ชายติด "ฝีดาษลิง" อยู่ไทยตั้งแต่ปี 64 เผยวีซ่าหมดอายุ พบผู้เสี่ยงสูง 17 ราย

ชายติด "ฝีดาษลิง" อยู่ไทยตั้งแต่ปี 64 เผยวีซ่าหมดอายุ พบผู้เสี่ยงสูง 17 ราย

กรณีพบชายชาวไนจีเรียติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร ซึ่งพบเป็นรายแรกในไทย ล่าสุด (22 ก.ค.2565) ชายติด "ฝีดาษลิง" ยังลอยนวล ตำรวจเผยผู้ป่วยวีซ่าหมดอายุ ตัวเลขเสี่ยงสูง 17 ราย

กรณีพบชายชาวไนจีเรียติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร ซึ่งพบเป็นรายแรกในไทย ขณะที่แพทย์ยืนยัน ผู้ป่วยดังกล่าวเป็นผู้ป่วยนอก ปฏิเสธการรักษาและไม่มาพบแพทย์ตามที่นัดหมาย ขณะนี้ยังตามไม่พบตัว ขณะที่ตำรวจ จ.ภูเก็ต เผยหนุ่มรายนี้วีซ่านักท่องเที่ยวหมดอายุ จึงเป็นกลุ่ม overstay

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- แถลงข่าวชายติด "ฝีดาษลิง" หนีออกจาก รพ. (คลิป)

- ปมชายติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" หนีออก รพ. อนุทิน สั่งเร่งล่าตัว ขู่ใช้กฎหมายสูงสุด

- ตร.-ทีมสืบสวน เร่งตาม "หนุ่มไนจีเรีย" ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" ที่ภูเก็ต หลบหนีลอยนวล

 

ภายหลัง กรมควบคุมโรค ยืนยันพบผู้ป่วยโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานรรายแรกของไทยที่ จ.ภูเก็ต วันนี้ (22 ก.ค.65) ทางจังหวัดภูเก็ตได้แถลงความคืบหน้าโดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายชาวไนจีเรียอายุ 27 ปี

 

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ผู้ป่วยเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เริ่มมีอาการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอาการไข้ เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตามร่างกายและอวัยวะเพศและเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและปฏิเสธการรักษา

 

โดยโรงพยาบาลแห่งที่สองที่ผู้ป่วยไปตรวจ แพทย์สงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร จึงได้ทำการเจาะเลือดส่งเพาะเชื้อ ระหว่างนั้นผู้ป่วยรักษาแบบผู้ป่วยนอก ภายหลังทราบผลตรวจจากห้องปฏิบัติการยืนยันตรงกันทั้ง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลเอกชนประสานผู้ป่วยให้เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่ผู้ป่วยไม่มาตามนัดและหายตัวไป

 

ด้าน พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้วีซ่านักท่องเที่ยวหมดอายุจึงเป็นกลุ่ม overstay หรืออยู่ในราชอาณาจักรไทยเกินกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตัว โดยตรวจเข้มทุกช่องทางเข้าออก ซึ่งหากพบตัวจะได้ส่งเข้ารักษาตามขั้นตอนและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคขณะนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 17 คน ผลตรวจกลุ่มเสี่ยงแรก 7 คน ผลไม่พบเชื้อ ขณะที่อีก 10 คนอยู่ระหว่างรอผลและกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของจังหวัดมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค คัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยได้เร็ว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและคอยหมั่นสังเกตหากพบ ชายต้องสงสัยให้รีบแจ้งสถานพยาบาลหรือสถานีตำรวจโดยเร็ว

 

นอกจากนั้น ให้สังเกตอาการตนเองและคนใกล้ชิด โดยโรคฝีดาษวานรมีลักษณะคล้ายกับโรคสุกใส (อีสุกอีใส) อาการบ่งชี้ที่เด่นชัด คือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะที่รักแร้และขาหนีบโตและมีผื่นตุ่มหนอง

 

ข้อมูลจากทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ระบุว่า สายพันธุ์โรคฝีดาษวานรของผู้ป่วยรายนี้ คือ West Africa เป็นสายพันธุ์ที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Central Africa โดยการติดต่อไม่แพร่เชื้อง่ายเหมือนโรคโควิด-19 นอกจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อ ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตได้ตามปกติและมีความปลอดภัย