“โอมิครอน”ไม่น่ากลัว แต่น่ากลัวเมื่อเชื้อลงปอด

“โอมิครอน”ไม่น่ากลัว แต่น่ากลัวเมื่อเชื้อลงปอด

แม้หลายคนจะมองว่า โควิดสายพันธุ์"โอมิครอน" ไม่ค่อยน่ากลัว แต่ไม่ใช่กับทุกคน เมื่อใดที่เชื้อลงปอด คนที่มีโรคประจำตัวและคนไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีปัญหามากกว่าคนกลุ่มอื่น 

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด ณ วันที่ 11-15 เมษายน 2565 แต่ละวันมีจำนวนมากกว่า 100 คนอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเลขเสียชีวิตสูงที่สุดในรอบเกือบ 4 เดือน โดยผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจมีปริมาณมากขึ้น

โอมิครอน เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้ เคยถูกมองว่าไม่น่ากลัว เพราะไม่ส่งผลแทรกซ้อนรุนแรงถึงชีวิต

แต่เมื่อตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มเปลี่ยนจากศูนย์ ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลการศึกษาวิจัยที่ถูกเปิดเผยกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคำถามว่า“โอมิครอน”น่ากลัวน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จริงเหรอ 

โอมิครอน เพิ่มจำนวนเร็วกว่าเดลต้า

Dr. Michael Chan Chi-wai และทีมนักวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้ทำการทดลอง เพื่อเปรียบเทียบความเร็วในการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด ระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนกับเดลต้าที่ติดอันดับท็อปเรื่องความรุนแรง

พบว่า โอมิครอนสามารถเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่าเดลต้ามากถึง 70 เท่า เมื่อเชื้อไวรัสจับกับกลุ่มเซลล์หลอดลม ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้โอมิครอนแพร่กระจายจากผู้ติดเชื้อสู่บุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น

แต่เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ปอดและยึดเกาะกับเนื้อเยื่อปอด การเพิ่มจำนวนไวรัสของโอมิครอนกลับช้าลง...และช้ากว่าเดลต้าถึง 10 เท่า

 

เชื้อเติบโตช้า แต่ไม่ได้แปลว่า “โอมิครอน” ไม่อันตราย เมื่อพบไวรัสกลายพันธุ์ ต่างกังวลและโฟกัสถึงพลังการทำลายเซลล์ปอดของเชื้อสายพันธุ์นั้นๆ จนลืมไปว่าระดับความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเพิ่มจำนวนไวรัสเพียงอย่างเดียว

หนึ่งในกลไกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน คือ การสร้างสารไซโตไคน์เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค หากระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นให้หลั่งสารไซโตไคน์มากเกินไป จนเกิดภาวะที่เรียกว่า Cytokine Storm หรือ“พายุไซโตไคน์”

กระบวนการต่อสู้เชื้อไวรัสนี้อาจย้อนกลับมาทำลายเซลล์ภายในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการอักเสบ สร้างความเสียหายต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ และอาจรุนแรงจนเกิดภาวะล้มเหลวเฉียบพลันได้

วัคซีนเข็มกระตุ้น ป้องกันโควิดได้แค่ไหน

อีกหนึ่งข้อสงสัยที่หลายคนยังคงหาคำตอบ... 

Dr. Anthony Fauci หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว ได้อ้างอิงข้อมูลจากฝั่งแอฟริกาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ“วัคซีนไฟเซอร์” ว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดส จะสามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้ 33% เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ที่มีผลการทดลองระบุว่าไฟเซอร์สามารถป้องกันได้ 80% 

ส่วนประสิทธิภาพในการลดความรุนแรง ลดอัตราการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล จะอยู่ที่ประมาณ 70%ในขณะที่ทางไฟเซอร์เองก็ได้ออกมาบอกว่า การฉีดวัคซีน 2 โดส ประสิทธิภาพอาจไม่เพียงพอต่อการต้านโอมิครอน แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันมากขึ้นถึง 25 เท่า

ภาวะปอดอักเสบจากโควิด

อาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อทั่วไป กับเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีอาการไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มักมีไข้ ต่อมาก็จะเริ่มมีอาการไอ และมีเสมหะ บางคนอาจจะมีการเจ็บหน้าอก เวลาหายใจลึกๆ

สุดท้ายถ้าเกิดการทำลายเนื้อปอด ส่วนที่แลกเปลี่ยนก๊าซเยอะๆ ก็จะทำให้มีอาการหอบเหนื่อย ทำกิจวัตรประจำวันที่แต่เดิมไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่ว่าจะเดิน หรือพูด จะรู้สึกเหนื่อยขึ้น

ระยะปอดอักเสบ

-ปอดอักเสบระยะแรก : ช่วง 1-5 วัน อาการยังไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการไอ

-ปอดอักเสบระยะที่สอง : ช่วง 10-15 วัน หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก

โดยแพทย์จะต้องเฝ้าระวังอาการในช่วง 10 วันแรกอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสลงปอด จนทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงในระยะที่สอง

เมื่อปอดถูกทำลาย

การอักเสบในเนื้อปอดส่งผลโดยตรงต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการปกติแม้จะเกิดการอักเสบในปอด เรียกว่า “Silent Hypoxemia” 

ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก อาจรุนแรงถึงขั้นหายใจล้มเหลวจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเมื่อร่างกายรับเชื้อโควิด-19 เข้าไป ความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ทำให้มีโอกาสในการเกิดปอดอักเสบไม่เท่ากัน และเมื่อมีอาการปอดอัดเสบแล้ว ความรุนแรงของโรคของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

กลุ่มที่ได้รับเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่ปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากแต่เดิมปอดทำงานไม่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ได้แก่

-มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรัง อาทิถุงลมโป่งพอง, หอบหืด, หรือมะเร็งปอด เป็นต้น

-ภาวะโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน ระดับดัชนีมวลกาย (Body mass index) หรือ BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป

-มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคตับ, ความดันโลหิตสูง, ไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น

................

อ้างอิง

-รพ.พญาไท

-รพ.วิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม