เบื้องลึก 'ทักษิณ' ถกลับกลุ่มชาติพันธุ์ อาสาเป็นคนกลางสงบศึก 'เมียนมา'

เบื้องลึก 'ทักษิณ' ถกลับกลุ่มชาติพันธุ์ อาสาเป็นคนกลางสงบศึก 'เมียนมา'

เบื้องลึก 'ทักษิณ' ถกลับกลุ่มชาติพันธุ์ อาสาดับไฟสงครามเมียนมา ฝ่ายต่อต้าน 'มินอ่องหล่าย' กังขาท่าทีให้ลงนามมอบอำนาจเป็นคนกลาง

รายงานข่าวแจ้ง ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ได้หารือกับตัวแทนจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงวันสงกรานต์

ทั้งนี้นายทักษิณ มีความคุ้นกับนายทหาร และอดีตนายทหารเมียนมา อาทิ พล.อ.หม่องเอ และ พล.อ.ตาน ฉ่วย รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย

ด้วยเหตุนี้นายทักษิณจึงอาสาเป็นคนกลาง ระหว่าง SAC กับฝ่ายต่อต้าน ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

โดยถือว่าเป็นการพบปะพูดคุยของนายทักษิณและฝ่ายต่อต้าน แบ่งเป็น 2 รอบคือ ครั้งแรก 13 เม.ย.2567 ทักษิณพบตัวแทนกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ,พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) และองค์การแห่งชาติคะฉิ่น (KNO)  

ครั้งที่ 2 ทักษิณ พบกับ พล.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายองค์กร นอกจากนี้นายทักษิณยังได้พูดคุยกับตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับ ซิน มา อ่อง รมว.ต่างประเทศ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ตัวแทนกลุ่มหนุนอองซาน ซูจี

มีข้อน่าสังเกตทีมงานของนายทักษิณ ทำงานค่อนข้างฉุกละหุก จึงมีการเชื้อเชิญแบบผิดฝาผิดตัว อย่างกลุ่ม KNO ที่เข้าใจว่าเป็นกองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) ซึ่ง KNO เป็นองค์กรการเมืองกลุ่มเล็กๆของชาวคะฉิ่น

กรณีการเชิญ พล.ท.บอ จ่อแฮ รอง ผบ.กองทัพ KNLA ไปประชุมที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นปีกการทหารของ KNU ภายหลัง จึงมีการประสานให้ประธาน KNU ไปพบนายทักษิณที่กรุงเทพฯ
 
แหล่งข่าวในกลุ่มชาติพันธุ์เปิดเผยว่า นายทักษิณอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมา จึงขอเสนอตัวเป็นคนกลาง(Mediator) เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน

"นายทักษิณได้นำเอกสารแบบฟอร์ม มอบอำนาจให้ตัวเองเป็นคนกลางไปให้แต่ละกลุ่มลงนามด้วย" แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตามเรื่องเอกสารมอบอำนาจให้ทักษิณเป็นคนกลาง กลายเป็นหัวข้อการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่ผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

1.กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา ยังไม่ทราบว่า นายทักษิณจะพาพวกเขาไปในทางไหน

2.ฝ่ายต่อต้านไม่มั่นใจว่า นายทักษิณเข้าใจความสลับซับซ้อนของปัญหาการสู้รบในเมียนมามากน้อยแค่ไหน

3.การเชิญตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ดูจะรีบร้อน ไม่ได้ศึกษาว่า ใครเป็นใครในกลุ่มต่อต้าน

4.ฝ่ายต่อต้านทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ และ NUG ไม่ประสงค์จะเจรจากับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ในรูปแบบนี้ ไม่ต้องการเจรจาทีละกลุ่ม พวกเขาต้องการพูดคุยสันติภาพครอบคลุมทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์

5.กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้พบนายทักษิณ มองว่า การแก้ไขปัญหาการสู้รบในเมียนมา จะทำไม่ได้ โดยไม่มีการเข้าร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือคือ ว้า(UWSA) คะฉิ่น(KIA) โกก้าง(MNDAA) อาระกัน(AA) และตะอาง(TNLA) 

“พวกเรามีความวิตกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของท่านทักษิณ เพราะเราไม่อยากจะขัดใจรัฐบาลไทย ที่ทำได้เวลานี้คือ ประวิงเวลา ยังไม่มีกลุ่มใดลงนามในเอกสารที่ท่านทักษิณยื่นให้” แหล่งข่าวในพื้นที่กล่าว