‘เดลตาย่อย’ ในไทย ใช่ ‘เดลตาพลัส’ กระจายเร็ว รุนแรงขึ้นหรือไม่?

‘เดลตาย่อย’ ในไทย ใช่ ‘เดลตาพลัส’ กระจายเร็ว รุนแรงขึ้นหรือไม่?

ตามที่นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ‘สายพันธุ์เดลตา’ (Delta) เป็นสายพันธุ์โควิด-19 ที่มีความรุนแรง และระบาดได้รวดเร็วที่สุดในบรรดาสายพันธุ์โควิด -19 ทั้งหมด

ปัจจุบันพบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ เดลตา แล้วใน 132 ประเทศทั่วโลก  และกำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่ว(ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)) รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่

  • ‘เดลตา’สายพันธุ์หลักติดเชื้อในไทย

สายพันธุ์เดลตา หรือที่รู้จักในชื่อ โควิดสายพันธุ์อินเดีย  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ B.1.617.2 พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย โดยในไทยเริ่มรู้จักและมีการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ในกลุ่มแคมป์คนงาน ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายทั่วประเทศ และเป็นที่น่าจับตามองในประเทศไทย ณ เวลานี้ เพราะนอกจากนี้จะพบสายพันธุ์เดลตา แล้ว ยังมีการพบการกลายพันธุ์ เดลตาย่อย

วันนี้  (24 ส.ค.2564) ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-โรงพยาบาลรามาธิบดี  มีการแถลงกรณีพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตาย่อยในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงอัพเดตข้อมูลการจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการถอดรหัสพันธุกรรมมากกว่า 2,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา 2,132 ตัวอย่าง สายพันธุ์อัลฟา 134 ราย สายพันธุ์เบตา 29 ราย

ทั้งนี้ ภาพรวมของประเทศระหว่างวันที่ 14-20 ส.ค.64 สัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง สายพันธุ์เดลตา อยู่ที่ 93% เฉพาะในกรุงเทพฯ 96.7% อีก 3.3% เป็นอัลฟา ส่วนภูมิภาคพบเดลตา 85.2% อัลฟ่า 11% และเบต้า 3.8%

สรุปได้ว่า สายพันธุ์เดลตากระจายทั้ง 77 จังหวัดแล้ว จากสัปดาห์ที่แล้ว ยังไม่พบใน จ.สุพรรณบุรี แต่สัปดาห์นี้พบ 3 ราย ดังนั้น เดลตาเป็นสายพันธุ์หลักที่ติดเชื้อในไทย

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สายพันธุ์เดลตามีชื่อว่า B.1.617.2 ไทยก็พบสายพันธุ์เดียวกับที่พบส่วนใหญ่ทั่วโลก กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัว สัปดาห์ละ 400-500 ราย เป็นอย่างน้อย ทำให้เราทำพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ต้องจับตาดู โดยจะประสานกรมควบคุมโรค ติดตามผู้ติดเชื้อรายนั้นว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีอาการหนัก หรือมีการเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติอย่างไร ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศไทย

บื้องต้นยังไม่พบข้อแตกต่างตรงนี้ สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่พบครั้งนี้ต้องเรียนก่อนว่า ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ สเปน เดนมาร์ก มีรายงานเช่นกัน ดังนั้น อย่าไปสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ของไทย แต่เราต้องจับตามองว่าสายพันธุ์นี้จะมีผลต่อการควบคุมโรคหรือไม่ ซึ่งมีการติดตามต่อเนื่องนพ.ศุภกิจ กล่าว

กระจายในระลอกใหม่ และในขณะนี้จนทำให้มียอดผู้ป่วยรายใหม่พุ่งสูงถึง 20,000 ราย ต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น

  • ทำความรู้จัก 'เดลตาย่อย'ในไทย       

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อัพเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในไทย ระบุว่า ตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตามีสัดส่วนกระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทยแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยถึงผลการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จีโนมที่ระบาดในไทยทุกสัปดาห์พบว่า สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ในไทยในขณะนี้ เป็นสายพันธุ์ B.1.617.2  ซึ่งเริ่มปรากฏเดลตาสายพันธุ์ย่อย 4 สายพันธุ์ในไทย ดังนี้

1.AY.4 หรือ B.1.617.2.4 ตรวจพบในเดือน มิ.ย.-ส.ค.

