‘โควิด-19’ โจทย์ยากใน 'พื้นที่ชายแดนใต้'

‘โควิด-19’ โจทย์ยากใน 'พื้นที่ชายแดนใต้'

ถอดประสบการณ์การรับมือ "โควิด-19" ใน "พื้นที่ชายแดนใต้" เตรียมความพร้อมหากมีการระบาดระลอกสอง  

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ผ่านพ้นมากว่าครึ่งปีแล้ว หลายพื้นที่เริ่มผ่อนคลายให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายใต้การควบคุมดูแลส่วนบุคคล ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปรากฎอยู่บ้าง แต่ก็สามารถจัดการได้ดี สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จึงลงพื้นที่ไปสำรวจความพร้อมของโรงพยาบาลว่าถ้ามีการแพร่ระบาดระลอกสองจะทำอย่างไร

 

มาตรฐาน HA และ DHSA

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพและให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ตามมาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation) โดยมีรูปแบบการประเมินรับรองที่หลากหลาย อาทิ การรับรองขั้นก้าวหน้า, การรับรองเฉพาะโรค, การรับรองเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ล่าสุด ได้ไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลเทพา จ.สงขลา ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA และ DHSA เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.62 และโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA (Re-acc) เป็นครั้งที่ 3 วันที่ 16 ต.ค.61

สำหรับ โรงพยาบาลเทพา ได้มีการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และมีความพร้อมในเรื่องของ local Quarantine

159577074973

นพ.เดชา แซ่หลี

“ช่วงกุมภามีนาที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เรามีความกังวลมาก มีการประชุม EOC (Emergency Operation center) ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ฉุกเฉินเกี่ยวกับโควิด ตั้งแต่ระดับจังหวัด ลงมาระดับอำเภอ มีการสื่อสารที่ชัดเจนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ เช่น การปฏิบัติงาน การสวม PPE การทำหัตถการเสี่ยง Swab การดูแลใน ER, OPD Clinic, PUI, ARI และมีการปรับเป็นระยะๆ อีกทั้งยังหาวิธีการสื่อสารหลายๆ วิธีเพื่อให้ประชาชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น 

มีการทำคลิปวิดีโอ Narrative Medicine บอกวิธีการดูแลใน Home Quarantine และ Local Quarantine เราได้สอบถามจำนวนคนทั้งหมดที่ผ่านด่าน จ.สตูล จ.สงขลา จ.นราธิวาสว่ามีเท่าไร แล้วหา local Quarantine ที่รองรับคนลักษณะหมุนเวียนจำนวนร้อยกว่าคนนั้นได้ที่ ดิอามาน รีสอร์ต เป็นสถานที่สวยงาม ติดทะเล วันนี้มีผู้กักตัวอยู่ 6 ห้อง จำนวน 8 คน” นพ.เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา กล่าวถึงการจัดการที่ผ่านมา ซึ่งก่อนที่จะเปิดเป็น local Quarantine ได้นั้นจะต้องมีสาธารณสุขอำเภอมาประเมินความพร้อมให้ได้มาตรฐานกรมอนามัยและการควบคุมโรคเสียก่อน

1595770809100

Local Quarantine ที่ อ.เทพา จ.สงขลา

“ที่ดิอามาน รีสอร์ต มีเจ้าของเป็นคุณหมอมีความเข้าใจจึงอนุญาต เมื่อเรารับผู้เดินทางจากมาเลเซียมาที่นี่แล้วก็คัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย ต้องไม่เกิน 37.5 ซักประวัติ มอบอุปกรณ์ป้องกันดูแลตัวเอง ส่งเข้าห้อง ถ้าใครเกิน 37.5 วัดซ้ำแล้วยังเกินก็ให้โรงพยาบาลมารับไป ถ้าตรวจพบเชื้อก็แอดมิทที่โรงพยาบาล ถ้าไม่มีเชื้อก็กลับมาที่นี่ ทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ซักถามประเมินความเครียด อาการการเจ็บป่วยต่างๆ ถ้าใครมีอาการเข้าข่าย PUI ก็ให้รถโรงพยาบาลมารับไป 

ช่วงเมษายนหลังเปิดด่านรอบสอง ที่นี่มี 56 คน มาจากด่านโกลก จ.นราธิวาส, ด่านเบตง จ.ยะลา, ด่านตามะรัง จ.สตูล, ด่านปาดังเบซาร์ ด่านสะเดา จ.สงขลา ดำเนินการมาถึงมิถุนายน เคสเริ่มน้อยลง มีมาตรการผ่อนปรนระยะ 5 ออกมาวันที่ 1 ก.ค. รีสอร์ตแห่งนี้จึงเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไป” วีรศักดิ์ เบญอะหลี สาธารณสุข อ.เทพา กล่าวถึงการทำงาน ซึ่งมีพนักงานรีสอร์ตให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

