ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายรัฐบาล 2 วิกฤติ 'ศก.ทรุด-ม็อบปลดแอก'

ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายรัฐบาล 2 วิกฤติ 'ศก.ทรุด-ม็อบปลดแอก'

ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล 2 วิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง พิษโควิด-ม็อบปลดแอก จ่อซักถาม-เสนอแนะครม. ส่วนการแก้ รธน.ภูมิใจไทยไม่รอร่วมญัตติรัฐบาล ชิงยื่นปธ.รัฐสภาสัปดาห์หน้า ด้านชาติไทยพัฒนาเสนอตั้ง ส.ส.ร.ผสม ‘รุ่นใหม่-รุ่นใหญ่’

ความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.​ ระบุว่าการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล เพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเรื่องวิกฤต ทางเศรษฐกิจ และวิกฤตทางการเมือง โดยไม่มีการลงมติ ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในญัตติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า เนื่องจากเป็นห่วงสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ทั้งที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทุกด้าน ทั้ง การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุน ขณะที่ความพยายามกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เป็นไปตามประมาณการ 

นอกจากนั้น ยังพบปัญหาทางการเมือง การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

“ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้น รัฐบาลกลับฉวยโอกาสใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามและจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้ความสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมากอยู่แล้วต้องตึงเครียดเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านจึงยื่นญัตติดังกล่าวเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ” เนื้อหาในญัตติของพรรคฝ่ายค้านระบุ

รัฐสภาดีเดย์ 1 ก.ย.นับหนึ่งแก้รธน.

ส่วนความคืบหน้าหลังฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มนับหนึ่งพิจารณา โดย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คาดว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะบรรจุญัตติดังกล่าวในระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา ได้วันที่ 1 ก.ย. แต่ไม่ทราบว่าจะได้พิจารณาทันทีหรือไม่ เนื่องจากในวันดังกล่าวมีร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับต้องพิจารณาก่อน ทั้งนี้ได้ตรวจสอบการลงลายมือชื่อของ ส.ส.ที่ร่วมยื่นญัตติเสร็จแล้ว

ภท.ไม่ร่วมญัตติชิงเสนอสัปดาห์หน้า

ทางด้านพรรคภูมิใจไทย(ภท.) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรค แถลงว่า ภท.เตรียมเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคต่อรัฐสภาสัปดาห์หน้า เพราะได้รับสัญญาจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 28 ส.ค. ซึ่งจะมีญัตติของพรรคเพื่อไทยที่บรรจุไว้ในวาระแล้ว หากจะรอในส่วนของกรรมาธิการศึกษาแก้ไขฯ อาจไม่ทันในสมัยประชุมนี้ และอาจทำให้สถานการณ์การชุมนุมบานปลายมากขึ้น และ ภท.พร้อมรับแนวคิดหรือการให้พรรคการเมืองอื่นๆ มามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน

นายภราดร กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข โดย ส.ส.ร.ผ่านความเห็นชอบ ภท.ไม่ขัดข้องให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ทั้งนี้สาระสำคัญร่างฯ ของ ภท.คล้ายกับพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ แก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนเรื่องการแก้ไขอำนาจหน้าที่ ส.ว.ให้เป็นหน้าที่ ส.ส.ร.ไปรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ ภท.ไม่ขอชี้นำ

ชทพ.ชงส.ส.ร.ผสม‘รุ่นใหม่-รุ่นใหญ่’

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า แนวทางการใช้ ส.ส.ร.ที่หลายฝ่ายเรียกร้อง จะเป็นแนวทางที่ช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ แต่การจะมี ส.ส.ร. ต้องมีเงื่อนไขว่า ในหมวดที่ 1 และ 2 จะต้องไม่ไปแตะต้อง สิ่งที่คนไทยเคารพนับถือ

ชทพ. เห็นว่าต้องมี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เช่นในหลายประเทศ เพื่อเอาไว้คานกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน และ ส.ส.ร.จะต้องผสมผสานตัวแทนคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหญ่อยู่ด้วยกัน และต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ชทพ.ได้มอบหมาย ให้นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นตัวแทนพรรคในการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีการประชุมวันนี้ (20ส.ค.)

ยื่นกกต.ฟัน“ก้าวไกล”ชงแก้หมวด2

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า จากกรณีที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติด่วนขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในหมวดที่ 1 หมวดทั่วไป และหมวด 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงข้อเสนอ 10 ข้อของนักศึกษาที่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยนั้น

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะร้องเรียนต่อ กกต.เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2650 ม.93 ยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม ม.92 ว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล ถ้า กกต.ตรวจสอบแล้วว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว สามารถเสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และขอให้ศาลฯสั่งให้พรรคระงับการกระทําดังกล่าวไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยาเป็นที่สุด หาก ส.ส. รายใดและพรรคใดร่วมลงชื่อยื่นญัตติแก้ไขหมวดดังกล่าว ก็จะต้องถูกตรวจสอบตามไปด้วย

เกษตรฯ-ศิลปากร ตั้งโต๊ะรวมชื่อ

ส่วนความคืบหน้าการรวบรวมรายชื่อของประชาชน  5 หมื่นคน เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ “ไอลอว์” ล่าสุด กลุ่มชาวศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ได้เชิญชวนลงชื่อร่วมแก้รัฐธรรมนูญวันที่ 20 ส.ค.ใต้อาคารเรียนรวมสอง 13:00-15:30 น. วันศุกร์ 21 ส.ค.บริเวณลานจัน 16:30-20:00 น. และวันอังคาร 25 ส.ค.ลานจัน 16:30-20:00 น.

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์สภาผู้แทนนิสิตองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้รณรงค์ร่วมลงชื่อ “ รื้อ-สร้าง-ร่าง รัฐธรรมนูญ “ ในวันที่ 20 -21 ส.ค.หน้าอาคาร 9 บริเวณหน้าห้องพยาบาล เวลา 11.00 - 17.00 น.