Chanel ทำยอดขาย เกือบ 2 ล้านล้านวอน สูงสุดในตลาดแบรนด์หรูเกาหลีใต้

Chanel ทำยอดขาย เกือบ 2 ล้านล้านวอน สูงสุดในตลาดแบรนด์หรูเกาหลีใต้

“Chanel” กลายเป็นแบรนด์หรูที่ทำยอดขายได้มากที่สุดในเกาหลีใต้ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำเงินได้ถึง 1.7 ล้านล้านวอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้กุลยุทธ์ในโซเชียลมีเดียที่น่าดึงดูด

ตลาดแบรนด์หรูในเกาหลีใต้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบรนด์ที่สามารถทำยอดขายได้มากที่สุดมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 ก็คือ “Chanel” ด้วยยอดขาย 1.7 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 4,613,666,922,300 บาท โดยการก้าวขึ้นมาสู่อันดับ 1 ในครั้งนี้ ทำให้แบรนด์หรูเจ้าตลาดอย่าง Louis Vuitton ตกอันดับลงไป

แต่แม้ว่าแบรนด์หรูอื่นๆ จะมียอดขายสู้ Chanel ไม่ได้ แต่ยอดจากแบรนด์หรูรวม 4 แบรนด์ในเกาหลีใต้ ทั้ง Louis Vuitton, Chanel, Christian Dior และ Hermes สูงถึง 5.2 ล้านล้านวอน (ประมาณ 14,112,392,938,800 บาท) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าตลาดแบรนด์หรูในเกาหลีใต้กำลังไปได้สวยสวนทางกับจีนที่เป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งของเหล่าแบรนด์หรูทั้งหลาย

อ่านข่าว : 'จีน'ตลาดใหญ่แบรนด์เนมกำลังแผ่ว! ยอดขาย Gucci ร่วง สะเทือนแบรนด์หรูทั่วโลก

ไม่ใช่แค่ Chanel ที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น แต่แบรนด์อื่นๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “Christian Dior” ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมียอดขายทะลุ 1 ล้านล้านวอนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ Celine และ Rimowa ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังประกาศตัวลงเล่นในตลาดแบรนด์หรูอย่างเป็นทางการ ซึ่ง Rimowa มีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 77

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “Chanel” ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก นอกจากจะมีพรีเซนเตอร์และแอมบาสเดอร์ที่เป็นไอดอลหรือผู้มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้มาร่วมแคมเปญมากมายแล้ว “โซเชียลมีเดีย” ก็เป็นตัวช่วยสำคัญเช่นกัน

ข้อมูลจาก keyhole ระบุว่า กลยุทธ์โซเชียลมีเดียของ Chanel เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างภาพลักษณ์อันทรงพลังของแบรนด์ที่มีเรื่องราวและมีเสน่ห์ชวนมอง มารวมกับโซเชียลเพื่อช่วยสร้างสมดุล ขณะเดียวกันก็ติดตามกระแสในสังคมควบคู่กันไป สำหรับบางส่วนของกลยุทธ์ในโลกของโซเชียลของ “Chanel” ได้แก่

การเล่นเนื้อหาในรูปแบบที่หลากหลาย

ช่องทางหนึ่งที่ Chanel ใช้ก็คือการเจาะกลุ่มตลาดผ่านโฆษณาในรูปแบบวิดีโอด้วย YouTube โดยเน้นไปที่การสัมภาษณ์คนดังที่น่าสนใจ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชันอีกด้วย

ไม่ตามกระแส หรือทำตัวเป็นแฟชั่นนิสต้ามากเกินไป

สำหรับบนอินสตาแกรม Chanel จะติดตามอยู่แค่ 3 บัญชีเท่านั้น ได้แก่ เครื่องสำอางในเครือของตัวเอง chanel.beauty, บัญชีศิลปะและงานฝีมือของ Chanel ในชื่อ Le 19M และบัญชีสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งโดย Karl Lagerfeld อดีตผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของ Chanel ผู้ล่วงลับ นอกจากนั้นก็จะไม่ติดตามบัญชีอะไรอีกเลยแม้แต่คนดังที่เป็นแอมบาสเดอร์ของแบรนด์ตัวเอง

แม้ในยุคที่แบรนด์ต้องจำเป็นมีการสื่อสารกับลูกค้าอย่างรวดเร็ว แต่ Chanel กลับแตกต่างออกไป เพราะแบรนด์รักษาระยะห่างกับลูกค้าพอสมควร ทำให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ลึกลับหรูหราน่าค้นหา แต่ก็ทำให้หลายคนรู้สึกต้องการเข้าถึงแบรนด์ให้มากขึ้น

เน้นเนื้อหาน่าดึงดูด

นอกจากการนำเสนอเนื้อหาด้วยภาพและเพลงแนวสดใสที่กำลังมาแรงเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของแบรนด์ในช่วงออกคอลเลกชันใหม่แล้ว ทางแบรนด์มีการเก็บข้อมูลจากลูกค้าตามแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่นการคอมเมนต์ และการพูดคุยบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับตัวแบรนด์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเนื้อหาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นแต่ก็ยังไม่ทิ้งความหรูหรา

มีตราสินค้าและเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกัน

ต้องยอมรับว่าตัวสินค้าของ Chanel มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีสินค้าหลายตัวที่มองเพียงแค่ครั้งเดียวก็รู้เลยว่าแบรนด์อะไร เช่น น้ำหอม Chanel No.5 ที่เรียกได้ว่าเป็นภาพจำของแบรนด์ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกทั้งในกลุ่มผู้ชื่นชอบแบรนด์หรูและผู้ที่ชื่นชอบน้ำหอม และยังมีการต่อยอดไปเป็นสินค้าอื่นๆ อีกด้วย เช่น เครื่องสำอาง ซึ่งกลายเป็นจุดขายในโลกออนไลน์

สำหรับในปีนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าตลาดสินค้าแบรนด์หรูในเกาหลีใต้จะเป็นไปในทิศทางใดหลังจากที่ผ่านมามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

อ้างอิงข้อมูล : keyhole และ naver