“วันแรกที่เขามา เราก็กลัว พอคุณแม่รู้ก็บอกให้กลับบ้าน แต่คุณหมอบอกว่าตรวจร่างกายทุกคนแล้ว แม่ก็สบายใจ คนที่มากักตัวเขามีความเครียด เราก็จะพูดคุยกับเขา บอกเขาให้ใจเย็นนะ บางคนไม่เข้าใจ เดินลงทะเล เราก็ต้องให้เขาไปอยู่ในห้อง พอครบ 14 วันส่งคนไข้กลับบ้าน รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ได้ดูแลเขา ได้มิตรภาพด้วย กลับถึงบ้านโทรหากัน บังสบายดีไหม” อับดุลเราะมาน ซาเมาะ ผู้จัดการรีสอร์ตดิอามาน พูดถึงงานที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้

คำว่า State Quarantine คือระดับจังหวัด ส่วน local Quarantine คือระดับอำเภอ, ตำบล ความสำเร็จของการกักตัวขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทีมโรงพยาบาล ทีมสาธารณสุข และผู้คนในชุมชนเป็นสำคัญ กระบวนการเหล่านี้จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี 

ส่วนที่ โรงพยาบาลจะนะ มีเคสของผู้ติดเชื้อโควิดเข้ามาในตอนที่ยังไม่ทันได้เตรียมการ จึงต้องใช้หลักการการบริหารความเสี่ยง Risk Management ตามมาตรฐาน HA มาช่วยด้วย

159577101426

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 

“ในช่วงการแพร่ระบาด โรงพยาบาลจะนะรับคนไข้โควิดแบบไม่ทันตั้งตัว เป็นล็อตแรกที่ไปร่วมพิธีศาสนาที่มาเลเซียแล้วกลับมา 12 คน เราได้ตรวจคัดกรอง Swab พบเชื้อ 6 คน ก็แยกตัวออกมา คนหนึ่งมีอาการหนักมากให้ไปนอนในห้องความดันลบ Negative Pressure ที่มีอยู่ 1 ห้องบนชั้น 4 วอร์ดผู้ป่วยในชาย ส่วนอีก 5 นอนห้องพิเศษสามัญ ที่ผ่านมามีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 60 คน มี local Quarantine 290 คน ที่จะนะไม่มีรีสอร์ตอย่างเทพา ให้ไปอยู่ที่โรงเรียนคอกม้า มีมุ้งเต็นท์ให้ มีอุปกรณ์ครบชุด มีลานออกมานั่งเล่นได้ 

ตอนนี้มีผู้กักตัวอยู่ 26 คน บุคลากรถูกตรวจไป 3 คน ไม่พบเชื้อ แต่มีข่าวลือเยอะมากว่า ป่วยเต็มโรงพยาบาลแล้ว มีคนไข้ตายแล้ว หมอติดเชื้อแล้ว เราต้องใช้ไลน์ช่วยในการสื่อสารบอกความจริงให้ทุกคนรู้ เราเป็นโรงพยาบาลเดียวที่รักษาโควิดหาย เป็นภาพพจน์ที่ดี ชุมชนที่ได้ข่าวก็ยอมรับ ความกลัวในชุมชนก็ลดลง ครบ 14 วัน มีการทำพิธีกรรมเล็กน้อย มีความหมายกับตัวเขาเองแล้วก็ชุมชนด้วย เป็นการการันตีว่า 6 คนนี้หายแล้ว อย่าไปบูลลี่เขา มีประกาศนียบัตรพร้อมลายเซ็นนายอำเภอให้คนละใบ ก่อนปล่อยกลับบ้านไป

159577108596

หอผู้ป่วย Covid-19 ที่รพ.จะนะ  ได้จัดเตรียมไว้

ตอนนี้เรามี Cohort Ward เปิดบริการแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ป่วยจริงเลยสักคนเดียว มีแต่สังเกตอาการ สถานการณ์ตอนนี้สงบลงมาก ถ้ามีเคสมาเราจะให้เข้าด้านหลังโรงพยาบาล มีจุด Swab เตรียมไว้ มีตู้ Negative Pressure ช่วงโควิดรุนแรง คนไข้ 100,000 คน ป่วยเป็นความดัน 5,000-6,000 คน แต่ไม่ยอมมาโรงพยาบาลกลัวติดโควิด ต้องให้อสม.ไปวัดความดันให้ บางรายสวิงมากก็ให้มาโรงพยาบาล โควิดทำให้เกิดนิวนอร์มอล มีระบบส่งยาให้ผู้ป่วย ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล แพทย์แต่ละคนทำงานทุกจุดมีความเสี่ยง จึงต้องจัดแพทย์เป็น 2 ทีม ทีม A ทีม B สลับกันคนละอาทิตย์ เผื่อไว้ ถ้าติดเชื้อก็เหลืออีกครึ่งหนึ่งไม่ติด” นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ พูดถึงการจัดการที่ผ่านมา

