พนักงานใช้ AI ช่วยงาน แต่ไม่กล้าบอกหัวหน้า กลัว ‘ไม่ได้รับคำชม-โดนแทนที่’

พนักงานใช้ AI ช่วยงาน แต่ไม่กล้าบอกหัวหน้า กลัว ‘ไม่ได้รับคำชม-โดนแทนที่’

เทรนด์ ‘ไอทีแอบ ๆ !’ สำรวจเผย พนักงาน 52% ใช้ AI แบบลับ ๆ ไม่กล้าบอกหัวหน้า เพราะกลัวโดนแทนที่ ขณะที่ 55% ของผู้นำองค์กรกังวลว่าจะขาดแคลนบุคลากรที่ใช้เอไอเป็น

“ไม่ใช่ว่าใช้ AI ไม่เป็น แต่ไม่กล้าบอกว่าใช้เป็น” รายงาน Microsoft Work Trend Index 2024 สำรวจพนักงานประจำ 31,000 คน จาก 31 ประเทศ พบว่า 75% ของพนักงานออฟฟิศใช้เอไอช่วยทำงานสำคัญ โดย 52% ไม่กล้าบอกกับหัวหน้าตรง ๆ ว่าใช้เอไอ กลัวถูกมองไม่มีศักยภาพ อาจมีผลกับอนาคตงานที่จะโดนปัญญาประดิษฐ์แย่งตำแหน่ง

ทั้งนี้ ก็ยังมีประเภทที่ไม่กล้าเปิดเผย เพราะใช้เอไอของตนเองแทนการใช้เอไอที่บริษัทจัดหาให้ โดยไมโครซอฟท์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “BYOAI (Bring Your Own AI)” 

“ถ้าใครสามารถทำให้งานบางอย่างเป็นอัตโนมัติได้ 90% และบอกนายจ้าง บริษัทจะไล่คนนั้นออกหรือเปล่า? ดังนั้น จึงไม่ควรพูดออกไป” ส่วนหนึ่งจากพนักงานเปิดเผย 

อีธาน มอลลิค ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จากสหรัฐฯ เรียกพฤติกรรมนี้ว่า “ไอทีแอบ ๆ” เนื่องจากพนักงานกลัวว่า หากเปิดเผยว่าใช้เอไอ ผลงานจะไม่ได้รับคำชม อีกทั้ง คนส่วนใหญ่มักไม่อยากให้รู้ว่าใช้เอไอทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือตั้งค่าอะไรให้เป็นอัตโนมัติไปแล้วบ้าง 

ขณะเดียวกัน 55% ของผู้นำองค์กรส่วนใหญ่ กังวลเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถด้านเอไอ เพราะเชื่อว่าเอไอรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ และ อีก 71% ของผู้นำ ยินดีรับพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านเอไอมากกว่าคนที่มีประสบการณ์โชกโชนแต่ไม่มีทักษะด้านเอไอเลย

ในรายงานแนะนำว่า บริษัทควรมีกลยุทธ์ด้านเอไออย่างชัดเจน ควรยกย่องและให้คำชื่นชมแก่ผลงาน ยืนยันว่างานที่ทำนั้นมีคุณค่า ปลูกฝังให้พนักงานมองการใช้เอไอเป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ ยกระดับโปรเจกต์งานให้บรรเจิดมากขึ้น โดยผลสำรวจยังระบุด้วยว่า มีเพียง 39% ของผู้ใช้เอไอที่ได้รับการฝึกอบรมจากบริษัท

“ผมคิดไอเดียใหม่ ๆ เองได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แค่อยากให้เอไอช่วยตบเข้าที่สักหน่อย มันสรุปข้อมูลได้ดีมาก ถือเป็นผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งเลย สำหรับคนที่กลัวเอไอแย่งงาน อยากให้มองเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง เอไอทำงานรวดเร็ว แต่ความชำนาญยังสู้มนุษย์ไม่ได้” ศาสตราจารย์อีธาน ให้คำแนะนำ

อ้างอิง: forbes และ microsoft