"เกษตร"เสนอแผนขอร่วมใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน

"เกษตร"เสนอแผนขอร่วมใช้เงินกู้  1 ล้านล้าน

"ธรรมนัส”จี้ตรวจสอบที่ส.ป.ก.ผิดกฎหมาย ก่อนของบ2.44พันล้านหนุนเมล็ดพันธุ์ปลูกสมุนไพร

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั่วประเทศ ว่า

สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เห็นถึงความสำคัญของโครงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคเกษตร จากวิกฤติ โควิด-19 จึงเสนอ 3 โครงการ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ส.ป.ก.ดังนี้คือ 1.โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตปฏิรูปที่ดิน 2. โครงการขุดบ่อบาดาลโซล่าเซลล์ในเขต ปฏิรูปที่ดิน และ 3. โครงการฝายชะลอน้ำสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน

ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินโครงการ ส.ป.ก. ต้องรีบมีการตรวจสอบการถือครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อนำที่ดินมาจัดสรร ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องส่งเสริมการตลาดนำการผลิต และการเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรให้มีอาชีพ โดยการลดภาระหนี้สินและการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

แหล่งข่าวจาก ส.ป.ก.กล่าวว่า จากการทำแผนเพื่อเสนอของบประมาณ จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ของกระทรวงการคลัง ล่าสุด ส.ป.ก.เสนอของบประมาณการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง และ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 2,446.62 ล้านบาท แบ่งเป็นงบภัยแล้ง 240.6 ล้านบาท และงบฝ่าวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 2,205.95 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดของโครงการ มีดังนี้คือ โครงการส่งเสริมการผลิตพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรในเขตปฏิรูปที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยการ ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต พันธุ์พืชพันธุ์ผัก 1,100,000 ครัวเรือนวงเงิน 2,205.95 ล้านบาท

โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยการ ก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ขุดสระน้ำ เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำทำการเกษตร และรองรับ สถานการณ์ภัยแล้งจำนวน 100 แห่ง 108.72 ล้านบาท โครงการขุดบ่อบาดาลโซล่าเซลในเขตปฎิรูปที่ดิน โดยการ ขุดบ่อบาดาล เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำทำการเกษตร และรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง 80 แห่ง 122.76 ส.ป.ก. และ โครงการฝายชะลอน้ำ สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำ ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยการ สร้างฝายโดยการให้ชุนชนมีส่วนร่วมจำนวน 200 แห่ง 9.1783 ล้านบาท