"วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้น 3-4 ต้องฉีดสูตรไหน? ถ้าติดโควิดต้องกิน "ยา" อะไร?

"วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้น 3-4 ต้องฉีดสูตรไหน? ถ้าติดโควิดต้องกิน "ยา" อะไร?

เมื่อ "ยอดเสียชีวิต" จากโควิดยังพุ่งสูง ยิ่งต้องเร่งฉีด "วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้น ให้ทั่วถึงมากที่สุด แล้วต้องฉีดวัคซีนสูตรไหน? รวมถึงหาก "ติดโควิด" จะต้องกิน "ยา" อะไร? ในขณะที่เข้าระบบรักษาที่บ้าน

ในวันที่ยอดโควิดในไทยยังพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "ยอดเสียชีวิต" ที่ทำนิวไฮในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ สธ. ต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสียง เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม3 เข็ม4) ให้ทั่วถึงให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตลง

ล่าสุด.. มีการเปิดพื้นที่ให้บริการฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" จากภาครัฐฟรี และ Walk In ได้เลย ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า ว่าแต่.. การเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องใช้สูตรวัคซีนแบบไหน? เว้นระยะห่างเท่าไร?

แล้วถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่ดัน "ติดโควิด" ไปซะก่อน จะต้อง กินยารักษาโควิดอะไรบ้าง​? ในการรักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวบข้อมูลมาให้ครบ เช็กที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. "วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้น ฉีดสูตรไหน? เว้นห่างเท่าไร?

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศแนวทางการให้ "วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 4 แก่ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

สูตร 1 : เข็มที่ 1 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม, เข็มที่ 2 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม, เข็มที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า, เข็มที่ 4 แอสตร้าเซนเนก้า 

สูตร 2 : เข็มที่ 1 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม, เข็มที่ 2 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม, เข็มที่ 3 ไฟเซอร์, เข็มที่ 4 ไฟเซอร์ 

สูตร 3 : เข็มที่ 1 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม, เข็มที่ 2 แอสตร้าฯ, เข็มที่ 3 แอสตร้าฯ, เข็มที่ 4 ไฟเซอร์ 

สูตร 4 : เข็มที่ 1 แอสตร้าฯ, เข็มที่ 2 แอสตร้าฯ, เข็มที่ 3 ไฟเซอร์, เข็มที่ 4 ไฟเซอร์ 

  • สำหรับกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่เพิ่งฉีดวัคซีนได้เพียง 2 เข็ม ให้ต่อด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
  • ส่วนกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ฉีดเข็ม 3 แล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 

หมายเหตุ : กรณีกระตุ้นด้วย "วัคซีนไฟเซอร์" สามารถฉีดขนาดครึ่งโดสได้ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน 

 

2. จุดให้บริการ "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ฟรี ที่ไหนบ้าง?

"ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ" เปิดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกครั้ง โดยให้บริการฉีดทุกเข็ม (เข็ม 1 2 3 และ 4) โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า ประชาชนทั้งคนไทย ต่างชาติ หรือแรงงานต่างด้าว สามารถ Walk in เข้ารับบริการได้เลย มีช่องให้บริการ ดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ผู้ใหญ่) เข้ารับบริการที่ประตู 2 (เลือกวัคซีนไฟเซอร์ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า)
  • เด็กที่มีอายุ 5-11 ปี เข้ารับบริการที่ประตู 3 (วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม) 

ให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00 - 16.00 น. รอคิวตามลำดับที่เก้าอี้สีแดง

นอกจากนี้ กทม. เปิดจุดบริการฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้มาฉีดวัคซีนแบบ วอล์คอิน (Walk in) ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า ณ จุดบริการนอกสถานพยาบาลทั้ง 6 จุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ 

  • จุดที่ 1 ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) 
  • จุดที่ 2 ธัญญาพาร์ค 
  • จุดที่ 3 Central พระราม 3 
  • จุดที่ 4 Central ปิ่นเกล้า 
  • จุดที่ 5 Central อีสต์วิลล์ 
  • จุดที่ 6 โรบินสัน ลาดกระบัง

3. ยังไม่ทันได้ฉีด แต่ดัน "ติดโควิด" ไปก่อน ต้องกินยาอะไรบ้าง?

พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผู้อำนวยการศูนย์พรีเมียร์ไลฟ์เซ็นเตอร์ รพ.พญาไท 2 ได้แนะนำเรื่องการกินยารักษาโควิดด้วยตัวเอง ระหว่างอยู่ใน Home isolation ดังนี้

  • ฟ้าทะลายโจร 

ในหนึ่งวันจะต้องทานยาให้ได้รับสารแอนโดกราโฟไลด์  (Andrographolide) 180 มิลลิกรัม/วัน ปกติในยาหนึ่งเม็ดมักจะมีสารนี้ 15-20 มิลลิกรัม

วิธีการทาน :  ถ้ามี 15 มก.ต่อหนึ่งเม็ด ก็ต้องทาน 12 เม็ดต่อวัน เท่ากับ 4 เม็ด เช้า-กลาง-วัน-เย็น // ถ้ามี 20 มก.ต่อหนึ่งเม็ด ต้องทาน 9 เม็ดต่อวัน เท่ากับ 3 เม็ด เช้า-กลางวัน-เย็น

ในช่วง 5 วันแรกนั้น สามารถทานได้เลย เพราะยาตัวนี้เป็นหนึ่งในไกด์ไลน์แนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ แต่ให้ทานได้ไม่เกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับในระยะยาว

  • N- Acetylcysteine (NAC)

ยาตัวนี้ช่วยลดเสมหะเหนียว มีกลูต้าไธโอน Glutathione ที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัสโควิด จึงป้องกันความรุนแรงของปอดบวมน้ำหรือปอดอักเสบได้

วิธีการทาน : โดสที่จะทานคือ 2400 มก./วัน ถ้าหนึ่งเม็ดมี 600 มก. เท่ากับว่าต้องทาน 2 เม็ด/เช้า และ 2 เม็ด/เย็น 

  • ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

เป็นยารักษาหลัก แพทย์จะให้ทานต่อเมื่อมีอาการ ถ้ายังไม่มีอาการไม่ต้องทาน แต่ถ้าเริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็เข้าแนวทางการรักษาแล้ว สามารถทานได้เลย อาการเริ่มแรก ๆ ตั้งแต่เป็นไม่มาก เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากในอนาคต

สำหรับการรับยานี้ จะต้องทำตั้งแต่ตอนที่ลงทะเบียนหรือสแกนกับ สปสช. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเรื่องสำคัญต่อการจัดยา โดยต้องระบุชื่อ อายุ นามสกุล น้ำหนัก ให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะมีผลต่อโดสยาที่แพทย์จะจ่ายให้

ถ้าผู้ป่วยมีอาการแล้ว คุณหมอก็จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์มาให้ที่บ้าน รวมถึงประเมินอาการต่าง ๆ ว่าควรได้รับออกซิเจน หรือยาอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ หรือยาลดน้ำมูก ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน

วิธีการทาน : ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม โดสที่ต้องทานในวันแรกจะเป็น 1800 มก./เช้า และ 1800 มก./เย็น เม็ดหนึ่งมี 200 มก. ก็เท่ากับ 9 เม็ด/เช้า 9 เม็ด/เย็น

ถ้าอาการไม่มาก แพทย์จะให้ทาน 5 วัน วันที่ 2,3,4,5 โดสจะน้อยลงเป็น 800 มก./เช้า 800 มก./เย็น ก็เท่ากับ 4 เม็ด/เช้า 4 เม็ด/เย็น ต่อเนื่องกันจนครบ 5 วัน

ถ้าน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ต้องทาน 2400 มก./เช้า 2400 มก./เย็น เท่ากับว่า 12 เม็ด/เช้า 12 เม็ด/เย็น ส่วนวันที่ 2-5 โดสจะน้อยลงเป็น 1000 มก. ก็เท่ากับ 5 เม็ด/เช้า 5 เม็ด/เย็น

หมายเหตุ : ช่วงที่ทาน ฟาวิพิราเวียร์ ไม่แนะนำให้ทาน ฟ้าทะลายโจรไปพร้อมกัน เพราะว่าอาจเกิดผล (Effect) ต่อกันได้