  • จ.ปทุมธานี 4 ราย
  • จ.บุรีรัมย์ 1 ราย
  • จ.กำแพงเพชร 1 ราย
  • จ.เชียงใหม่ 1 ราย
  • จ.สมุทรปราการ 1 ราย
  • จ.ชลบุรี 1 ราย

2.AY.6 หรือ B.1.617.2.6 ตรวจพบในเดือน ก.ค.

  • ในพื้นที่ กทม. 1 ราย

3.AY.10 หรือ B.1.617.2.10 ช่วงที่พบเดือน ก.ค.

  • ในพื้นที่ กทม.1 ราย

4.AY.12 หรือ B.1.617.2.15 ช่วงที่พบเดือน ก.ค.-ส.ค.

  • ในพื้นที่ กทม. (พญาไท) 1 ราย
  • จ.สุราษฎร์ธานี  2 ราย

นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่าAY.4 พบมากสุดใน จ.ปทุมธานี 4 ตัวอย่าง AY.6 พบในกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง AY.10 พบกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง และ AY.12 พบ จ.สุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง และกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่ มิ.ย.ถึง ส.ค. โดยเราจะมีการติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่าง

  • อาการ ‘เดลตาย่อย’ ในไทย

นพ.สุรัคเมธ กล่าวต่อว่าล่าสุดข้อมูลวันที่ 9 ส.ค.64 ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์เดลตาย่อย AY.1 ไปจนถึง AY.25 ทุกตัวของสายพันธุ์เดลตายังมีคุณสมบัติแพร่กระจายเร็ว อาการรุนแรง

สำหรับเชื้อเดลตาพลัสที่อินเดียเคยรายงานนั้น คือ K417N ในไทยยังไม่เจอ อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส ใช้เวลา 3-5 วัน เราทำมาตลอด โดยเราถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนมล่าสุด 1,955 ตัวอย่าง พบว่าเป็นอัลฟา 71% ส่วนเดลตา 23% ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจตั้งแต่ 28 พ.ค. เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เราพบสายพันธุ์เดลตาอยู่

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่าอาการของผู้ป่วยเดลตาสายพันธุ์ย่อยนี้  ยังไม่พบว่าแตกต่างจากผู้ป่วยสายพันธุ์หลัก แต่ด้วยยังมีจำนวนไม่มากจึงต้องมีการติดตามต่อเนื่องอีก นอกจากนั้น ขณะนี้ในต่างประเทศยังไม่มีข้อมูลว่าแพร่เร็วขึ้น หรือทำให้อัตราการป่วยตายมากขึ้น และยังไม่ถูกจัดชั้นอะไร

ด้าน นพ.สุรัคเมธ กล่าวว่า เดลตาต้นกำเนิดมาจากอินเดีย การจะบอกว่าเดลตาเกิดในไทยก็ยังไม่ชัดเจน แต่ 4 ตัวนี้ชัดเจนว่าพบครั้งแรกในแถบยุโรป ซึ่งทั้งหมดอาจมาจากอินเดียก็ได้ แล้วกระจายไปทั้งโลก แต่ก็ต้องมีการศึกษาติดตามข้อมูลต่อไป

อย่างไรก็ตาม สรุปการพบสายพันธุ์ย่อยในเดลตานั้นไม่ใช่สายพันธุ์ไทย และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้เป็นลูกหลานของเดลต้าที่พบในไทยอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่พบความรุนแรง หรือมีผลใดๆ และไม่เป็นปัญหากับระบบใดๆ โดยหลังจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่ายจะติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

จากฐานข้อมูลระดับโลก ประเทศที่มีรายงานเข้าไปในระบบอย่างสายพันธุ์ย่อย AY.4 อย่างอังกฤษ 67% อเมริกา 13% เดนมาร์ก 3% สเปน 2% ฝรั่งเศส 2% ซึ่งอังกฤษทำเยอะมาก

โดยจริงๆ การที่ประเทศพบและเจอสายพันธุ์ย่อยและมีการรายงานเข้าระบบถือเป็นด้านบวก เพราะการพบจะช่วยให้เราจัดทำข้อมูลเพื่อควบคุมโรคอย่างเหมาะสม อย่างในอนาคตหากพบสายพันธุ์ไทย แต่ถ้าเราตรวจจับได้ถือเป็นเรื่องดีในแง่การควบคุมโรคนพ.ศุภกิจกล่าว

  • เปรียบเทียบ ‘เดลตา’ แต่ละชนิด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอาการของสายพันธุ์เดลตา แล้วนั้น จะพบว่า โควิดสายพันธุ์เดลตา จะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ได้แก่ ปวดศีรษะ เจ็บคอ มีน้ำมูกไหล และไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส นอกจากนี้ยังพบอาการตามการฉีดวัคซีนได้เช่นกัน

  • อาการโควิดเดลต้าในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน : เป็นไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอบ่อย และปวดศีรษะ
  • อาการโควิดเดลต้าในผู้ที่รับวัคซีน 1 โดส : เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอบ่อย และจาม
  • อาการโควิดเดลต้าในผู้ที่รับวัคซีน 2 โดส : ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เจ็บคอ จาม และสูญเสียการได้กลิ่น

 ขณะที่ ‘เดลตาพลัส’ และ ‘เดลตาย่อย’ มีอาการเช่นเดียวกัน เพียงแต่เดลตาพลัส เชื้อไวรัสจับกับเซลล์บนปอดได้แน่นขึ้น ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ขณะที่เดลตาย่อย ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอาการที่กล่าวมานั้นเป็นอาการที่อาจสังเกตได้ยาก หรืออาจทำให้ผู้ป่วยคิดไปเองว่าตนเองไม่ได้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ดังนั้นเมื่อมีไข้ไม่สบายให้คอยสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 ให้รีบพบแพทย์ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  เจอ 'โควิด19' สายพันธุ์ย่อย 'เดลตา' ในไทย

                    'สหรัฐ' ชี้ 'สายพันธุ์เดลตา' ก่อโรคทางเดินหายใจ รุนแรงสุดเท่าที่เคยพบ

                    ส่อง 7 ข้อต้องรู้ โควิดสายพันธุ์ 'เดลตา' อาการร้ายแรงแค่ไหน?                                       

  • ‘เดลตา’กลายพันธุ์สู่ ‘เดลตาพลัส’

ขณะที่ในต่างประเทศ พบว่ามีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ เดลตา สู่สายพันธุ์เดลตา พลัส (Delta Plus) ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม K417N ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย และหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีขึ้น

จาก Washington Post เปิดเผยล่วงหน้าเกี่ยวกับรายงานการประเมินล่าสุดของ สายพันธุ์เดลตา กลายพันธุ์ที่เผยแพร่โดยแผน CDC ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 30 ตามข้อมูลในรายงานนี้ Delta สายพันธุ์กลายพันธุ์ มีจำนวนการติดเชื้อพื้นฐาน R0 สูงถึง 6 ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมสองเท่า (สายพันธุ์ดั้งเดิมของปีที่แล้ว R0 คือ 3) การระบาดคล้ายกับอีสุกอีใส และการแพร่เชื้อนี้มีความรุนแรง

จากข้อมูลของอินเดียระบุว่าระยะเวลาการหายจากโรคเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดลตากลายพันธุ์จะยาวนานถึง 18 วัน ซึ่งยาวนานกว่า 13 วันของสายพันธุ์เดิม 5 วัน (นี่คือหลังการวินิจฉัย ไม่ใช่ระยะฟักตัว และจะไม่กระทบนโยบายการแยกกันอยู่ในขณะนี้ )

สำนักข่าว BBC รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย เปิดเผยผลการศึกษาพบตัวแปรที่เรียกว่า เดลตาพลัส หรือที่เรียกว่า AY.1 โดยมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 40 คน ใน 3 รัฐ ได้แก่ มหาราษฏระ เกรละ และมัธยประเทศ โดยรัฐที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ รัฐมหาราษฏระที่พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 16 คน

นอกจากนี้ ยังพบโควิดสายพันธุ์เดลตาพลัสแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โปแลนด์ รัสเซีย และจีน

  • ‘เดลต้าพลัส’ แตกต่างจากเดิมอย่างไร?

กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียได้ประกาศการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตา  เป็น สายพันธุ์เดลต้าพลัส (Delta Plus) หรือ AY.1 ว่าอยู่ในระดับที่น่ากังวล เพราะ สายพันธุ์เดลตาพลัส มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ

เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เดลตาพลัส ค้นพบครั้งแรกในยุโรป และเริ่มแพร่ระบาดในอินเดีย แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะชี้ชัดไม่ได้ว่าสายพันธุ์นี้เป็นภัยร้ายที่น่ากลัวกว่าสายพันธุ์ก่อน ๆ หรือไม่ เนื่องด้วยหลักฐานทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการประเมินความรุนแรงของสายพันธุ์ แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจส่งผลทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในอินเดีย และประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดสายพันธุ์เดลตาพลัสจะรับมือได้ยากยิ่งขึ้น

แถมประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีการใช้กันอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่แน่ใจในเรื่องผลต่อเดลตาพลัส เบื้องต้นสื่อท้องถิ่นของอินเดีย Hindustan Times เผยว่าเนื่องจากไวรัสนี้เป็นสายพันธุ์ที่พึ่งเกิดใหม่ จึงไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าวัคซีนที่มีอยู่เดิมนั้นจะป้องกันได้ดีเพียงใด แต่ถ้าอ้างอิงจากสายพันธุ์เดลตาเดิม หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษกล่าวว่าวัคซีนจากผู้ผลิต Pfizer และ AstraZeneca ได้ให้ประสิทธิภาพป้องกันอาการติดเชื้อไม่ให้หนักกว่าเดิมได้ถึง 90%

  • ‘เดลตาพลัส’ กระจายไปหลายประเทศ

กระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย เผยว่าได้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายใหม่ที่เชื้อได้กลายพันธุ์เป็นเดลตาพลัสราว 40 ราย และได้ระบุว่าขณะนี้พบสายพันธุ์ดังกล่าวในรัฐมหาราษฎร์ เกรละ และมัธยประเทศ

นอกจากนี้ในข้อมูลที่รายงานประจำวันที่ 16 มิ.ย. มีการค้นพบเชื้อไวรัสเดลตาพลัสในสหรัฐฯ 83 ราย และประเทศอื่นๆที่เริ่มพบเห็นการระบาดของสายพันธุ์เดลตาพลัส ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น เนปาล โปแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี

  • ประสิทธิภาพ‘วัคซีน’ป้องกันเดลต้า

จากการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์เดลตา และเดลตาพลัสเพิ่มคุณสมบัติในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี และจากผลการทดลองยืนยันว่าวัคซีนประเภท mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) และประเภทวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะมีประสิทธิภาพในการรับมือได้ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น

วัคซีนไฟเซอร์ :  Pfizer

  • ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%  (หมายความว่า 33% เมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ)
  • ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนโมเดอร์นา :  Moderna

  • ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%
  • ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า :  AstraZeneca (จากข้อมูลของทางสหรัฐฯ)

  • ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%
  • ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 60%

วัคซีนซิโนแวค :  Sinovac

  • ยังไม่มีรายงานในการป้องกันการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม แม้ประสิทธิภาพวัคซีนจะต่างกัน แต่วัคซีนทุกยี่ห้อยังสามารถป้องกันการอาการหนักหากติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาได้ทั้งหมด เพราะเพื่อป้องกันอาการรุนแรง ทุกคนควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ รักษาระยะห่างกับผู้อื่น ไม่ชุมนุมหรือรวมกลุ่มกัน ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง

อ้างอิง: รพ.เพชรเวช  รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย BBC Thai  The Guardian และ FR 24 NEWS