'ยิ่งใช้ยิ่งได้' รับ e-Voucher 7,000 บาท ลงทะเบียน 21 มิ.ย.นี้

'ยิ่งใช้ยิ่งได้' รับ e-Voucher 7,000 บาท ลงทะเบียน 21 มิ.ย.นี้

ครม.เคาะอนุมัติ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" แล้ว! โดยโครงการนี้เป็น 1 ใน 4 มาตรการเยียวยา เพื่อรับมือโควิดรอบใหม่ ที่จะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ล่าสุด..คลังเผยวันลงทะเบียน 21 มิ.ย.นี้

วันนี้ (1 มิ.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม. เคาะมติเห็นชอบแพ็คเกจมาตรการ "เยียวยาโควิด" จำนวน 4 โครงการ คือ "คนละครึ่งเฟส 3", "ยิ่งใช้ยิ่งได้", "เติมเงินบัตรคนจน" และ "เติมเงินเราชนะ กลุ่มช่วยเหลือพิเศษ"

สำหรับโครงการน้องใหม่ป้ายแดง "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ที่มีประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเช็ครายละเอียดโครงการนี้อีกครั้ง โดยล่าสุด.. มีข้อมูลอัพเดทเพิ่มเติมจากการแถลงข่าวกระทรวงการคลัง เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา ระบุว่าโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" จะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 21 มิ.ย. 2564 เวลา 06.00 - 22.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ตั้งงบ 2.8 หมื่นล้านบาท

โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยจะมีผู้ร่วมโครงการ 4 ล้านคน (จากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ 6 ล้านคน) จะใช้เงินในโครงการนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากโครงการนี้ 2.4 แสนล้านบาท

  • สนับสนุน e-Voucher สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท

ลักษณะของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ คือ ภาครัฐสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากภาครัฐช่วง ก.ค.-ก.ย.2564 เพื่อใช้จ่ายเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งจะมีการใช้จ่ายคนละ 60,000 บาท

  • ย้อนดูที่มาโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" 

"ยิ่งใช้ยิ่งได้" เป็นโครงการใหม่ป้ายแดงจากรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกล่าสุด เพื่อช่วยประคองกำลังซื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 - 4 ของปีนี้ ผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่าย

โดยรัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Voucher ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ นำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าค่าอาหารเครื่องดื่ม และค่าบริการต่างๆ กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะให้ในมูลค่า 5,000-7,000 บาทต่อคนต่อวัน และเป็นโครงการที่ต้องลงทะเบียนใหม่

  • วิธีใช้จ่ายในโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้"

สำหรับวิธีการใช้สิทธิโครงการดังกล่าว ผู้มีสิทธิจะต้องชำระเงินผ่าน G-Wallet บนแอพฯ “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการร้านค้าเอง ก็จะต้องติดตั้งแอพฯ “ถุงเงิน” เพื่อร่วมโครงการนี้ด้วย

ทั้งนี้ นางสาวกุลยา ตันตเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เคยให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ว่า ผู้ที่ต้องการได้ e-Voucher ของโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" เต็มจำนวน 7,000 บาทนั้น จะต้องมีการใช้จ่ายสูงสุดประมาณ 60,000 บาท โดยจะต้องใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการก่อน หลังจากนั้นรัฐมจึงจะคืนเงินให้ 10-15% ของค่าใช้จ่ายนั้นๆ 

  • ใครมีสิทธิในโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" บ้าง?

เงื่อนไขหลักของโครงการ คือ ถ้าเลือกใช้ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ไปแล้ว จะใช้สิทธิ "คนละครึ่งเฟส 3" ซ้ำซ้อนไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่เลือกจะใช้สิทธิในโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะต้องเช็คคุณสมบัติของตน พร้อมทำตามเงื่อนไขของโครงการ ได้แก่ 

  • ลงทะเบียนผ่าน www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com เปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 21 มิถุนาย 2564 
  • มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัตรประชาชน
  • ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
  • ไม่เป็นผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ (ผู้พิการ,ผู้สูงอายุ)
  • ไม่เป็นผู้ใช้สิทธิในโครงการ "คนละครึ่งเฟส 3"
  • ต้องจับจ่ายในร้านค้าที่จดทะเบียน VAT
  • ผู้ที่เคยได้สิทธิเราชนะ/ม.33เรารักกัน สามารถเลือกใช้ยิ่งใช้ยิ่งได้/คนละครึ่งเฟส3 ได้

  • โครงการอื่นๆ ที่ ครม. อนุมัติครบเป็นแพ็คเกจ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ ครม.เคาะอนุมัติแล้วเช่นกัน ได้แก่ 

- มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 หรือ คนละครึ่งเฟส 3 : วงเงิน 93,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย  31 ล้านคน ให้สิทธิใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาท วงเงิน 3,000 บาทต่อคน โดยโครงการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนถึงผู้ประกอบการขนาดกลาง จะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น

- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ 3 : โดยช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 1.64 หมื่นล้านบาท 

- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ : รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบ 3,000 ล้านบาท