159577203022

จีรานา หีมสุวรรณ รองประธาน อสม. ต.บ้านนา และ รุ่งรัตน์ มหาไชย พยาบาลวิชาชีพ  (ขวามือ)

‘มดงาน’ พลังสำคัญรับมือโควิด

นอกจากทีมโรงพยาบาล ทีมสาธารณสุขแล้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม).ก็มีความสำคัญไม่น้อย ที่ อ.เทพา มีคนกักตัวใน local Quarantine 2,000 กว่าราย อสม.ต้องเยี่ยมเยียนดูแลทุกวัน บางส่วนก็ไปทำหน้าที่ตามด่านต่างๆ ร่วมกับสาธารณสุข และที่ด่านป๊อปอัพของทุกหมู่บ้าน อสม.ที่ อ.เทพามีจำนวน 1,217 คน ทุกคนทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ

“ครั้งแรกที่มีโควิดมา เราจะไปเคาะประตูบ้านทุกบ้าน ทุกคนมีพื้นที่รับผิดชอบ 15-20 หลัง ของพี่ 22 หลัง ไปดูว่าที่บ้านนั้นมีคนอยู่เท่าไร อยู่ต่างประเทศไหม อยู่ต่างจังหวัดไหม จะกลับมาเมื่อไร มีหน้ากากอนามัยหรือเปล่า ต้องให้ความรู้ให้ใช้หน้ากากและล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชนที่คนแออัด ให้ติดตามข่าวสาร ถ้าข้างบ้านมีคนมาจากที่อื่นให้บอกได้เลย 24 ชั่วโมง เป็นการขอความร่วมมือกันมากกว่า ถ้ามีการกักตัวที่บ้าน อสม.จะไปวัดไข้ให้ทุกวัน แต่ถ้าเขามีความรู้เขาก็จะวัดเองแล้วบอกเรา 

บางรายกลับมาจากมาเลย์เป็นหวัดเจ็บคอ ถ้าเป็นเคสที่น่าสงสัยเราก็ส่งรถไปรับ เราเดินทุกวัน เพราะกลัวว่าจะหลุด จุดที่ยากที่สุด มีบางบ้านไม่ยอมใส่แมส ไม่ยอมกักตัว บอกว่าเขาไม่ป่วย เราก็บอกว่าถ้าเธอไม่เชื่อพี่ พี่ต้องให้ปลัดมากักตัวเธอนะ เขาก็ยอม การระบาดระลอกสอง ไม่อยากให้เกิด อสม.ทำงานด้วยจิตอาสาอยู่แล้ว เราไม่อยากให้คนเป็นโรค อยากให้สุขภาพดี ทำมา 20 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีค่าตอบแทน ตอนนี้อสม.เต็มร้อยทุกคน” จีรานา หีมสุวรรณ รองประธาน อสม. ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงการทำงานของอสม.

ในส่วนของพยาบาลที่ดูแลผู้กักตัว local Quarantine นอกจากจะดูแลทางกายแล้วยังต้องดูแลจิตใจเขาด้วย รุ่งรัตน์ มหาไทย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้า PCU โรงพยาบาลจะนะ เล่าจากประสบการณ์ว่า

“วันนั้นเข้ามาทางธรรมชาติ 29 คน 7 ครอบครัว มามอเตอร์ไซค์ 11 คัน ถ้ามาทางถูกกฎหมายต้องเสียค่าปรับคนละ 800 บาท เขาไม่มีเงิน เอาเงินน้อยนิดลงขันจ้างคนนำทางพากลับประเทศ ขึ้นเขาลงห้วย แทนที่จะมาถึงบ่ายสองกลับหลงทางติดอยู่บนเขาแล้วฝนตกหนัก มีเด็กอายุตั้งแต่ 6-14 ปี อดอาหาร 3-4 วัน กินกล้วยกินผลไม้ที่หาได้ในป่า พอมาถึงสะบ้าย้อยก็ติดต่อมาทางญาติ เราก็ส่งรถไปรับ สุดท้ายก็ต้องจ่ายคนละ 800 มีสส.ใจดีไปจ่ายให้ มาอยู่ในศูนย์แล้วเขาก็เอาคลิปตอนอยู่บนเขามาดูแล้วร้องไห้ ลูกอายุ 6 ขวบถามแม่ตอนติดบนเขาว่าเราจะตายไหม ก็ไปวัดอุณหภูมิ คุยกับเขาทั้ง 14 วันให้กำลังใจตลอด กลางคืนปวดท้องเที่ยงคืนก็โทรมา พี่แมวก็ขี่รถมา 8 กิโล แล้วก็กลับเช้า ตีหนึ่งปวดท้องฉี่ไม่ออกก็มาดู ตอนนี้โรงเรียนจะเปิดแล้วเราต้องย้ายที่อีก”

