“ยารักษาโควิด” ถ้าติดแล้ว “รักษาตัวที่บ้าน” ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

“ยารักษาโควิด” ถ้าติดแล้ว “รักษาตัวที่บ้าน” ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

ใครที่ "ติดโควิด" แล้วทำ "home isolation" หรือรักษาตัวที่บ้านตามมาตรการ "เจอ แจก จบ" ต้องเตรียมยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการโควิด-19 ใช้ยาอะไรบ้าง เปิดเช็กลิสต์ได้เลย

ใครยังรอดโควิดซีซันนี้บ้าง? ช่วงนี้รอบตัวหลายๆ คน ต่างติดโควิดกันระนาวในการระบาดระลอกล่าสุดช่วงมีนาคม-เมษายน 2565 โดยเฉพาะคนในวงการบันเทิงที่ออกมาประกาศติดเชื้อโควิด-19 ไม่เว้นแต่ละวัน โดยยอดรวมประเทศไทยมีผู้ติดโควิดแล้ว 4,063,844 คน ซึ่งทางภาครัฐมีการใช้มาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่ "โรคประจำถิ่น"

โดยปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient with Self Isolation : OPSI) หรือ "เจอ แจก จบ" ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดเชื้อ

  • ยา  “เจอ แจก จบ” สำหรับทำ Home Isolation รักษาโควิดที่บ้าน

 "เจอ แจก จบ" เป็นมาตรการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวก จะให้การรักษารูปแบบ "ผู้ป่วยนอก" คือ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ให้ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ซึ่งจะมีการให้ความรู้ในการดูแลแยกกักตัวเอง และแจกเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับกรณีมีอาการมากขึ้น หรือมีข้อสงสัยที่ต้องการสอบถามกระบวนการเหล่านี้ ถือว่าได้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพเรียบร้อย โดยจะได้รับการดูแลติดตามประเมินอาการภายใน 48 ชั่วโมง

โดยแพทย์จะจ่ายยา 3 สูตร ได้แก่
1. ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ 
2. ยาฟ้าทะลายโจร
3. ยาฟาวิพิราเวียร์

ทั้งนี้ การให้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ที่พิจารณาว่าจะให้ยาแบบใด ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ สำหรับกรณีผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ก็สามารถใช้ระบบการดูแลตรงนี้ได้ แต่อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก

  • ยาสามัญรักษาโควิดที่ควรมีติดบ้าน

นอกเหนือจากยา 3 สูตรของมาตรการ  "เจอ แจก จบ" ยังมี "ยาสามัญประจำบ้าน" ที่ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการโควิด-19 ที่ควรมีติดบ้านไว้ ได้แก่ 

ยาโรคประจำตัว

หากใครเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ในช่วงที่ติดโควิดและอยู่ระหว่างการทำ Home Isolation ก็ควรวางแผนสำรองยาให้สามารถรับประทานได้ระยะยาว 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลบ่อยๆ 

ยาแก้ไอแบบเม็ด

ยาแก้ไอแบบเม็ด (Dextromethorphan) ใช้ในการบรรเทาอาการไอเยอะ หากไอมีเสมหะ ร่างกายควรที่จะต้องขับเสมหะออกตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ไม่สามารถใช้ในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบได้ เพื่อความชัวร์ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาแก้ไอ หรือใช้ยาตามแพทย์สั่ง

ยาลดน้ำมูก

ยาลดน้ำมูก (Chlorpheniramine: CPM) เป็นยาลดเสมหะ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นในผู้ที่มีอาการเยอะ แต่อาจทำให้คอแห้ง ปากแห้ง มีอาการง่วงซึมได้ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ (Fexofenadine) สามารถช่วยลดอาการน้ำมูกไหล รับประทานเท่าที่จำเป็นภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ผงเกลือแร่

ผงเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts: ORS) ช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ป้องกันอาการท้องเสีย ควรจิบเรื่อยๆ ทั้งวัน 

  • อุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านไว้เมื่อติดโควิด

ปรอทวัดไข้ 

ปรอทวัดไข้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดไข้เมื่อคิดว่าตนเองมีอาการเสี่ยงโควิดหรือในช่วงที่เป็นโควิด-19 ตามระยะเวลาเช้า และเย็น 

เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด

เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดส่วนมากเป็นเครื่องวัดแบบหนีบที่ปลายนิ้ว ซึ่งสามารถแสดงผลค่าออกซิเจนเบื้องต้นได้ เหมาะสำหรับการใช้ในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว แต่ยังต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือผู้ที่รอเตียงอยู่ เพื่อเช็คอาการของตนเองว่าแย่ลงหรือไม่ หากมีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95 ต้องพบแพทย์โดยด่วน

แผ่นเจลลดไข้

แผ่นเจลลดไข้ ใช้สำหรับช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงได้เร็วขึ้น ใช้เมื่อมีไข้สูง ควรมีติดไว้ทุกบ้าน 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์