกำลังกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "C.1.2" ซึ่งพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้และได้แพร่ระบาดไปแล้วเกือบ 10 ประเทศทั่วโลก ท่ามกลางความกังวลว่าสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่ระบาดได้มากกว่า และต้านทานวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ C.1.2 ตรวจพบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ C.1 ที่ตรวจพบในเดือนมกราคม

โดยยังไม่มีการพบโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 ในประเทศไทยแต่อย่างใด และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ทุกตัวจะมีความน่ากลัวหรือรุนแรงแบบสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'เปิดข้อมูลการกลายพันธุ์' โควิดสายพันธุ์ C.1.2

                     'โควิดพันธุ์C.1.2'ยังไม่เจอในไทย-WHOยังไม่ยืนยันความแรง

                     ในไทย ใช่ 'เดลตาพลัส' กระจายเร็ว รุนแรงขึ้นหรือไม่?

  • เชื่อวัคซีนโควิด-19ที่แอฟริกาใต้ใช้เอาอยู่

เพนนี มัวร์ นักวิจัยจาก สถาบันแห่งชาติโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD)  กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการทดลองเพื่อยืนยันว่า C.1.2 ตอบสนองอย่างไรในแง่ของความไวต่อแอนติบอดี แต่เรามีความมั่นใจอย่างมากว่า วัคซีนที่มีใช้ในแอฟริกาใต้ จะยังคงปกป้องเราจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่รุนแรงได้

นอกจากนี้ อัตราการระบาดและการแพร่เชื้อยังอยู่ในระดับต่ำ และจนถึงขณะนี้มีการตรวจพบในลำดับจีโนมไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่มีการเก็บตัวอย่างครั้งแรกในเดือน พ.ค.

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่แอฟริกาใต้ใช้อยู่คือ วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

นักวิจัยรายงานว่า การพบเชื้อที่กลายพันธุ์หลายตำแหน่งไม่ได้แปลว่ามีอันตรายมากขึ้นเสมอไป การกลายพันธุ์บางอย่างอาจทำให้ไวรัสอ่อนแอลงได้เช่นกัน

อีกทั้ง โควิด-19 บางสายพันธุ์ เช่น อัลฟาและเดลตา แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก แต่บางสายพันธุ์ยังแพร่กระจายในระดับภูมิภาคมากกว่า ทำให้ยังไม่มีการรกระดับความอันตราย นั่นอาจแปลความได้ว่า สายพันธุ์ C.1.2 รวมถึงสายพันธุ์โคลอมเบียที่เคยมีการรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ อาจไม่อยู่ในระดับที่ประชาชนต้องกังวล

  • หวั่น C.1.2 แพร่เร็วผู้ติดเชื้อพุ่งสูง

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่าน blockdit ส่วนตัว ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัยระบุว่า ค้นพบไวรัสก่อโรคโควิดใหม่ล่าสุด กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่าตัว

โดยจากที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์ง่ายและบ่อยเป็นธรรมชาติ  การที่โลกเราประสบปัญหามากมาย  ในการควบคุมการระบาด และในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด ก็มีสาเหตุมาจากไวรัสก่อโรคโควิดที่กลายพันธุ์ง่ายและรวดเร็ว

ขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์เด่นของโลก ระบาดครอบคลุมไปเกือบทุกประเทศ และทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองเป็นการใหญ่ เพื่อที่จะรับมือกับไวรัสเดลต้า รวมทั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย. การติดตามในแวดวงวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อคอยเฝ้าจับตาไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจดุร้ายหรือรุนแรงกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และหน่วยงานที่เรียกว่า GISAID ก็ได้ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด

ตอนนี้ได้มีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ตั้งชื่อว่า C.1.2 ซึ่งมีลักษณะเด่นพิเศษคือ มีอัตราความเร็วในการกลายพันธุ์ ( Mutation rate ) มากเป็น 1.7-1.8 เท่าของไวรัสกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในขณะนี้

ทำให้มีการคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจมีความสามารถในการแพร่ระบาดโรคได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น มีความสามารถในการต่อต้านกับวัคซีน ทำให้มีประสิทธิผลลดลง และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น

  • คาดโควิดสายพันธุ์ต้านวัคซีนได้ทุกตัว

หมอแล็บแพนด้า หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ภาพข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์มากสุด ผู้เชี่ยวชาญระบุแพร่ระบาดได้มากกว่า และอาจต้านทานวัคซีนได้มากกว่าทุกสายพันธุ์

ตำแหน่งของการกลายพันธุ์ มีมากมายหลายตำแหน่ง  (190,215,484,501,655,859) ซึ่งอาจไปเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ทำให้เกิดผลดังกล่าวได้

163039562193

การกลายพันธุ์ในกลุ่มไวรัสที่น่าเป็นห่วง (VOC) 4 สายพันธุ์คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตานั้น มีตำแหน่งของการกลายพันธุ์น้อยกว่าของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกือบหนึ่งเท่าตัว จึงต้องติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ต่อไปว่า

1.จะมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวาง จนสามารถเอาชนะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่อย่างไร

2.การกลายพันธุ์นั้น จะพัฒนาออกไปนอกตำแหน่งปุ่มหนาม ( Spike region) หรือไม่

เพราะถ้าพัฒนาออกไปนอกปุ่มหนาม จะทำให้วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเน้นเฉพาะการป้องกันที่ปุ่มหนามแทนที่จะเป็นไวรัสทั้งตัว เช่น mRNA และ Viral vector ก็จะได้รับผลกระทบต่อประสิทธิผลที่จะลดลงเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้ในประเทศไทยจะยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ใหม่  C.1.2 แต่ก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร และเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ในประเทศตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกเดือนเมษายนด้วยสายพันธุ์เดลตา ก็ย่ำแย่ในทุกด้าน ทุกคนในประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และไม่ให้ตนเองเป็นผู้แพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น

  • ยังไม่เจอC.1.2ในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์กรณีการพบไวรัสก่อโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่C.1.2 ซึ่งกลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่า โดยพบในประเทศแอฟริกาใต้กว่าครึ่งประเทศ และแพร่ไปอีกหลายประเทศ 

ขณะนี้สายพันธุ์C.1.2 ยังไม่เจอในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีการเฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์อยู่ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง เฉพาะกรมวิทย์ตรวจได้สัปดาห์ละ 400-500 ตัวอย่างซึ่งยังไม่พบสายพันธุ์นี้ ส่วนสายพันธุ์เดลตา AY ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในประเทศไทย และยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น