159577130038

เฝ้าระวังการระบาดรอบสอง

ขณะที่คลื่นลมสงบ เราไม่สามารถวางใจได้ การเตรียมตัว เตรียมพร้อมตลอดเวลาเป็นสิ่งจำเป็น จึงต้องให้ความรู้ทบทวนกันอีกสักครั้ง

“โควิดเป็นไวรัส การแพร่เชื้อมี 3 วิธี 1. Droplet ฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน เวลาเราไอจาม เชื้อไวรัสจะแพร่ผ่านดร็อปเล็ท รัศมีการตกประมาณ 1 เมตร จึงต้องมีระยะห่าง Social Distancing ค่าต่ำสุด 1 เมตร ถ้าให้เซฟตี้ 1.5-2 เมตร, 2. Contact การแพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงจากคนสู่คน หรือสัมผัสโดยอ้อม จากคนที่เป็นแหล่งเชื้อโรคปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เป็นดร็อปเล็ทไอจามที่ตกอยู่และยังมีชีวิตอยู่สามารถติดเชื้อได้ ถ้าเราเอามือไปสัมผัส แล้วมาขยี้ตาแตะจมูกเชื้อก็เข้าสู่ร่างกาย 3. Airborne ละอองฝอย ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ล่องลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน ในโรงพยาบาลอาจไปถึง 10 เมตรได้

159577136192

นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี

ถ้าจำเป็นจะต้องเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง เช่น ในโรงพยาบาลจะต้องมีการป้องกันที่มากขึ้น ให้ใช้หน้ากากอนามัย (Surgical Mask) แทนหน้ากากผ้า แต่ปกติทั่วไปหน้ากากผ้าก็เพียงพอ โดยความเสี่ยงจะทำให้เราติดได้มีปัจจัยอยู่ 3 ตัว 1. ที่ๆ เราเข้าไป มีผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน 2. เราอยู่ใกล้คนเหล่านั้นแค่ไหน 3. เราอยู่ในพื้นที่นั้นนานแค่ไหน 3 ตัวนี้จะเป็นตัวกำหนดอุปกรณ์และวิธีการป้องกัน

การใส่หน้ากากอนามัย ก็เพื่อป้องกันสิ่งที่ออกจากปากเราไปสู่ภายนอกและป้องกันอากาศจากภายนอกที่ปนเปื้อนหลุดเข้ามาข้างใน สังเกตง่ายๆ ด้านเป็นสีจะมีความมัน ให้ละอองฝอยไม่เกาะติด ลื่นไหลลง ถ้าเกาะติดได้มันจะซึมได้ ความเสี่ยงที่เชื้อจะเข้ามาก็มีสูง พลิกดูด้านในจะไม่มีความมัน เวลาเราไอจามมันจะติดอยู่ เขาออกแบบให้เป็นซอก มันจะไม่ย้อยลงพื้นแต่ลงไปในที่ให้ขัง ด้านบนมีขดลวด เราต้องใส่หน้ากากให้ฟิตมากที่สุด ถ้า N95 จะมีฟิตเทสด้วย ถ้าฟิตจริงๆ มันจะโป่งยุบๆ ตามที่เราหายใจ แต่ไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ เพราะธรรมชาติหน้ากากก็ฟิตได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เมื่อปรับตรงจมูกแล้วก็ปรับตรงคางให้มันฟิตเท่าที่จะฟิตได้ 

ส่วน Face Shield ป้องกันได้แค่ละอองขนาดใหญ่ ถ้าเป็นฝอยฟุ้งกระจายอยู่มันลอดรูเข้ามาได้ สรุปว่าเวลาจะเข้าโรงพยาบาล 1.ใส่หน้ากากให้ฟิต 2.มือ ให้สัมผัสอะไรเท่าที่จำเป็น ถ้าคิดว่าสัมผัสแล้ว มีความกังวลก็ใช้แอลกอฮอล์เจล หรือล้างมือด้วยสบู่ก็ได้ ที่ควรระวังเวลาเข้าพื้นที่เสี่ยง อย่าเอามือไปจับ T-Zone บริเวณหน้า เพราะเชื้อจะเข้าตัวได้ ถ้าอยู่ที่มือมันยังไม่เข้า นี่คือความรู้พื้นฐาน” นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) กล่าวทิ้งท้าย