ปภ. เตือน 27 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 20 – 26 พ.ค. 67

ปภ. เตือน 27 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 20 – 26 พ.ค. 67

ปภ. แจ้ง 27 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ค. 67

วันนี้ (19 พ.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 27 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ค. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตาม สภาพอากาศ  ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (93/2567) ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 20 - 23 พฤษภาคม 2567 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2567 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 21 - 26 พฤษภาคม 2567 โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2567 แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่

  1. แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย)
  2. เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง)
  3. เชียงราย (อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สรวย)
  4. ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง)
  5. ลำปาง (อำเภอเมืองลำปาง อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองปาน อำเภอเถิน อำเภอเกาะคา อำเภอแม่พริก)
  6. พะเยา (อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอภูกามยาว)
  7. แพร่ (อำเภอวังชิ้น อำเภอร้องกวาง อำเภอลอง อำเภอเด่นชัย)
  8. น่าน (อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว)
  9. อุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด อำเภอตรอน)
  10. ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง)
  11. สุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอศรีสัชนาลัย)
  12. พิษณุโลก (อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์)
  13. เพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอหนองไผ่)  

ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่

  1. กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี อำเภอไทรโยค)
  2. ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา)
  3. ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา)
  4. ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง)
  5. จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน)
  6. ตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่)

ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่

  1. ชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ)
  2. สุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย)
  3. ระนอง (ทุกอำเภอ)
  4. พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง)
  5. ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  6. กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา อำเภอเขาพนม)
  7. ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอปะเหลียน อำเภอนาโยง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอหาดสำราญ อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ)
  8. สตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง)

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่

  1. ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์)
  2. พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอ เกาะยาว อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี)
  3. ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 27 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง

โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด 

นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

ปภ. เตือน 27 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 20 – 26 พ.ค. 67